โชว์ความสำเร็จข้อตกลงคุณธรรม ‘รง.ยาสูบ’ จัดซื้อเครื่องจักร ประหยัดเกือบ 3 พันล.
โรงงานยาสูบ เผยความสำเร็จใช้ข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง เครื่องจักรผลิตบุหรี่ ประหยัดงบฯ ได้สูง 2.8 พันล้านบาท ผอ.ยาสูบ ชี้เเยกสัญญา ทำให้เเข่งขันมากขึ้น รัฐได้ประโยชน์ ราคาเป็นธรรม ภายใต้กระบวนการโปร่งใส
“ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั่วโลกใช้ในการป้องกันการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีลักษณะเป็นข้อตกลงลายลักษณ์อักษรให้ลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สังเกตการณ์ ซึ่งถูกนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ในวงเสวนา “ข้อตกลงคุณธรรมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างไร” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ ปาร์ค เมื่อเร็วๆนี้ ได้เปิดเผยข้อมูล ตั้งแต่ปี 2558-59 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนำข้อตกลงคุณธรรมใช้แล้ว 26 โครงการ จาก 24 หน่วยงาน มูลค่า 5.59 หมื่นล้านบาท
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ คือ โครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ วงเงิน 7.5 พันล้านบาท พบว่า จากการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ ทำให้การบริหารจัดการวิธีจัดซื้อมีประสิทธิภาพ ประหยัด 935 ล้านบาท ขณะที่การจัดซื้อด้วยความโปร่งใส ประหยัด 1.89 พันล้านบาท รวมประหยัดทั้งหมด 2.83 พันล้านบาท หรือร้อยละ 37.72
"ดาวน้อย สุทธินภาพันธ์" ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บอกว่า เดิมโครงการจัดซื้อเครื่องจักรผลิตยาสูบมิได้อยู่ในโครงการนำร่องข้อตกลงคุณธรรม เหมือนกับโครงการอื่น ๆ ซึ่งขณะนั้นได้พยายามหาวิธีการจัดซื้อให้ได้ หลังจากกระบวนการล่มมาแล้ว 5 ครั้ง จึงได้ติดต่อไปยังองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเสนอตัวเข้าร่วมในโครงการฯ
โดยโรงงานต้องการเครื่องจักรที่มีคุณภาพ ซึ่ง 6 สัญญาแรก จะเป็นเครื่องจักรหลักในการผลิตยาสูบ ที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศ หรือผลิตไว้สำเร็จรูป จะต้องตกลงกันก่อน จึงผลิตได้ ฉะนั้น เบื้องต้นจึงส่ง คกก.บอร์ดฯ ไปศึกษาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมวน เครื่องคั่วใบยาเส้น เครื่องแพ็ค หรือระบบสายพาน จากโรงงานผลิตยาสูบในจีนและยุโรป เกือบ 10 แห่ง เเละนำกลับมาหารือ
ครั้งแรกยังหาข้อสรุปไม่ชัดเจน ผอ.ยาสูบ ระบุถึงเหตุผล เพราะการจัดซื้อจัดจ้างมิได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเทคนิคอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องเอกสารต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบด้วย จึงเชิญบรรดาตัวแทนในอดีตที่เคยร่วมค้ากับโรงงานยาสูบเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลประกอบการตัดสินใจ ก่อนจะศึกษาอีกครั้งว่า สิ่งใดควรทำเพื่อให้เกิดความสำเร็จขึ้นในการได้มาของเครื่องจักรผลิตยาสูบ
นั่นคือกระบวนการวางแผนของโรงงานยาสูบในขั้นต้น เพราะมองว่า ทุกองค์กรที่เตรียมจัดซื้อเครื่องจักรทุกชนิด ควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน อย่างกรณีนี้ ต้องเข้าใจว่า ผู้สังเกตการณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอาจไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักรผลิตยาสูบมากนัก ดังนั้นจึงต้องช่วยตัวเองก่อน พร้อมกับศึกษาทีโออาร์ 5 ครั้งที่ผ่านมา จึงได้ข้อสรุป จะแบ่งแยกเป็น 6 สัญญา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้จำหน่ายต้องสามารถเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ เข้าหากันได้
ผอ.ดาวน้อย ยังชี้ให้เห็นความสำเร็จของการแยกสัญญาทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น โดยมีผู้เสนอตัวจำหน่ายเครื่องจักรผลิตยาสูบ เกือบทั้งหมดเป็นแบรนด์ยอดนิยม ทำให้รัฐเกิดประโยชน์สูงสุด ได้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม กระบวนการถูกต้อง โปร่งใส ดังนั้น การเข้าร่วมในข้อตกลงคุณธรรมครั้งนี้จึงเป็นการตัดสินใจถูกต้องที่สุด เพราะประหยัดได้ถึง 2.83 พันล้านบาท
ด้าน ธานี พุฒิพันธุ์พฤทธิ์ ผู้แทนผู้สังเกตการณ์ ระบุว่าผู้สังเกตการณ์จะไม่มีส่วนในการตัดสินใจกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ซึ่งต้องมีความเป็นจิตอาสา มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ส่วนใหญ่จะเน้นกลุ่มสภาวิชาชีพ เช่น สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี สภาสถาปนิก และต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญตรงกับโครงการ
อย่างกรณีจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบ นอกจากตัวเองที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรโยธาแล้ว ยังมีอีก 4 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปนิก ด้่านการบริโภค ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และด้านการบริหารงาน เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งค่อนข้างมีความลงตัว แต่กุญแจสำคัญในการทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ คือ ความเป็นทีมเวิร์ก ทั้งนี้ เฉพาะการจัดซื้อเครื่องจักรเซ็นสัญญาเกือบทั้งหมดแล้ว
“ความเป็นทีมเวิร์กของผู้สังเกตการณ์จะทำให้คอร์รัปชันยากขึ้น ดังนั้น การนำระบบข้อตกลงคุณธรรมใช้ ซึ่งคิดว่าเป็นระบบค่อนข้างสอดคล้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเรื่องเหมาะสมที่ควรดำเนินการต่อไปในอนาคต” ผู้แทนผู้สังเกตการณ์ กล่าว
ฝ่ายผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ อย่าง ธาดา เตียประเสริฐ ให้ความเห็นเพิ่มเติมในการเลือกผู้สังเกตการณ์ว่า จะต้องเป็นกลาง มีอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นพอสมควร ที่สำคัญ ต้องมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ ปัจจุบันมีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 100 คน และกำลังจะรับสมัครเพิ่มอีก 100 คน
“การทำให้คนตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้น ต้องใช้หลัก 3 ป. คือ ป้องกัน ปลูกฝัง และเปิดโปง ซึ่งคำว่า ป้องกัน เป็นด่านแรกที่ต้องให้ความสำคัญ และข้อตกลงคุณธรรมก็เป็นเครื่องมือนี้ เพราะหากปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นต่อไป จะมีความเสียหายตามมา” เขา ระบุ
เห็นความสำเร็จของโครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแล้ว ทำให้เชื่อว่า ข้อตกลงคุณธรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการคอร์รัชันได้ทีเดียว .
อ่านประกอบ:สำเร็จเป็นรายแรก ลงนามจัดซื้อเครื่องจักรรง.ยาสูบ 1 ในโครงการข้อตกลงคุณธรรม