- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- การสร้างสำนึกร่วมของชุมชน
- เปิด 20 โครงการรัฐใช้ข้อตกลงคุณธรรม ป้องทุจริต
เปิด 20 โครงการรัฐใช้ข้อตกลงคุณธรรม ป้องทุจริต
20 โครงการข้อตกลงคุณธรรมมูลค่ากว่า 4.3 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังมีโครงการมากสุด 7 โครงการ ตั้งแต่เริ่มงานมีผู้สังเกตการณ์จัดซื้อเมล์เอ็นจีวีลาออกแล้ว 2 ราย
หลังจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เสนอให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาบังคับใช้เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ใน 2 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อีกทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการกำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการนำระบบข้อตกลงคุณธรรม ไปใช้ในการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานกับรัฐว่าจะไม่กระทำการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและร่วมกันทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีบุคคลภายนอกร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ล่าสุดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เปิดรายชื่อ 20 โครงการที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีทั้งโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐ
20 โครงการที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม มีการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งสิ้น 4.3 หมื่นล้านบาท แยกตามกระทรวงดังนี้
โครงการของกระทรวงกลาโหม 2 โครงการ จำนวนเงิน 3.3 พันล้านบาท
1.โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลทหารอากาศเฉลิมพระเกียรติ (สีกัน) 950 ล้านบาท
2.โครงการบริหารจัดการไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน (เฉพาะในส่วนงานก่อสร้างอาคารหอประชุม ทบ. และอาคาร สก.ทบ.) 2.4 พันล้านบาท
โครงการของกระทรวงมหาดไทย 2 โครงการ 3.3 พันล้านบาท
1.การดำเนินการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินโครงการนนทรี 3.2 พันล้านบาท
2.จัดซื้อลวดเหล็กกล้า สำหรับงานคอนกรีตอัดแรงตามประกวดราคาที่ PEA-003/2015 ประมาณ 105 ล้านบาท
โครงการของกรุงเทพมหานคร 1 โครงการ โครงการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนประมาณ 3พันล้านบาท
โครงการของกระทรวงการคลังทั้งหมด 7 โครงการ มูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 489 คัน 1.7 พันล้านบาท
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ส่วนต่อขยาย) ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 หมื่นล้านบาท
3.โครงการจัดซื้อเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ 7.1 พันล้านบาท
4.โครงการเปลี่ยนผ่านการส่งโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล ระยะที่2 1 พันล้านบาท
5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมทางศุลกากรด้วยระบบเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า สัมภาระและหีบห่อสินค้าของผู้เดินทางรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) 1.3 พันล้านบาท
6.โครงการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย และรองรับการให้บริการประชาชน 184 ล้านบาท
7.โครงการบริหารจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายสำหรับข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 20 ล้านบาท
โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1โครงการ คือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำชลหารพิจิตร จังหวัดสมุทรปราการของกรมชลประทาน 890 ล้านบาท
โครงการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ค่าก่อสร้างอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 500 ล้านบาท
โครงการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 โครงการ คือพัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง 200 ล้านบาท
โครงการของกระทรวงศึกษาธิการ 1 โครงการ โครงการจ้างก่อสร้างโครงการศูนย์ครูใต้จังหวัดยะลา 142 ล้านบาท
โครงการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ้างซ่อมใหญ่อากาศยาน จำนวน 9 รายการ มูลค่า 68 ล้านบาท
โครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 20 ล้านบาท
โครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการตำบลเข้มแข็ง ไร้ความรุนแรง 4.4 ล้านบาท
สำหรับโครงการภาครัฐที่ร่วมข้อตกลงคุณธรรมที่ใช้งบประมาณมากสุด คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ส่วนต่อขยาย)ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ของกระทรวงการคลัง ที่ใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องในการใช้ข้อตกลงคุณธรรม
ส่วนโครงการร่วมข้อตกลงคุณธรรมที่มีงบประมาณน้อยที่สุด คือโครงการตำบลเข้มแข็ง ไร้ความรุนแรง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4.4 ล้านบาท
จะเห็นว่า ในแต่ละโครงการภาครัฐจะมีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 3-5 คน ขณะที่โครงการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานครมีผู้สังเกตการณ์มากที่สุดคือ 6 คน
ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ มาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) อาทิ นายธาดา เศวตศิลา นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง นายสุภรณ์ธรรม มงคลสวัสดิ์ นอกจากนี้ก็ยังมีจากภาควิชาการ เช่น ดร.เขมทัต สุคนธสิงห์ อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้จาก20 โครงการ โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ของขสมก. มีผู้สังเกตการณ์ลาออกไป 2 ท่าน คือ ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล และนายอรุณ ลีธนาโชค เนื่องจากพบปัญหาด้านเอกสารในการประมูล