ก.คลัง ชง ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฯ เข้า ครม. สัปดาห์หน้า
ก.คลังเผยสร้างระบบประมูลงานรัฐโปร่งใส ช่วยรัฐประหยัดงบฯ สูง 5 หมื่นล้านบาท เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เข้า ครม.เห็นชอบ สัปดาห์หน้า ระบุปลูกจิตสำนึกคนไทยเเอนตี้คอร์รัปชั่นไม่ได้ เลิกหวังหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เหตุระบบยังมีรอยรั่ว ยกฮ่องกงโมเดลสำเร็จตัวอย่าง
วันที่ 2 มิถุนายน 2559 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ข้อตกลงคุณธรม (Integrity Pact) ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม เซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาคอร์รัปชัน มักมุ่งเน้นไปที่ภาครัฐ คือ การจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากในแต่ละปี ภาครัฐมีงบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีการปล่อยให้เกิดการรั่วไหล ฉะนั้นต้องมีมาตรการเพื่ออุดรอยรั่ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยรัฐประหยัดได้ถึงร้อยละ 10 หรือราว 5 หมื่นล้านบาท และสามารถนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นอีกได้ โดยใช้มาตรการต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ ข้อตกลงคุณธรรม ที่จะมีการบรรจุเข้าอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย
โดยคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขแล้ว ก่อนจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป หากผ่านจะทำให้มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสขึ้น ไม่สามารถหลบเลี่ยงการทุจริตได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายหนึ่งมองว่า จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสขึ้น ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะยุ่งยาก และหลักเกณฑ์ไม่เพียงพอจะป้องกันได้
“นอกเหนือจากข้อตกลงคุณธรรมแล้ว รัฐบาลยังผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอื่นอีก โดยให้ใช้ e-bidding ในการประมูลงาน” รมว.คลัง กล่าว และว่า จากการดำเนินงานมา 3-4 เดือน พบว่า ได้ผลน่ายินดี สามารถประหยัดงบประมาณได้ร้อยละ 15 หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า อนาคตยังจะให้กรมศุลกากรจัดทำบัญชีเดียว เนื่องจากพบว่ามีการคอร์รัปชันสูง มีการรายงานจำนวนสินค้านำเข้าไม่ตรงกับบัญชี ประกอบกับเปลี่ยนแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี ฉะนั้นจะมีการตรวจสอบเข้มงวดขึ้น โดยให้คำนวณจากน้ำหนักตู้ขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคเอกชนรายงานตัวเลขการเลี่ยงภาษีค่อนข้างมาก จึงต้องเร่งจัดการ มิฉะนั้นภาคเอกชนที่ทำถูกต้องจะเสียเปรียบทางธุรกิจ โดยคาดว่า หากแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษี จะทำให้มีเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นราว 1 แสนล้านบาท
“ภาคเอกชนต้องร่วมกันรณรงค์ไม่ให้มีการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องเซ็นสัญญาร่วมกันจะไม่สนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่สมัครใจ แม้บางครั้งการทำธุรกิจ หากไม่เติมน้ำมัน ก็ไม่เดิน ฉะนั้นจึงต้องมีน้ำมัน แต่ต้องพยายามทำต่อไป เเละสิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้น คือ การปลูกจิตสำนึกคนไทย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำ พร้อมยกตัวอย่าง ฮ่องกง เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว สอนตั้งแต่เด็ก จึงหวังว่าจะเกิดขึ้นในไทย และหากทำไม่ได้ จะไม่มีทางที่จะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูง เพราะระบบต่าง ๆ ยังรั่วอยู่" รมว.คลัง ระบุ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ AEC NEWS