ก.คลังไม่เปิดผลสอบ ขรก.คดีโกงภาษี 4.3 พันล. หลัง'อิศรา' ยื่นขอ 4 เดือน
รองปลัด ก.คลัง ส่งหนังสือ'อิศรา'ไม่เปิดผลสอบ ขรก. ทุจริตคดีคืนภาษี ฯ 4.3 พันล. อ้างส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา ก.พ.ค. - ทำให้การบังคับใช้ กม.เสื่อมสภาพ ตาม ม.15 (2) พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ หลังยื่นขอเกือบ 4 เดือน
สืบเนื่องจาก เมื่อ 16 ก.พ. 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ยื่นหนังสือขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ขอให้กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูลรายงานผลการสอบสวน กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดในเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4 พันล้านบาทของกรมสรรพากร รวมถึง ผลการดำเนินการลงโทษทางวินัย ทางละเมิด และทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 3 รายการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนปลัด ฯ ส่งหนังสือ ที่ กค 0205.4/ล1305 เรื่อง แจ้งผลการร้องขอข้อมูลของราชการ ถึง ผู้ร้องขอ (สำนักข่าวฯได้รับหนังสือเมื่อ 31 พ.ค.59) โดย ระบุสาระสำคัญว่า
คณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสารของราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค. และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพากร ซึ่งพิจารณาดำเนินการยังไม่เสร็จสิ้น การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษทางวินัยกับผู้กระทำผิดเสื่อมสภาพ และไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ตามมาตรา 15 (2) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือของกระทรวงงการคลังระบุว่า เอกสารจำนวน 3 รายการที่ร้องขอ มีมูลกรณีสืบเนื่องจาก กระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลได้ร่วมกันกระทำการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ซึ่งผลการสอบสวนปรากฏว่า มีข้าราชการกรมสรรพากร จำนวน 18 ราย มีการกระทำอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ประกอบด้วยข้าราชการ จำนวน 4 ราย อยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาดำเนินการทางวินัย ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการ 4 รายดังกล่าว และผลสอบสวนปรากฏว่าข้าราชการ 3 ราย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการส่วนข้าราชการอีก 1 ราย เห็นควรให้ออกจากราชการด้วยเหตุมีมลทินหรือมัวหมองในกรณที่ถูกสอบสวน
ซึ่งต่อมา กระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการทั้ง 3 รายดังกล่าวออกจากราชการ และมีคำสั่งให้ข้าราชการอีก 1 ราย ออกจากราชการด้วยเหตุมีมลทินหรือมัวหมอง ในกรณีที่ถูกสอบสวนตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ซึ่งข้าราชการทั้ง 4 รายดังกล่าว ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และขณะนี้ เรื่องอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทั้ง 4 ราย อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค.
ส่วนข้าราขการอีก 14 ราย ซึ่งถูกกล่าวว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และอยู่ในอำนาจของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการทางวินัย กระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการ และขณะนี้ กรณีข้าราชการทั้ง 14 รายดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกรมสรรพากร ซึ่งยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น จึงมีมติไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ จำนวน 2 รายการตามที่ร้องขอ ส่วนรายงานผลสอบสวนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ไม่ปรากฎว่าอยู่ในความครอบครองของกระทรวงการคลัง
หนังสือระบุอีกว่า ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 15 (2) ที่กระทรวงการคลังยกมาอ้างนั้น อยู่ในหมวด 2 เป็นข้อยกเว้น กรณี ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า"การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4 พันล้านบาท เริ่มขึ้นเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2556 โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลังเป็นประธาน ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลในเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลดังกล่าว
ขณะที่ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพการ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและคดีอาญากระทำความผิดคดีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของกรรมสรรพากร 4 พันล้านบาท เมื่อ 27 ต.ค. 2558 (พร้อมนายศุภกิจ ริยะการ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22) ได้ถูกกระทรวงการคลังออกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2559 และเมื่อ 26 ก.พ. 2559 นายศุภกิจ ริยะการ (หรือ สิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ) สรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 22 (ผู้อำนวยการสูง ซี 9) ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 31.7 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อ 2 มี.ค. 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลยึดทรัพย์ นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 จำนวนเกือบ 600 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
รองปลัดฯคลัง แจงให้รอ คกก.ข้อมูลข่าวสารฯ กรณีอิศราขอผลสอบ ขรก.คดีภาษี 4 พันล.
‘อิศรา’ ใช้สิทธิ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ให้ปลัด ก.คลัง เปิดผลสอบคดีคืนภาษี 4 พันล.