คำสั่งหัวหน้าคสช.ยกเลิกห้ามบุคคลเดินทางออกราชอาณาจักร ใครได้ประโยชน์ ?
ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร แม้อาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ต่อรัฐบาลที่คล้ายผ่อนคลายความเข้มงวดลง แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงไม่กี่ราย และอาจมีการจำกัดสิทธิที่เพิ่มมากขึ้นจากถ้อยคำตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้
พลันที่ความเห็นของนานาประเทศจากการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไก Universal Periodic Review ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จบลง เสียงเรียกร้องของประเทศต่างๆ ที่มีคำถามถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การบังคับบุคลสูญหาย การจำกัดเสรีภาพบุคคลในการแสดงออก และอีกหลายประเด็นทำให้ภายหลังห้วงเวลาดังกล่าวคสช.หรือรัฐบาลพยายามแสดงท่าทีในการผ่อนปรนในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น รวมถึงล่าสุดในการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 25/2559 เรื่อง ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.59 และมีผลบังคับใช้ในวันนี้(1 มิ.ย.59)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 25/2559 เรื่อง ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร แม้อาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ต่อรัฐบาลที่คล้ายผ่อนคลายความเข้มงวดลง แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงไม่กี่ราย และอาจมีการจำกัดสิทธิที่เพิ่มมากขึ้นจากถ้อยคำตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ กล่าวคือ
1. กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งหัวหน้าคสช.โดยตรง
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 25/2559 ให้ยกเลิกประกาศคสช.ฉบับที่ 21/2557 ซึ่งประกาศดังกล่าวนั้นกำหนดให้บุคคลที่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 1/2557 ฉบับที่ 2/2557 และฉบับที่ 3/2557 ซึ่งมีทั้งหมด 155 รายชื่อ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นถูกเรียกมารายงานตัวก่อนมีการประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 25 พ.ค.57 กลุ่มดังกล่าวจึงยังไม่มีการลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศซึ่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกตว่าบุคคลที่ถูกเรียกมารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ภายหลังวันที่ 25 พ.ค.57 ซึ่งมีอย่างน้อย 300 รายชื่อตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของคสช.นั้นไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากคำสั่งหัวหน้าคสช.แห่งชาติฉบับนี้ เพราะกลุ่มดังกล่าวนั้นต้องลงนามในเงื่อนไขการปล่อยตัวท้ายประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 อีกทั้ง ภายใน 155 รายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักการเมืองนั้น มีบุคคลบางรายซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกประกาศคสช.ฉบับที่ 21/57 เพราะยังคงมีคดีความ หรือบางรายอาจถูกเรียกรายงานตัวหลายครั้ง อาทิเช่นนายพิชัย นริพทพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายวัฒนา เมืองสุข เป็นต้น
2. กลุ่มที่ดูเหมือนจะได้รับประโยชน์ แต่ไม่ได้ประโยชน์
นอกจากบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 1-3/2557 จำนวน 155 คน แล้ว ในข้อ 3. ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าวยังระบุให้ บุคคลใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 40/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 41/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 หากจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อน ซึ่งหมายความว่าบุคคลที่ไม่ได้ฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งดังกล่าวสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคสช.
อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลที่ไม่เคยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งดังกล่าว แต่ได้เคยลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศหรือคำสั่ง ซึ่งกำหนดห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้ขออนุมัติต่อหัวหน้าคสช.ก่อน ในทางปฏิบัติ การกำหนดเช่นนี้เท่ากับไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ สำหรับผู้ลงชื่อในเงื่อนไขตามประกาศและคำสั่งคสช.เลย กล่าวคือยังต้องขออนุมัติต่อหัวหน้าคสช.อยู่เช่นเดิม
3. กลุ่มที่นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว อาจเสียประโยชน์
นอกจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 25/2559 นี้ จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเงื่อนไขตามประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 40/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 41/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แล้ว การกำหนดว่า “บุคคลใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังต่อไปนี้ หากจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อน” ยังให้ความหมายที่อาจตีความได้กว้างถึงบุคคลที่ไม่ได้ลงนามตามท้ายประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนั้น แต่ได้ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ได้ด้วย อาทิเช่น กรณีมีผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ไม่ได้ลงนามในเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ก็อาจถูกตีความว่าต้องขออนุมัติก่อน ทั้งที่ไม่เคยอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวมาก่อนก็ได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเห็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 25/2559 นี้ เป็นการพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่า คสช.มีการผ่อนปรนในด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วแทบจะไม่มีผลแตกต่างใดๆ จากก่อนมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ได้ประโยชน์อย่างจำกัด และบุคคลส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศตามประกาศและคำสั่งฉบับอื่น อีกทั้งประชาชนยังมีความเสี่ยงจากการบังคับใช้ “กฎหมาย” อย่างกว้างขวางของคสช. เนื่องจากจากการใช้ถ้อยคำในคำสั่งที่มีความหมายอย่างกว้างขวางอีกด้วย