นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงสังคมสูงวัยไทยเผชิญความเสี่ยงทั้งการเงิน-คุณภาพชีวิต
นักเศรษฐศาสตร์ กังวลสังคมสูงวัยไทย เผชิญความท้าทายทั้งเรื่องเงิน คุณภาพชีวิต ขณะที่วัยแรงงานลด กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ แนะขยายช่วงเกษียณ กระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าให้ภาคผลิต
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย จัดเวทีเสวนาสาธาระ “สังคมสูงวัย:ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่มีวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขณะที่ผู้สุงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เป็นความท้าทายต่ออนาคตการพัฒนาประเทศ และเป็นข้อจำกัดของการเจริญเติบโตทางเศษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว หากไม่มีการเตรียมการที่เหมาะสม ในวาระที่ไทยกำลังเดินเข้าสู่ยุคของผู้สูงอายุ รัฐบาลมีความพยายามในการสนับสนุนในเรื่องความมั่นคงทางการเงินของครอบครัว เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในยามชราภาพ ตลอดจนระบบสนับสนุนการดูเเลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้การลดลงของประชากรวัยทำงาน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มผลผลิต การสร้างรายได้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ประเทศมีความพร้อมและสามารถเดินหน้าต่อไปในสภาวะสังคมสูงวัย
ด้านดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงมิติผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของผู้สุงอายุ และโจทย์ระยะยาวที่ต้องเชื่อมโยงไปถึงประชากรรุ่นถัดไป โดยเฉพาะ GEN Y ซึ่งมีประมาณ 16.45 ล้านคน หรือราว 39% ของวัยแรงงาน หากต้องการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทรายได้ระดับสูงที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงสร้างการผลิตของประเทศจะต้องเปลี่ยนจากการใช้แรงงานจำนวนมาก ไปสู่เศรษฐกิจการสร้างมูลค่าที่เน้นนวัตกรรม การขับเคลื่อนเทคโนโลยี และภาคบริการ ควบคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนมุมมองของผู้สูงอายุและสังคมจากภาระให้เป็นพลังที่สามารถพึ่งพิงตนเองและเกื้อหนุนสังคม
ดร.ปรเมธี กล่าวถึงข้อกังวลของการเป็นสังคมสูงอายุ คือ รายได้จากการทำงาน การถ่ายโอนทรัพย์สินในช่วงหนุ่มสาว เงินโอนจากภาครัฐและภาคเอกชน หรือครอบครัว รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการออมจึงจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นปัจจุบันมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น นับเป็นแนวโน้มที่ดีที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจการออมมากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โจทย์ท้าทายแรกในสังคมสูงวัยคือ การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งความมั่นคงทางการเงิน การดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพ และสภาพสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต ประการต่อมาคือ สังคมไทยต้องสร้างความกระปรี้กระเปร่าของเศรษฐกิจในยุคสังคมสูงวัย เพราะทุนมนุษย์เป็นกลจักรสำคัญของการขังเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ประชากรวัยแรงงานที่ลดลงส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและคุณภาพของกำลังแรงงาน
ศ.ดร.วรเวศน์ กล่าวด้วยว่า ความกังวลว่าเเรงงานที่หายไปไม่ได้มาจากการลดลงของวัยแรงงานที่ลดลง แต่รวมไปถึงการออกจากงานก่อนวัยอันควร และวัยแรงงานที่ทำงานไปพร้อมกับการดูเเลลูกและบุพการีสูงวัย สิ่งท้าทายจากนี้คือ การเงินการคลังเพื่องสังคมสูงวัยที่เน้นการมีส่วนร่วมจ่าย ยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน
ด้านรศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาขยายอายุเกษียณการทำงาน เพื่อเลื่อนผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงออกไปได้ประมาณ 10 ปี แต่มาตรการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แรงงานที่จ้างตนเองต้องเรียนรู้ทักษะการบริหารองค์กรและการบริหารการเงิน แรงงานที่เป็นลูกจ้างควรมีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสมกับงาน เพื่อช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของประเทศเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้การที่มีวัยแรงงานลดลง ไทยจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ หากไม่สามารถทำได้ ไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางตลอดไป
ด้านผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงวัย ควรใช้ระบที่มีความยืดหยุ่นตามลักษณะงานและประเภทกิจการ ซึ่งควรศึกษาเพื่อจัดวางระบบให้มีความครอบคลุมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางและมีความลึกซึ้งในรายงานประเภทงาน เพื่อการปรับเปลี่ยนลักษระงาน และการจัดการแรงงานที่เหมาะสม สร้างประโยชน์สุงสุดแก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวด้วยว่า ในระยะแรกรัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานสูงวัยด้วยความสมัครใจก่อน โดยใช้มาตรการสนับสนุนทางภาษีหรือทางการเงิน และอาจใช้มาตรการเชิงบังคับในระยะที่สอง
อย่างไรก้ตามมาตรการที่จัดทำขึ้นต้องตั้งอยู่บนแนวคิดของศักยภาพและศักดิ์ศรีของแรงงานสูงอายุที่ยังคงสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างทัศนคติใหม่ของสังคมเกี่ยวกับแรงงานสูงวัย.