ศาล รธน.วินิจฉัย ม.9 พ.ร.บ.ฮั้วฯขัด รธน.ชั่วคราวฯ-ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดชอบ
ศาล รธน.วินิจฉัยชัด! ม.9 พ.ร.บ.ฮั้วฯ ให้ผู้บริหารบริษัทเอกชนร่วมรับผิดชอบด้วย ขัด ม.4 รธน.ชั่วคราวปี’57 ซ้ำรอยคำวินิจฉัยเมื่อปี'55 ชี้ ม.54 พ.ร.บ.ขายตรงฯ ขัด รธน.ปี’50
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 9 ขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนั้นจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4
ล่าสุด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวดังกล่าว ระบุว่า เรื่องนี้ศาลฎีกาได้ส่งคำร้องของจำเลย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือไม่
คำร้องนี้ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ของศาลอาญา ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริหารของนิติบุคคล ได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 ที่ศาลอาญาจะใช้บังคับแก่คดี เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยที่เป็นผู้แทนนิติบุคคล เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลย ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้นมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา อันขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 และมาตรา 5 และศาลอาญาได้ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 45 ประกอบมาตรา 5 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 9 นั้น เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลและต้องรับโทษทางอาญาด้วย อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ซึ่งเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฏหมายดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 5 อีกต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ฮั้ว ระบุว่า ในกรณีที่การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลใด ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น
ส่วนมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในทำนองนี้ออกมาแล้ว โดยมีมติเสียงข้างมากว่า พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 39 วรรคสอง
โดย มาตรา 54 พ.ร.บ.ขายตรงฯ ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
ขณะที่มาตรา 39 วรรคสอง รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งมี 9 ราย ได้วินิจฉัยมีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเสียงข้างมาก 5 เสียง เห็นว่า มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ให้สันนิษฐานว่าให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนิติบุคคลขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง เห็นว่า มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ามีความผูกพันกับทุกองค์กร ซึ่งผูกพันกับกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกับมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ เช่น มาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 หรือมาตรา 135 แห่ง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 ดังนั้นกฎหมายฉบับใดที่มีบทบัญญัติคล้ายคลึงดังกล่าว ก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก bloggang.com