"ทนายมุสลิม"ปูดคดีมั่นคงใต้ยกฟ้อง70% แถมซ้อมเพียบ "บิ๊กตำรวจ"เปิดข้อมูลอีกด้านแจงยิบ
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง "ข้อมูลสถิติคดีและประมวลผลคดีความมั่นคงชายแดนใต้" ตามโครงการตรวจสอบคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาข้อมูลคดีความมั่นคงที่ผ่านการพิพากษาของศาลชั้นต้นระหว่างปี 2553 ถึงต้นปี 2554 จำนวน 100 คดี พบว่ามีถึง 72 คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ มีเพียง 28 คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ
กฎหมายพิเศษตัวปัญหา "ซ้อม-ข่มขู่"เพียบ
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วพยานหลักฐานที่ศาลไม่รับฟังแต่ปรากฏมากในสำนวนฟ้องของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องของการอาศัยคำรับสารภาพที่ได้มาจากชั้นการซักถามภายใต้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึกหรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากการได้มาซึ่งคำสารภาพหรือหลักฐานลักษณะนี้อยู่นอกเหนือวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาคดี นั่นคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)
ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ในการปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยและเป็นผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แม้ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่จะให้ความเคารพในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา แต่กลับพบว่ามีการข่มขู่ทำร้ายทั้งทางร่างกายและวาจา การใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพและขู่เข็ญตั้งแต่ในขั้นตอนการจับกุม การกักหรือคุมตัว ไปจนถึงการซักถามหรือสอบสวน ไม่ว่าตามกฎหมายพิเศษหรือภายใต้กฎหมายธรรมดาก็ตาม
ข้อมูลระบุชัดว่า ในการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการซักถาม เช่น ในการเชิญตัวภายใต้อำนาจที่เจ้าหน้าที่ได้รับตามกฎอัยการศึก จำนวน 100 คดี มีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย 33 คดี มีการใช้วาจาที่ไม่สุภาพด้วย 35 คดี ถูกข่มขู่ 25 คดี ในการจับกุมภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกทำร้ายและใช้ถ้อยคำไม่สุภาพด้วยในจำนวนพอๆ กัน คือกรณีละ 16 คดี ถูกขู่เข็ญ 12 คดี ในการจับกุมในชั้นของการใช้ ป.วิอาญา ก็ปรากฏว่ามีบุคคลถูกทำร้ายร่างกายถึง 23 คดี มีการใช้วาจาไม่สุภาพ 12 คดีและถูกขู่เข็ญ 13 คดี
เมื่อตรวจสอบพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้นในชั้นการถูกกักตัวและซักถามหรือสอบปากคำ พบว่าสถิติการทำร้ายและขู่เข็ญมีสูงที่สุดในกระบวนการภายใต้กฎอัยการศึก รองลงมาคือการดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
จนท.เมินแจ้งหลักประกันสิทธิตามกฎหมาย
ผลการศึกษายังพบอีกว่า ระยะเวลาของการถูกดำเนินคดี แม้จากสถิติระบุว่าการพิจารณาคดีส่วนใหญ่ใน 100 คดีนั้น ใช้เวลาอยู่ในระดับที่ถือได้ว่าไม่นานเกินไป กล่าวคือมี 59 คดีที่ใช้เวลา 1-2 ปี ส่วนที่ใช้เวลาเกิน 3 ปีมีเพียง 3 คดี แต่เมื่อพิจารณารวมไปถึงข้อเท็จจริงจากสถิติอีกบางอย่าง เช่น ในบรรดาคดีทั้งหมดนั้นมีการผัดฟ้องนาน 7 ครั้ง (เต็มเวลาตามที่ ป.วิอาญาให้อำนาจ) รวมแล้วถึง 82 คดี และในจำนวนนี้เป็นคดีที่ในภายหลังศาลยกฟ้องถึง 59 คดี ทั้งยังมีการเลื่อนพิจารณาคดีอีกรวม 73 คดี
นอกจากนี้ ในระหว่างการถูกกักตัวและดำเนินคดี มีผู้ต้องหาจำนวนไม่มากที่ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว
ผลการศึกษายังบ่งชี้ถึงลักษณะอีกบางประการที่น่ากังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่แสดงออกถึงการประกันสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาโดยทั่วไปหลายประการ เช่น การไม่แจ้งข้อกล่าวหา, การจับกุมหรือตรวจค้นเคหะสถานโดยปราศจากหมายจับ, การไม่อำนวยให้ผู้ต้องหามีทนายหรือญาติเข้าร่วมรับฟังการซักถามหรือสอบปากคำ, ไม่มีการตรวจร่างกายก่อนเข้ารับการซักถามหรือสอบปากคำ ทั้งหมดนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้มีการละเมิดต่อผู้ต้องหาเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลให้เกิดข้อครหาต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
อนึ่ง โครงการศึกษาดังกล่าวนี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับการสนับสนุนจาก American Bar Association Rule of Law Initiative (ABA) หรือเนติบัณฑิตยสภาแห่งอเมริกา ใช้เวลาประมาณปีครึ่งในการดำเนินการศึกษา กล่าวคือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2553 จนถึงปลายปี 2554 โดยคัดสรรและศึกษาข้อมูลจากสำนวนคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 100 คดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้วในช่วงปี 2553 ถึงต้นปี 2554 อันเป็นช่วงเวลาที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมรับผิดชอบคดีอยู่ประมาณ 600 คดี
เปิดข้อมูลตำรวจ-คดีความมั่นคงศาลลงโทษ 54%
กระนั้นก็ตาม ยังมีข้อมูลอีกด้านจากการตรวจสอบของ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" เกี่ยวกับสถิติคดีความมั่นคงที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีคดีความมั่นคงที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วจำนวน 262 คดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ 143 คดี คิดเป็นร้อยละ 54.58 และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42
สำหรับคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 143 คดีนั้น มีจำเลย 243 คน เป็นการลงโทษประหารชีวิต 21 คดี จำเลย 21 คน จำคุกตลอดชีวิต 40 คดี จำเลย 56 คน และจำคุกไม่เกิน 50 ปี จำนวน 85 คดี จำเลย 169 คน
ผบช.ศชต.แจงสารพัดปัจจัยศาลยกฟ้อง-ปัดทำสำนวนอ่อน
พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการ ศชต. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การพิจารณาสถิติการดำเนินคดีความมั่นคงว่าสามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้น ต้องดูว่าคดีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว และพนักงานอัยการมีคำสั่งเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนจำนวนเท่าไหร่ เพราะเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล ต้องมีการสืบพยานใหม่ หลายคดีพยานกลับคำให้การ หลายคดีพยานไม่ยอมไปศาล และอีกจำนวนมากที่พยานหลบหนี เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้คดียกฟ้องทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว
"ตัวเลขที่เรานำมาพิจารณาคือถ้าตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้อง แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง อย่างนี้แสดงว่าการทำสำนวนอาจมีปัญหา ซึ่งผมได้ให้นโยบายไปว่า การทำสำนวนต้องไม่คลุมเครือ และห้ามทำความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนโดยไม่พิจารณาตามพยานหลักฐานที่เป็นจริง" ผบช.ศชต.ระบุ
ยันไม่มีซ้อมทรมาน-อ้างองค์กรสิทธิตรวจถี่ยิบ
ส่วนข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานผู้ต้องหา พล.ต.ท.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศชต.มี "ศูนย์พิทักษ์สันติ" ทำหน้าที่เป็นศูนย์ซักถามกลางกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งตั้งแต่เปิดศูนย์นี้มาเป็นเวลาหลายปี ไม่พบปัญหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานเลย
"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลมาพบผมบ่อยๆ และได้เข้าไปตรวจการดำเนินงานของศูนย์พิทักษ์สันติเป็นระยะ องค์กรเหล่านี้รายงานตรงกันว่าปัญหาร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานลดลงมากจนถึงไม่มีเลย ซึ่งทางตำรวจยินดีให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมาตรวจสอบ มาบ่อยๆ ยิ่งดี ปีละ 2 ครั้งก็ได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน" ผบช.ศชต.ระบุ
ทหารแจงหมาย พ.ร.ก.ลดฮวบ-สั่งปิดศูนย์ซักถาม
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงปัญหาการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้งว่า จริงๆ แล้วการออกหมาย ฉฉ (หมายจับผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในระยะหลังมีน้อยมาก และลดลงตามลำดับ จะออกเฉพาะกรณีสำคัญจริงๆ โดยฝ่ายความมั่นคงออกหมายรวมตั้งแต่ปี 2548 (ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเมื่อ ก.ค.2548) จนถึงปัจจุบัน 3,434 หมาย จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 3,380 ราย ปีที่มีการออกหมาย ฉฉ.มากที่สุดคือปี 2551 จำนวน 857 หมาย หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2553 ออกหมายไปเพียง 343 หมาย และปี 2554 จนถึงวันที่ 16 ธ.ค. ออกหมายไปแล้ว 199 หมาย
"สำหรับข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน เราได้พยายามแก้ปัญหา และได้มีคำสั่งไปยังกำลังพลทุกนายห้ามไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี หากกำลังพลคนใดฝ่าฝืน จะถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมาทางฝ่ายทหารมีศูนย์ซักถามคือ ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แต่เมื่อมีการร้องเรียนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไม่ค่อยสบายใจ ปัจจุบันแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้สั่งการให้ปิดศูนย์ไปแล้ว" แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
2 พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ