หมอประกิต ยัน สสส. คือนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพไทย
หมอประกิต ยัน สสส. คือนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพไทย ทำในสิ่งที่รัฐไม่ทำ ด้าน ดร.เดชรัต ย้ำ ไม่ใช่เรื่องไม่คุ้มทุน แต่รัฐยังทำงานแบบช่องแมวลอด นักประชาสังคมชี้ ปฏิรูปประชาชนต้องได้ประโยชน์เท่ากัน แนะคสช.อยู่เฉยๆ หากไม่เข้าใจหลักการ
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ที่ ห้องประชุมจุมกฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก สถาบันสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสุขภาพ จัดอภิปรายประเด็น “นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพไทยในยุคปฏิรูป”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรอบคิดและหลักการในการสร้างนวัตกกรรมทางสุขภาพของไทย โดยเฉพาะเรื่องกองทุน สสส. ว่า ตอนที่ตั้ง สสส. พยายามบอกว่า นี่คือ
1.) เรื่องระบบเงินแบบใหม่ เพราะระบบเงินอย่างนี้ ไม่เคยมีในประเทศไทย ของบประมาณไม่เคยได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องยาสูบ สุรา
2.)เป็นการทำงานใหม่ เพราะงานลักษณะอย่างนี้ ก็ยังไม่เคยทำในประเทศไทย ทำแต่ pilot โปรเจ็ค เล็กๆ
3.) เป็นวิธีทำงานในแนวราบทำกับภาคส่วนต่างๆ ระบบราชการที่ทำงานแบบนี้ไม่มี เป็นการทำงานที่เอาภาคส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพมาร่วมคิดเรื่องสุขภาพ
ศ.นพ.ประกิต ยกตัวอย่างเช่น การไปทำเรื่องยาสูบในโรงเรียน ใครจะดูเรื่องสถานศึกษาได้ดี เท่ากับกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องนโยบาย ใครจะดูสถานที่ทำงานได้ดี ก็ต้องกระทรวงแรงงาน ดังนั้น สสส. ก็ไปร่วมทำงานกับองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรเพื่อสุขภาพเหล่านั้น เพื่อให้สามารถทำงานด้านสุขภาพได้ ทั้งรัฐและเอกชน อันนี้เป็นคีย์เวิร์ด
"ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้คือ หมอ หรือคนในกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงอีกหลายๆ คนไม่เข้าใจวิธีการทำงานของ สสส."
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อด้วยว่า เราต้องยกเครดิตให้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ที่เริ่มนโยบายการเงินการคลังเพื่อสังคมและสาธารณสุข เราก็เสนอว่าเราคิดว่าเรื่องสุขภาพควรมี 2 เรื่อง คือ เรื่องประกันสุขภาพ กับเรื่องส่งเสริมสุขภาพ เหตุผลที่คือ การทำข้อแรกเราต้องใช้เงินมาก
"ตอนนี้เราก็ว่า สปสช. ต้องใช้เงินมาก เพราะฉะนั้นต้องมีอะไรสักอย่างที่จะไปลด การที่จะมีนป่วยเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้ององค์อิสระเพื่อส่งเสริมสุขภาพ งบตอนนั้นขอไป 700ล้านบาท เพราะงบกระทรวงสาธารณสุขมี 7 หมื่นล้านบาท อันนี้เป็นข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกว่า หากคุณใช้เงิน 100 บาทในการรักษาโรค คุณน่าจะให้เงินสักหนึ่งบาท ในการสร้างเสริมสุขภาวะ ในการป้องกันโรค ถ้าคุณเอาเงินหนึ่งบาทใส่ในหนึ่งร้อยบาท มันจะไม่ได้คุณค่าเพิ่ม"
ส่วนเรื่องงบประมาณ 2 พันล้านบาทของสสส.นั้น ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า สมัยที่เราก่อตั้งและของบประมาณไป ได้อิงตัวเลขจาก กองเอดส์ ที่มีงบ2พันล้านบาท เราก็บอกรัฐบาลเรื่องเอดส์เรื่องเดียวรัฐมีงบสองพันล้านบาท แต่ สสส.มีทุกเรื่อง ดังนั้นเราขอเท่ากัน
"ตอนนั้นกระทรงวการคลังก็ตกลงให้สามารถตั้งองค์อิสระได้ แต่ไม่ให้เงินภาษียาสูบ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทสไทย ต่อมาในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีคุณูปการอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ภาษีบุหรี่ แต่ได้เพิ่มภาษีสุราเข้ามาด้วย เพราะว่า สุราเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนั้น
จากนั้นก็เสนอกองทุนเป็น 2 พันล้านบาท เหตุเพราะค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งประเทศอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้น 2 พันล้านบาทก็จะเท่ากับ 1% เหมือนในการสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงการคลัง ถามเหตุผลว่าจะคุ้มค่าอย่างไรในงบประมาณข้างต้น ซึ่งตอนนั้น TDRI ได้วิจัยไว้ว่า อุบัติเหตุจราจรทำความสูญเสีย 9 หมื่นล้านบาท ยาสูบมีค่ารักษาพยาบาลราว 4-5 หมื่นล้านบาท สุรา 2 แสนล้านบาท ถ้าเราตั้ง สสส.มาแล้วสามารถลดปัญหาสามอย่างนี้เพียง 10% เราจะประหยัดเงินขึ้นมา 2หมื่นล้านบาท เป็น 10 เท่าของเงินที่เราขอ"
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า งบประมาณของสสส. คือการทำงานที่งบที่เหลือทำไม่ได้ หรือทำได้ยาก เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี นั่นคือเหตุที่ว่าทำไมถึงต้องมี สสส.อยู่
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากการที่รัฐมองว่าไม่คุ้ม สสส.ทำงาน ไม่คุ้มคงไม่ใช่สักทีเดียว แต่เป็นวิธีคิดในการทำงานแบบเดิมๆ เพราะหากดูเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของบ้านเรา งบประมาณที่เป็นงบ สสส.มีเพียง 7.3 % ของทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณ 39% องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมี 23.2% สปสช. 22.8% และอื่นๆ 13% ดังนั้นสสส.เป็นส่วนย่อยนิดเดียว แต่อาจทำงานดีเกินไป มีผลกระทบมากไปเลยโดนเล่นงาน เอางบ 7.3% นี้ไปละลายให้กับส่วนอื่น
ดร.เดชรัต กล่าวถึงความพยายามเล่นงานสสส.จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน เพราะเงินสสส.นิดเดียว เพราะฉะนั้นไม่ใช่เงินไม่พอ เลยต้องตัดงบสสส. อันนี้เป็นประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญมาก ถ้าเรามองอย่างเป็นธรรม คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในเรื่องส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น แต่อาจจะยังขาดความเข้าใจ อย่างเช่น ล่าสุดที่เอายาฆ่าหญ้าไปฉีดใส่ผักตบชวา เป็นต้น ควรจะไปคุยกับกลุ่มเหล่านี้มากกว่าหรือไม่ ในการทำงานให้ดีขึ้น
"หลายคนพยายามบอกให้ส สสส.ทำงานโชว์หน่อย ว่าทำงานแล้วคุ้มค่าหรือไม่ แต่เราไม่เคยรู้ว่า งบของกระทรวงนั้นทำงานคุ้มค่าหรือไม่ มีการชี้วัดตัวเลขให้ดูหรือเปล่า" ดร.เดชรัต กล่าว และว่า ไม่อยากให้รัฐบาลมองว่า สสส.มีงบประมาณจำนวนมาก แต่อยากให้รัฐมาร่วมทำงานกันจะดีกว่า
พร้อมกันนี้ ดร.เดชรัต กล่าวถึงปัญหาสำคัญคือ รัฐยังทำงานแบบเดิม แบบช่องแมวลอด แม้ว่าประตูบานใหญ่จะเปิดแล้ว แต่เรายังอยากทำงานกันอยู่แค่ช่องแมวลอดเท่านั้น สิ่งที่เกิดคือไม่ใช่เงินไม่พอ หรือเงินมากไป แต่เป็นปัญหาที่ว่า เขายังคุ้นเคยกับการทำงานด้วยวิธีแบบเดิม เขาไม่อาจจะทนได้ว่า งบ 7.3% จะไปทำแบบใหม่อย่างไร
“ สิ่งที่เราต้องการคือการร่วมขับเคลื่อนไม่ใช่ ผลักให้เดินในแบบเดิม ระบบสุขภาพแบบใหม่ เรายืนอยู่บนฐานความจริง หรือเรายืนอยู่บนฐานความเชื่อ สสส. จึงเป็นเหมือนการจุดประกาย สานพลังเข้ามาและกระตุ้นให้องค์ต่างๆ นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ แต่วันนี้แนวคิดการปฏิรูปของ คสช.กลับไม่ได้มองภาพรวม มองปัญหาแบบแยกส่วน” ดร.เดชรัตกล่าว
ด้านนายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า สสส. คือ การทำงานเรื่องเล็กน้อยๆ ที่ภาครัฐไม่ดำเนินการ และถ้าทำอย่างถูกช่องจะนำความเปลี่ยนเเปลงให้เกิดขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างงานที่ สสส. กล้าที่จะให้ทุนและดำเนินการ ท่ามกลางความไม่พอใจของเหล่าผู้เสียประโยชน์จากการทำงานตรงนี้
การมีส่วนร่วมของประชาชน กลไกแบบ สสส. นายวิทูรย์ กล่าวว่า เป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง การปฏิรูปที่เห็นมีสองเรื่องใหญ่ คือ1.)การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้บริหารราชการ การดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศ 2.) การขยายบทบาทขององค์กรพิเศษที่เป็นอิสระ คล่องตัว โดยใช้ผู้เชี่ยชาญในด้านต่างๆ เข้ามาทำงาน
“ ถ้าเมื่อไรก็ตามการปฏิรูปเข้าไปทำลาย สองเรื่องนั้นไม่ใช่การปฏิรูป” นายวิทูรย์ กล่าว และว่า แน่นอนอาจมีบ้างที่ทำงานไม่ดี ก็ต้องว่าไปตามกรณี แต่ประเด็นคือว่าการประเมินเหล่านี้ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ใช้หลักวิชาการ และไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง และผู้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
นายวิทูรย์ กล่าวด้วยว่า จากการทำงานกับ สสส. มีทั้งข้อดีและข้อที่ต้องปรับปรุง สสส.ปัจจุบันเป็นตัวแบบของการปฏิรูปที่สำคัญ สสส.จำเป็นต้องขยายผู้คนให้มีส่วนร่วมในการทำงาน และการกระจายออกไปสู่ หัวเมืองพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น
“ เพราะหัวใจใหญ่ของการปฏิรูประบบสุขภาพนั้น คนเล็กคนน้อยจะได้ประโยชน์จากงานของเราเป็นสำคัญ” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว
ด้าน นายสมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ถ้าท้าวความกลับไปก่อนที่ประเทศจะมีหลักประกันสุขภาพ เรื่องสุขภาพของคน เป็นเรื่องซื้อมาขายไป ถ้าเราป่วยเราไปซื้อบริการสุขภาพ ถ้าไม่มีเงินซื้อก็เจ็บปวดต่อไป พอปี 2545 เกิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพขึ้น ก็ชัดเจนว่า 1.)ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน 2.) กองทุนอย่างประกันสังคมหรือกองทุนอื่นๆ มีงบเฉพาะรักษาอย่างเดียว แต่กองทุนสปสช.มีกองทุนในการสร้างส่งสุขภาพเอาไว้ด้วย เป็นภารกิจ 3.)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพของไทยอย่างมาก
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การมี สสส. การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยจึงคู่ขนานที่ช่วยเสริมกันไป
“ ผมคิดว่าตั้งแต่มีการก่อตั้ง สสส.คือนวัตกรรมที่ดีมาก และเวลาที่รัฐบาลออกไปในเวทีโลกแล้วไม่มีอะไรขายนอกจากขายหน้านั้น ก็หยิบเรื่องนี้ไปพูด ว่าประเทศได้ทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ ทำเรื่องให้ครัวเรือนไม่ล้มลลายจากการเป็นโรคจากการรักษาพยาบาล ในขณะที่เป็นประเทศฐานะปานกลาง เราได้รับชื่นชมในเวทีโลก” นายสมชาย กล่าว และว่า กระทั่งมาถึงยุคที่ สปสช.ถูกตั้งคำถามคล้ายๆ กับสสส. ว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินมาก แต่ไม่ได้ดูว่างบดังกล่าวไปเจือจุนอะไรบ้าง ประเด็นต่อมา เรื่องเงินที่ใช้ไม่ถูกตามวัตถุประสงค์ใน พ.ร.บ.เท่าไรนัก พอถูกตั้งคำถามแบบนี้ ก็เริ่มมีความสั่นคลอน เริ่มตั้งกรรมการตรวจสอบ จนนำไปสู่การพยายามแก้ พ.ร.บ.ใหม่ที่ยังไม่เสร็จจนปัจจุบัน
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าห่วงคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ที่จะมีการลงประชามติกันใน 7 สิงหาคมนี้ เพราะในรัฐธรรมนูญปี2550 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิ์เข้ารักษาเสมอกัน และผู้ยากไร้มีสิทธิ์รักษาโดยไม่เสียค่าบริการ ท่อนสอง บุคคลย่อมมีสิทธิ์ในการรับการบริการสาธารณสุขจากรัฐ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ แต่ร่างฉบับมีชัย เขียนไว้แค่ว่า ผู้ยากไร้มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล หมายถึงว่า รัฐธรรมนูญของประเทศเรา ปัจจุบันจะถอยหลังกลับไป
“ ดังนั้นขอเสนอว่า ถ้ารัฐบาลจะมีการปฏิรูปทั้ง สสส. และ สปสช. คืออย่าไปทำ เลิกยุ่ง ถ้าไม่ทราบเจตนารมณ์ของการมีหน่วยงานเหล่านี้” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย