ครม.สั่งแก้ปัญหาละเมิดเสรีภาพ! กสม. ขอให้ทบทวน กม.พิเศษหลังรัฐประหาร
กสม. ขอ ครม.-คสช. ทบทวนกฏหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายหลังพบข้อร้องเรียนหลังรัฐประหาร ใช้ประกาศ คสช. เรียกตัวคนเข้าค่ายทหาร-ห้ามชุมนุมโดยสงบถือว่าละเมิดเสรีภาพ ส่อถูกซ้อมทรมาน ยันศาลทหารไม่ควรพิจารณาคดีพลเรือน ‘บิ๊กตู่’ มอบหมาย กห.-ยธ.-สมช.-สตช. พิจารณาผ่อนปรน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ในช่วงปี 2558
โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากที่ กสม. (ชุดที่ 2 มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานฯ) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวประมาณ 25 คำร้อง ซึ่งข้อร้องเรียนที่กล่าวอ้างนั้น เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร รวมถึงประกาศ คสช. อีกหลายฉบับ ที่มีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้หน่วยงานเกี่ยวข้องชี้แจง และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว
โดย กสม. สรุปข้อเสนอแนะทำนองว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกในยามสงครามหรือจลาจลรองรับอำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนส่วนหนึ่งยอมรับการยึดอำนาจการปกครองของ คสช. และทำให้สถานการณ์รุนแรงในช่วงปลาย ต.ค. 2556-พ.ค. 2557 ยุติลง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงยังพอที่จะรับฟังได้
แต่ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ตลอดจนจัดตั้งรัฐบาลแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏภาวะฉุกเฉินซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการบังคับใช้กฎอัยการศึก หรือกฏหมายอื่นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นมาตรการเกินกว่าความจำเป็น
ส่วนการเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. ย่อมไม่เหมาะสม บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมตามอำเภอใจมิได้ เว้นแต่มีหมายศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามกฎหมายบัญญัติ และการควบคุมตัวโดยไม่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้รับทราบความเป็นอยู่หรือสถานที่คุมตัว ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของครอบครัว
รวมถึงการจับกุมผู้ต้องหาคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น แต่มีข้อสังเกตว่า พฤติการณ์คุมตัวเป็นระยะ 7 วัน ตามกฎอัยการศึก โดยไม่เปิดเผยสถานที่และไม่ให้บุคคลใดเข้าพบ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน ส่วนการดำเนินคดีกับบุคคลโดยขึ้นศาลทหารนั้น โดยหลักการแล้วศาลทหารไม่ควรมีเขตอำนาจในการดำเนินคดีกับพลเรือน
นอกจากนี้การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุม แม้ว่าจะถูกจำกัดได้เฉพาะบางเงื่อนไข เช่น เพื่อประโยชน์ความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยหรือสงบเรียบร้อย แต่ไม่ควรปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ไมว่าจะเป็นการจัดงานวิชาการภายในมหาวิทยาลัย การชุมนุมโดยสงบของนักศึกษา หรือการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการดูแลความสงบเรียบร้อย หรือกฎหมายอื่นใดด้วย
โดย กสม. ขอให้ คสช. และรัฐบาล ทบทวนประกาศ คสช .หรือกฏหมายอื่นที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ สตช. เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม และส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนหน้านี้รัฐบาล จะเรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงภายในประเทศ และผ่อนปรนให้นักการเมืองสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อ คสช. อีก แต่บุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จะต้องยื่นเรื่องต่อศาลตามกฎหมายเช่นเดิม