‘วิษณุ’ ชี้ ม.77 ร่าง รธน.มีชัย เป็นของดี กำหนดให้วิเคราะห์ข้อดี-เสีย ออก กม. ทุกขั้นตอน
'ดร.วิษณุ' เผยมาตรา 77 ร่าง รธน.ฉบับมีชัย เป็น 'ของดี' กำหนดให้วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ในการออกกฎหมาย ทุกขั้นตอน พร้อมเปิดเผยผลต่อ ปชช. เพื่อให้เกิดการยอมรับ เป็นประโยชน์ คืบหน้ามอบหมาย 6 หน่วยงาน สร้างรูปเเบบ RIA เป็นมาตรฐาน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี คปก. เรื่อง การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis:RIA) กับการปฏิรูปกฎหมาย ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายรัฐกับการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย ตอนหนึ่งระบุถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ไม่สำคัญว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะสามารถร่างฉบับใหม่ขึ้นได้ ซึ่งหากเราตรวจสอบเนื้อหาในร่าง รธน. จะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ สารพัด บางเรื่องอ่านแล้วชอบ บางเรื่องอ่านแล้วไม่ชอบ ดังนั้น การลงประชามติจึงต้องอาศัยการชั่งน้ำหนัก วิเคราห์ผลกระทบ ตามทัศนะของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการ กรณีร่าง รธน.ผ่าน จะใช้เวลาอีก 1-2 เดือน เพื่อเตรียมการในทางพิธีการ และปรับแก้ไขบางประการ ต่อจากนั้นจะประกาศใช้ ซึ่งบทบัญญัติใด ๆ ที่ไม่ใช่บทเฉพาะกาล ต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที ถ้าเราไม่พร้อมหรือสร้างความเข้าใจไม่เพียงพอ จะปฏิบัติผิด รธน.ได้ จึงต้องเร่งทำตั้งแต่วันนี้ในระหว่างที่ยังมีเวลา
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ร่าง รธน. ฉบับที่จะมีการลงประชามตินั้น มาตราสำคัญและเป็นหัวใจ คือ มาตรา 77 กำหนดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของการออกกฎหมาย เพื่อบอกถึงข้อดีข้อเสียแต่ละฉบับ และจะถูกบังคับใช้ทันทีเมื่อมีการประกาศใช้ รธน. กรณีไม่ปฏิบัติถือว่าขัด รธน. แม้บางคนแอบนึกว่า อย่างไรก็ไม่ผ่านการลงประชามติ กระทรวงต่าง ๆ จะได้ไม่เดือดร้อน แม้ไม่ผ่านจริงแต่มาตรานี้ยังอยู่ในฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่อีก เพราะเป็นของดี
“การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย เป็นกลไกสำคัญของการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้มีความทันสมัย เกิดการยอมรับ และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว และว่า เนื่องจากหลายฉบับที่ใช้กันอยู่ เชย ล้าสมัย หรือไม่เข้ากับยุคโลกาภิวัฒน์ และบริบทสังคมปัจจุบันที่กำลังตื่นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีนิยม หลักนิติธรรม
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วแม้ไม่มีมาตรา 77 มีการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายมาก่อนแล้ว แต่การวิเคราะห์นั้นยังไม่หลากหลาย รัดกุม หรือชัดเจนมากพอ ที่สำคัญ ไม่มีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์ให้รับรู้ ดังนั้น เนื้อหาในมาตรานี้จะบังคับให้ทำการวิเคราะห์ทุกขั้นตอน ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา เพราะเพื่อให้ทราบข้อมูลครบถ้วน และเปิดเผยผลการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนได้โต้เถียงคัดค้านในสิ่งที่ไม่มีความรอบด้าน ชัดเจน
สิ่งที่น่ากังวล สำหรับมาตรา 77 คือ ต้องวิเคราห์ว่า กฎหมายที่ว่านั้นหมายถึงอะไร หากหมายถึงพระราชบัญญัติ พอทำเนา ไม่หนักเท่าไหร่ แต่หากเป็นพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง ที่ออกกันง่าย ต้องมีการวิเคราะห์ด้วย เพราะคือกฎหมาย ซึ่งจะเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของส่วนราชการ ฉะนั้นต้องวิเคราะห์กันทั้งหมด ตามหลักวิธีการ รูปแบบ
โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา คปก. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประชุมร่วมกันเพื่อสร้างรูปแบบการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายให้เป็นมาตรฐาน
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติม แม้ มาตรา 77 ยังไม่บังคับใช้ แต่ปัจจุบันมีมติ ครม. วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 กำหนดให้กฎหมายทุกฉบับที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต้องจัดทำมาตรการตรวจสอบความจำเป็นในการออกกฎหมาย (Checklist 10 ข้อ) เสนอต่อ ครม. ซึ่งขณะนี้ส่งคืนแล้วราว 20 ฉบับ เพราะไม่มีการจัดทำ Checklist ตามที่กำหนด
ทั้งนั้ ยังระบุถึงประเด็นกฎหมาย 1 ใน 3 ที่ยังแน่นิ่งอยู่ แม้จะออกมาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายเขียนว่า การจะขออนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉะนั้นหากไม่มีกฎกระทรวง จะขออนุญาตทำอะไรก็ไม่ได้ กรณีนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องทำกฎหมายลูกออกมาให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุง กฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชน เข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผล สัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตาม ขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง .