ประเมิน ศก. 2 ปีหลังรัฐประหาร กับภารกิจปฏิรูปปีที่ 3
ประเมิน ศก. 2 ปีหลังรัฐประหาร กับภารกิจปฏิรูปปีที่ 3อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินผลงาน 2 ปีเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร: อนาคตและความหวัง และภารกิจในการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจในปีที่สาม ว่า เศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2557 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและมีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down Bangkok
ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังการรัฐประหาร 2549 วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยตลอด ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนประมาณ 700 กว่าวันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้น
"ในช่วงเวลา 8 ปี มีรัฐบาลมากถึง 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี 9 ท่าน สะท้อนความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนและทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างมาก" นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว เเละว่า ปัญหาสะสมดังกล่าวได้บ่อนเซาะให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องและล่าสุดอัตราการขยายตัวทางส่งออกเดือนเมษายนก็ติดลบสูงถึง 8%
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ สำหรับรัฐประหาร 2557 ครบรอบ 2 ปีแล้วคงต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไรหรือไม่ หรือ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม
รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย การออกแบบรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองมีคุณภาพ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง
รัฐบาลที่มีคุณภาพดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าผลงานของ คสช มีประสิทธิผลอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ สังคมเกิดสันติธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและก้าวพ้นกับดักทศวรรษแห่งความถดถอยและขัดแย้งไปได้
คาด ศก.ไทย ปี 59 โตสูงสุด 3.5%
นักวิชการ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จากภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการบริโภคที่กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก หากเราไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาที่มีการคาดหวังเอาไว้
คสช. และ รัฐบาล ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจบางเรื่อง มีการทวงคืนผืนป่าและพื้นที่สาธารณะให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน การประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างด้วย e-biding ที่เพิ่มความโปร่งใสในโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การบังคับใช้กฎหมายและการทำให้เกิดนิติรัฐจะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ การประกอบการ การลงทุน ในประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่น
ภาคการลงทุน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการติดลบ -7.3% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% ในปี พ.ศ. 2558 โดยเติบโตสูงสุดในไตรมาสสี่ที่ 41.2% และ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 12-13% ในปี พ.ศ. 2559
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากสามารถกลับคืนสู่การเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย โดยในปี พ.ศ. 2557 การลงทุนภาคเอกชนติดลบ -1% ในปี พ.ศ. 2558 ติดลบ -2% และ พ.ศ. 2559 คาดว่าจะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 2.1%
ภาคการบริโภคหลัง 2 ปีของการรัฐประหารโดย คสช ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รายได้เกษตรกรลดลง ประชาชนส่วนใหญ่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก การบริโภคเติบโตในระดับ 0.6% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่ากระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับ 2.3%
เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวติดลบ -6.5% ในปี พ.ศ. 2557 มาเป็น เติบโตเป็นบวก 20% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2559 อาจแตะระดับ 33 ล้านคน (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.4%) ทำรายได้ 1.685 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.6%)
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ส่วนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งมูลค่าและผลผลิต โดยอัตราการขยายการผลิตภาคเกษตรขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ ในปี พ.ศ. 2557 หดตัวร้อยละ -3.8 ในปี พ.ศ. 2558 และยังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับร้อยละ -1.5
"ภาวะดังกล่าวเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งและราคาพืชผลที่ตกต่ำ ราคาและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาดซึ่งเกษตรกรเคยได้รับจากการรับจำนำและการประกันราคาในอดีตมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะมากขึ้นตามลำดับ รายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้นช่วงหนึ่งได้จากการแทรกแซงราคาได้ทรุดตัวลงหลังจากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีข้อจำกัดฐานะทางการคลังมากขึ้น มีความเสียหายจากการรั่วไหลทุจริต" นักวิชาการ กล่าว
ชง 9 ข้อ ภารกิจ คสช. ปีที่ 3
ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง ภารกิจของ คสช ควรทำในช่วงต่อไป ว่า
ข้อแรก ต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
ข้อสอง ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย
ข้อสาม ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องต่างๆและวางรากฐานและส่งมอบภารกิจเพื่อการปฏิรูปให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป
ข้อสี่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบราง การบริหารจัดการน้ำ และอื่นๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ข้อห้า ดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 6 แสนกว่าล้านบาทให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเข้าถึงประชาชน
ข้อหก ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีและดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป (มีโอกาสอ่อนตัวมากกว่าปรกติในช่วงปลายปี) ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งค่าขึ้นจากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ข้อเจ็ด ฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรายย่อย โดยควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน
ข้อเเปด เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยงการกำกับควบคุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ข้อเก้า รื้อฟื้นทบทวนคดีค่าโง่ทั้งหลายที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากจากการทุจริตคอร์รัปชันและสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีมีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ รัฐบาล และ คสช ควรพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ สัมปทานต่างๆในปัจจุบันและอนาคตไม่เกิดปัญหาค่าโง่ขึ้นมาอีกเช่นที่ผ่านๆมา ไม่ว่า จะเป็นโครงการค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่รถดับเพลิง กทม ค่าโง่โฮมเวลล์ เป็นต้น
"2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช ก่อนการเลือกตั้ง (1 ปีกว่าๆที่เหลืออยู่) เพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 10 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง"
หนุน รบ.ดันภาษีที่ดิน ลดเหลื่อมล้ำ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวให้ความเห็นอีกว่า สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น
การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก นโยบายการการปรับโครงสร้างประชากรและเพิ่มประชากรในวัยทำงานควรดำเนินการอย่างเหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงิน
การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน โดย สนช และรัฐบาล คสช จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในการนำไปพัฒนาประเทศ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยปรับเปลี่ยนอัตราและเพดานเริ่มจัดเก็บให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบชนชั้นกลาง
ภาษีทรัพย์สินทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดินจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า
"กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ"
นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง พร้อมกันนี้ควรลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น
นักวิชาการ ม.รังสิต ได้กล่าวอ้างงานวิจัยสำคัญต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าโดยเฉพาะมิติทางด้านความเป็นธรรมและการกระจายรายได้ เช่น Barro (1996), Glasure, Lee and Norris (1999), Plumper and Martin (2003), Doucouliagos and Ulubasoglu (2008), Rodrik and Wacziarg (2005) เป็นต้น แสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับประชาธิปไตย การใช้กฎอัยการศึกษาและการจำกัดเสรีภาพ (การปกครองแบบรวมอำนาจ) กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ พบข้อสรุปจากงานวิจัยสำคัญๆ สอดคล้องกันว่า “ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยทำให้เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัวเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูง ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง เสถียรภาพของสังคมสูงกว่า ความแตกแยกต่ำกว่า สถาบันต่างๆมีความเข้มแข็งและธนาคารกลางมีความเป็นอิสระมากกว่า การเป็นประชาธิปไตยมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านสี่ช่องทางคือ ทุนกายภาพดีกว่า ทุนมนุษย์สูงกว่า ทุนทางสังคมและการเมืองมากกว่าระบอบอำนาจนิยม (Persson and Tabellini 2006) นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยยังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม (Rodrik 2007)
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถพลักดันนโยบายสาธารณะดีๆที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้หากต้องเสียคะแนนนิยม ขณะที่ปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งและการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวอ่อนด้อยลงทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นจึงต้องปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองให้สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถสู่ระบบการเมือง ทำให้พรรคการเมืองพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน ให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดลงด้วยรัฐประหารเป็นระยะๆ ย่อมทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีคุณภาพในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน และไม่ทำให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งเดิมจึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและยึดถือหลักการประชาธิปไตย หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะไม่มีผลบวกหรือผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในปีนี้
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่จะต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีเนื้อหาหลายประการไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยฉบับนี้จะนำมาสู่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่
หากมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่จากประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภา การให้อำนาจตุลาการและอำนาจองค์กรอิสระโดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เนื่องจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นบวกเหมือนเมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535
คสช รัฐบาล และ ทุกภาคส่วนในสังคม มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้น เศรษฐกิจปีที่สามของ คสช จึงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสังคมสงบสันติ .