นานาทัศนะ:การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่ดิจิตอลไทยแลนด์
“ประเทศไทยขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหลายๆ ประเทศมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้เช่นกัน เพราะทุกประเทศต่างมองว่า การเข้าสู่โลกดิจิตอลจะไม่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ"
งานสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในงานวันแรก มีการเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ดิจิตอลไทยแลนด์” ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงประเทศไทยขณะนี้ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล โดยระบุว่า เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายๆ ประเทศมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ด้วยมองว่า การเข้าสู่โลกดิจิตอลจะไม่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ปัจจุบันรัฐบาลมียุทธศาสตร์และแผนงานชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเข้าสู่โลกดิจิตอล ซึ่งการจัดงานดิจิตอลไทยแลนด์ ถือเป็นการจุดประกายและสร้างความตระหนักว่าประเทศไทยจริงจังและเอาจริงต่อเรื่องนี้แล้ว และต้องการให้ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม
“การร่วมกันขับเคลื่อนดิจิตอล สิ่งสำคัญต้องคำนึงในเชิงบริบทของโลกดิจิตอลว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบให้บริบทของวีถีชีวิตคนและประเทศไทยเปลี่ยนไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของประชาชน อย่างเช่นเรื่องของซอร์ฟแวร์ ไทยเรามีบุคลากรที่มีความสามารถในเรื่องซอร์ฟแวร์หลายด้าน รัฐบาลและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันและผลักดันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิตอล
โครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบด้วยพื้นฐาน 3 อย่าง ดังนี้ 1.พลังงาน เป็นตัวแทนของคำว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ (Product) และ ผลิตภาพ (Productivity) 2. การสื่อสาร (Communication) เป็นตัวแทนของ คำว่าการเชื่อมโยงตลาด และ 3. โลจิสติกส์ (logistic) การถ่ายเทของหรือสินค้าไปเติมเต็มผู้ที่ต้องการ
ส่วนคำว่า Digital Economy คือ การสื่อสาร ได้ขยายผลเป็น Digital Connectivity หรือที่เรียกกันว่า การเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการผลิตสินค้าในอนาคตที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสินค้าจับต้องได้เท่านั้น แต่ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคสินค้าที่ไม่มีตัวตนหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะสินค้าหรือการบริการต่างๆ จะมีลักษณะเป็นข้อมูลดิจิตอล (Digital product) แทน และในส่วนของโลจิสติกส์ หรือการขนส่งสินค้าจากอดีตที่ใช้ยานพาหนะต่างๆ ในการขนส่ง แต่ถ้าเป็นโลกดิจิตอลแล้ว ก็ไม่จำเป็น
" Digital Economy ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคและเข้าถึงอุตสาหกรรมทุกประเภท"
นายศุภชัย ระบุ พร้อมกับเชื่อว่า แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมในยุคดิจิตอล ถ้าภาคอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิตอลก็เท่ากับการตัดความเชื่อมโยงออกไปจากตลาด การเชื่อมโยงในทุกวันนี้ได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะมีเทคโนโลยีการส่งข้อมูลความเร็วสูงที่ใช้งานกับอินเทอร์เน็ตถึงบ้าน เรามี 4G เป็นเทคโนโลยีการส่งข้อมูลความเร็วสูงไร้สายถึงตัวทุกคน การเชื่อมโยงนี้ยังเข้าถึงกระบวนการผลิตและกระบวนการทางธุรกิจด้วย
พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร บมจ. ทรู ระบุว่า มนุษย์ในปัจจุบันมี Smart Life เรียกบ้านว่า Smart Home เรียกเมืองว่า Smart City ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่ง ในธุรกิจที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่จะถูกทดแทนด้วยดิจิตอลเซอร์วิสที่มีความสะดวกสบายกว่า มีการบริการที่ดีกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า ในขณะที่ธุรกิจ SMEs จะมีซอร์ฟแวร์ออกมาให้เลือกใช้เหมาะสมกับตลาดของตนเอง ส่วนธุรกิจเกิดใหม่ที่เรียกว่า start up จะใช้เพียงแค่ไอเดียของผู้ประกอบธุรกิจในการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือการบริการ
"ทั้งหมดนี้คือขอบเขตของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นโอกาสมหาศาลที่ทำให้เราก้าวกระโดดทันโลก Digital Economy ” นายศุภชัย กล่าวถึงภาพอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย มองถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่โลกดิจิตอลต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาคเอกชนควรจะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล
“การร่วมมือของภาครัฐและเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ภาคเอกชนในวันนี้พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับรัฐบาล ที่ผ่านมาประตูที่เคยปิดกั้นเป็นเรื่องของทัศนคติที่รัฐบาลกับเอกชนต้องก้าวข้ามไปให้ได้และมีความไว้วางใจต่อกัน ใช้สติในการแก้ไขข้อผิดพลาด และควรกำจัดมาตรา 44 ให้ออกไปจากกระบวนการทำงาน ถือเป็นสปิริตในการทำงานร่วมกันในยุคดิจิตอล ทางภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมควรได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับรัฐบาล และทางภาครัฐต้องยอมรับความคิดเห็นจากสิ่งที่เอกชนนำเสนอมา ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ ควรมาจากภาคเอกชน เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มาก่อน ประเด็นสำคัญเมื่อทำงานร่วมกันแล้วต้องกำจัดกระบวนการทำงานแบบโบราณออกไปจากระบบการคิดในโลกยุคดิจิตอล”
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มองว่า การเข้าสู่ดิจิตอลในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวที่ยากที่สุด โดยมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ 1.การปรับข้อกฎหมายให้แก้ได้ 2.การปรับตัวอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมยุคเทคโนโลยีที่มีแต่ความสะดวก ความสบาย ความง่าย อีกสองสิ่งที่สังคมต้องสร้างขึ้นมาควบคู่กันคือการสร้างคุณธรรมและการเปิดใจยอมรับในเรื่องความคิด,ความเชื่อและความรู้ที่แตกต่างกัน ถ้าสังคมขาดคุณธรรมและและมีแต่ความขัดแย้งกันต่อให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขนาดไหนก็ไม่ช่วยอะไรและไม่เกิดความยั่งยืน
“มนุษย์ไม่สามารถสอนให้เครื่องจักรรักสันติได้ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่รักสันติเป็น ในการก้าวเข้าสู่ดิจิตอลไทยแลนด์ คนในสังคมต้องเข้มแข็ง รู้เท่าทันสื่อและต้องมีอารยธรรมในการอยู่ร่วมกัน”
ปิดท้ายด้วยนายมณเทียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มองว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลในประเทศไทยจะออกแบบเพื่อมวลชน(Universal Design) เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานสากลและมีความเป็นธรรมกับทุกคน
การออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) รูปแบบของการบริการทั้งหมดจะต้องไม่ออกแบบสำหรับคนปกติอย่างเดียว แต่ต้องเอื้อให้คนพิการเข้าถึงได้ ดังนั้น ทุกการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล ควรคำนึงว่าผู้พิการแต่ละประเภทสามารถเข้าถึงได้อย่างไร และมีรูปแบบอย่างไรได้บ้าง เช่น ถ้าเป็นกลุ่มผู้พิการทางหู ก็ควรมีการบริการล่ามทางไกล กลุ่มผู้พิการกลุ่มตาต้องมีการบริการด้านเอกสาร เป็นต้น
ส่วนรูปแบบการบริการที่มีการพัฒนา นายมณเทียร เห็นว่า ต้องทำให้ผู้พิการแต่ละกลุ่มมีช่องทางในการเข้าถึงการบริการนั้นได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ไม่ควรมองที่กลุ่มคนปกติก่อน เพราะคิดว่าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และละเลยคนอีกกลุ่มหนึ่งไป ควรจะทำให้ควบคู่กัน ถึงแม้เทคโนโลยีจะไปไม่ถึง แต่การออกแบบในอนาคตต้องเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้าถึงได้ด้วย
“วิธีเรียนทางลัดให้เร็วที่สุดประเทศไทยต้องเข้าร่วมกับกระแสโลก ซึ่งกระแสโลกกำลังจัดระเบียบสังคมดิจิตอลให้มีความเป็นสากลและเป็นธรรม จับต้องได้ ขณะนี้องค์กรต่างๆ ด้านดิจิตอลทั่วโลกกำลังสร้างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เชื่อว่า มีความเป็นสากลที่มาจากการตกลงร่วมกันและเป็นมาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คนทั้งโลกร่วมกันกำหนด จากที่ไทยไม่มีมาตรฐาน เพราะไม่เข้าร่วมในชุมชนที่กำหนดมาตรฐานสิ่งเหล่านี้ เมื่อต่างชาติกำหนดมาแล้ว ประเทศไทยก็นำสิ่งที่เขากำหนดมาประยุกต์ปรับเปลี่ยน นำมาปรับใช้ ซึ่งหน่วยงานทุกส่วนต้องยอมเสียเงิน โดยเข้าไปเป็นสมาชิกเพื่อร่วมกับต่างชาติกำหนดมาตรฐานการดังกล่าวตั้งแต่ต้นเพื่อลดความเสียเวลา ลดความซ้ำซ้อน ลดความยุ่งยากในการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้กับสังคมไทย รวมไปถึงการคำนึงถึงความแตกต่าง หลากหลายของคนในสังคม เพื่อประโยชน์และการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน “