ถอดบทเรียน ‘ล้มบอล’ ช่วงชิงผลพนัน ก่อนยูโร 2016
นายกฯ ห่วงศึกลูกหนังยูโร 2016 เยาวชนไทยเสี่ยงทายผลพนัน สั่งสตช.-ก.ไอซีที ตรวจโต๊ะบอล เว็บไซต์เเทงผล ขณะที่วิจัยพบ ปี 58 ปชช.พนันบอลเกือบ 2 ล้านคน นิยม 'พรีเมียร์ลีก' มากสุด
อีกไม่กี่สัปดาห์ จะถึงวันเปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2016) ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย.-10 ก.ค. 2016 ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลกังวลว่า เด็กและเยาวชนของไทยจะติดการพนันทายผลฟุตบอล จึงสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งวางแนวทางป้องกันการแก้ไขปัญหา พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ตรวจตราพื้นที่สุ่มเสี่ยง เช่น บ่อนหรือโต๊ะการพนัน เว็บไซต์รับแทงพนัน เป็นพิเศษ เพื่อลดเงื่อนไขของปัญหาที่จะมีแนวโน้มเกิดขึ้น
ข้อมูลสำคัญจากงานวิจัย เรื่อง สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เล่นการพนันทายผลฟุตบอล 3.81% หรือราว 1.9 ล้านคน วงเงินหมุนเวียนสูงถึง 1.36 แสนล้านบาท โดยภาคกลางมีสัดส่วนผู้เล่นมากที่สุด รองลงมา คือ ภาคอีสาน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ
โดยลีกที่นักพนันนิยมเล่น คือ พรีเมียร์ลีก 93% ตามมาด้วย ไทยลีก 29.9%
และนักพนันเกือบทั้งหมด ใช้ข้อมูลประกอบการเล่นผ่านเว็บไซต์มากที่สุด 52.6% หนังสือพิมพ์กีฬา และหนังสือพิมพ์วิเคราะห์อัตราต่อรอง 45.4% และ 42.7% ตามลำดับ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
อีกทั้งยังพบว่า นักพนันจะทายผลฟุตบอลผ่านโต๊ะบอลโดยตรงสูงกว่าครึ่ง 55% และผ่านคนเดินโพย 53.3%
ที่น่าตกใจ! เมื่อคิดจำนวนเงินเล่นพนันเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2,085 บาท สูงสุด 3 แสนบาท แต่มีเพียง 28% เท่านั้นที่เล่นได้ และ 28% เท่าทุน ที่เหลือ 44% เล่นเสีย
เมื่อศึกษาตัวเลขแล้ว จึงน่ากังวลรายการเเข่งขันที่จะมีขึ้น อาจจูงใจให้มีการเล่นพนันมากไปอีก หากไม่ทำอะไรเลย จะก่อให้เกิดปัญหา นักพนันต้องสูญเสียเงิน มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ เพราะคาดเดาผลการแข่งขันผิด ประกอบกับเกมการเล่นในบางแมตช์อาจมิได้ใสสะอาดอย่างที่เกมกีฬาควรจะเป็น โดยมีการล้มบอล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
'ล้มบอล' มีจริง จากนักเตะสู่ผู้ตัดสิน
คอลัมนิสต์กีฬา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ‘บี บางปะกง’ ในฐานะคลุกคลีในวงการลูกหนังมานาน ตีแผ่ให้เห็นเป็นฉาก ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่นักพนันว่า มีเรื่องการล้มบอลเกิดขึ้นจริง ดังเช่นในประเทศไทย สมัยก่อนจะจ้างนักเตะ โดยมีเซียนพนันนำเงินจำนวนมากไปวางไว้ใต้หมอน หากใครหยิบใส่กระเป๋า นั่นแสดงว่ารับงานนี้ และมีหลายคนทำด้วย
ต่อมา ยุคหลังวงการฟุตบอลไทยเติบโตขึ้น นักเตะมีเงินเดือนหลักแสน อย่างค่าตัว ‘เจ้ามุ้ย’ ธีรศิลป์ แดงดา 8 แสนบาท/เดือน ‘เจ้าอุ้ม’ ธีราทร บุญมาทัน 7 แสนบาท/เดือน หรือชาริล ชัปปุยส์ 6 แสนบาท/เดือน ขณะที่นักเตะทีมชาติไทย 3 แสนบาท/เดือน รายได้จึงไม่น้อยอีกต่อไป
ดังนั้น เซียนพนันจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ ‘ผู้ตัดสิน’ ให้ล้มบอลแทน ซึ่งยังมีรายได้น้อยอยู่ และช่องว่างทางการเงินที่ฝืดเคืองนี้เองทำให้ตกเป็นเครื่องมือ
ปัจจุบันมีผู้ตัดสิน 2 คน ของไทย มือ 1 และ 2 ที่มีส่วนพัวพันกับเซียนพนัน โดยจะเป็นคนรับงาน ก่อนนำไปจ่ายให้คนอื่นต่อไป ซึ่งปัจจุบันถูกลงโทษแล้ว
“ระหว่างปี 2014-16 วงการพนันทายผลฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลึกมีมูลค่าเฉลี่ย 52 ล้านบาท/แมตช์ หรือ 1.6 หมื่นล้านบาท/ฤดูกาล ขนาดประเทศไทยมิได้เปิดพนันฟุตบอลเสรี” บี บางปะกง เปิดข้อมูลลึกในวงการลูกหนัง
เว็บพนันว่อนเน็ต!
ขณะที่มุมมองนักวิชาการ ‘ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว’ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ชี้ว่า กีฬาฟุตบอลเข้ามาในสังคมไทยนานมาก จนกระทั่งมาถึงไทยพรีเมียร์ลีก มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวข้องกับนักการเมือง และการพนันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬา ทุกสโมสรทุ่มเงินลงไป แต่มิใช่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ แต่เพื่ออุตสาหกรรม
เมื่อกีฬาฟุตบอลถูกมองเป็นสินค้าความบันเทิง คนนิยมรับชมเพื่อผ่อนคลายยามว่าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกมการแข่งขันจะมีขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาแสดงความเห็นว่า การพนันที่มีขึ้นนั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของวัฒนธรรมแฟนบอลไทยไปแล้ว
ด้าน ‘ธนากร คมกฤส’ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มองว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าคนไทยเล่นพนันกีฬาไม่กี่ประเภท หนีไม่พ้น ฟุตบอล มวย แต่ข้อเท็จจริงที่เขาพบไม่ได้เป็นเช่นนั้น
"ในโลกออนไลน์มีเว็บไซต์พนันจำนวนมาก นอกจาก 2 ประเภทกีฬาข้างต้นแล้ว ยังพบแบตมินตัน วอลเลย์บอล ด้วย ซึ่งเมื่อมีเรื่องพนันเข้ามาเกี่ยวข้องกับกีฬา จะมีส่วนหรือไม่ทำให้กีฬาไม่อยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่อาศัยความสามารถ แต่จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซงทำให้ผลการแข่งขันเปลี่ยนไปตามต้องการ"
พร้อมกับยกคำของ “ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุไว้คราวฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมาว่า เจ้ามือพนันหรือบ่อนพนันในสิงคโปร์และมาเลเซีย มีอิทธิพลสูงและมักจะมีความพยายามจ้างล้มบอล ซึ่งคนเล่นจะมีความเสี่ยง 2 ชั้น คือ เสี่ยงที่จะทายผลถูกหรือไม่ และเสี่ยงจะเจอการล้มบอลหรือไม่”
จำคุก 5 ปี ปรับสูงสุด 5 เเสน
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 มาตรา 4 ให้ความหมาย ‘ล้มกีฬา’ ว่า การเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพโดยแสร้งแพ้หรือโดยกระทําการ หรือไม่กระทําการแข่งขันกีฬาอาชีพโดยมีเจตนาทุจริต และให้หมายรวมถึงการเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพ โดยสมยอมกันเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่กําหนดไว้เป็นการล่วงหน้า
โดยหากพบว่ามีการล้มกีฬาเกิดขึ้นจริง บทลงโทษค่อนข้างรุนแรง!!!
ผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพ หรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 แสน ถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เช่นเดียวกันผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้มีการกระทําการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท ถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนี้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทําหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขัน หรือทําหน้าที่ตัดสิน อย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2 แสนบาทถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ผู้ตัดสินใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่น เพื่อทําหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทําหน้าที่ตัดสินอย่าง ไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 3 แสนบาทถึง 6 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ฉะนั้น ยูโร 2016 ให้ดูฟุตบอลเป็นกีฬา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน น่าจะดีที่สุดสำหรับคอลูกหนังไทย.
อ่านประกอบ:โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพแล้ว-ใครจ้าง“ล้ม”เจอโทษคุก 5 ปี
คนไทยติดพนันงอมแงม! กว่า 60% เริ่มเล่นตอนอายุไม่เกิน 20 ปี