เทียบเหตุผล "ทหาร-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม" ปม 4 ผู้ต้องหากลับลำ เมินอบรมตาม ม.21
ภาวะ "สะดุด" ของกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ฝ่ายรัฐหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น "กุญแจดอกสำคัญ" ในการดึงคนจากขบวนการก่อความไม่สงบสู่อ้อมแขนของรัฐ หลังจากผู้ต้องหาฯชุดแรก 4 คนยืนยันต่อศาลนาทวีว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมแทนการถูกดำเนินคดีอาญานั้น สร้างความปั่นป่วนสับสนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไม่น้อย
โดยเฉพาะฝ่ายทหารใต้ร่มเงาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะทนายที่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้ง 4 รายติดต่อขอรับความช่วยเหลือ (ตามข้อมูลที่อ้างโดยทั้ง 2 มูลนิธิ)
ฝ่ายทหารใช้คำว่า "เจอหักมุมตอนจบ" สื่อนัยยะคล้ายๆ "ถูกหักหลัง" ขณะที่ฝ่ายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ก็เปิดข้อมูลที่เป็นข้อร้องเรียนว่าด้วยการ "ซ้อมทรมาน" ซึ่งนับเป็นข้อหาฉกรรจ์ เพราะหากเป็นจริง กระบวนการตามมาตรา 21 อาจถึงขั้น "ล่ม" หรือ "แท้ง" โดยที่ยังไม่ได้ "คลอด" เลยทีเดียว
งานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า กอ.รมน.ภาค 4 เคร่งเครียดกันมาก เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 13 ธ.ค.2554 ซึ่งอนุมัติให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือนนั้น ครม.ได้เน้นย้ำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ติดตามการสั่งของศาลในการนำบุคคลเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตลอดจนการเข้ารับการอบรมตามคำสั่งของศาลตามโครงการนำร่องในพื้นที่เสี่ยง 4 อำเภอของ จ.สงขลามาประกอบด้วย
แต่เมื่อกระบวนการเกิด "สะดุด" และยังไม่เห็นแววว่าจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้อย่างไร ฝ่ายทหารย่อม "เสียหน้า" ไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาและเหตุผลที่หยิบขึ้นมาอ้างของฝ่ายมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยังถือเป็นข้อกล่าวหาที่ยังมิได้เป็นข้อสรุปหรือผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนั้นทั้งหมด ประกอบกับเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายยกขึ้นมาอธิบายนั้น ยังไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อสักเท่าไหร่ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" จึงขอสรุปเหตุผลและคำอธิบายของทั้งฝ่ายทหารและมูลนิธิทั้งสองมาเปรียบเทียบให้ได้อ่านกันบรรทัดต่อบรรทัด
สองมูลนิธิฯ : ผู้ต้องหาขอรับความช่วยเหลือเอง-อ้างไม่สมัครใจ
หลังผ่านกระบวนการทางศาลเมื่อวันพุธที่ 14 ธ.ค.2554 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้เผยแพร่ใบแจ้งข่าวชี้แจงกรณีผู้ต้องหาฯ 4 รายยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวี ปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สรุปประเด็นได้ดังนี้
1.ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย คือ นายอับริก สหมานกูด, นายซูบิร์ สุหลง, นายมะซับรี กะบูติง และนายสะแปอิง แวและ (ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงที่ 1-4) เป็นราษฎรจาก อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้เข้าขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้ยื่นคำร้องปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
2.ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายระบุว่า ถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการโดยไม่สมัครใจและไม่เข้าใจขั้นตอน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา
3.ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายขอเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในคดีอาญาตามปกติเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อไป
ถูกจับพร้อมกัน 8 ราย เข้ากระบวนการ 4 รายแต่ปฏิเสธภายหลัง
4.ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย (ในใบแจ้งข่าวใช้คำว่า "ผู้ต้องสงสัย") ถูกจับกุมที่ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พร้อมผู้ต้องสงสัยรายอื่นรวมทั้งสิ้น 8 ราย เมื่อเดือน เม.ย.2554 และผู้ต้องหาบางรายถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี แต่เหตุแห่งการจับกุมเป็นข้อสงสัยว่าเกี่ยวกับพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงมีการร้องขอความเป็นธรรมและยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดค้านการควบคุมตัว ต่อมาศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 8 รายเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2554
อย่างไรก็ดี ต่อมาปรากฏว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 รายถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่ามีส่วนในการก่อเหตุระเบิดที่ อ.เทพา เมื่อเดือน เม.ย.2554 โดยผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มแรกจำนวน 4 รายปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มที่สอง จำนวน 4 ราย ได้ยื่นปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังกล่าว
เปิดข้อมูลจากปากคำอ้าง "ถูกซ้อม-ข่มขู่"
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สรุปประเด็นได้ดังนี้
1.ผู้ต้องหาทั้งหมดได้เข้ายืนยันและให้ข้อเท็จจริงกับทางศูนย์ฯหลายครั้งว่าถูกบังคับ บางคนยังถูกทำร้ายร่างกายให้ยอมเข้ากระบวนการตามมาตรา 21
2.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้เวลาหลายวันกับผู้ต้องหาทั้ง 4 คนให้กลับไปคิดทบทวน แต่ทั้งหมดยืนยันตามเดิม พร้อมย้ำว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และขอให้ศาลเป็นผู้พิสูจน์ในระบบปกติ
3.กระบวนการตามมาตรา 21 ฝ่ายรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง เมื่อกระบวนการมีปัญหาจึงไม่ควรโทษฝ่ายอื่น และฝ่ายรัฐมีหน้าที่ต้องกลับไปสรุปบทเรียน และสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 21 อย่างโปร่งใส เป็นธรรม
4.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเป็นห่วงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนอาจต้องเผชิญกับการคุกคาม บีบคั้น (หลังจากให้การปฏิเสธเข้ารับการอบรมเมื่อวันพุธที่ 14 ธ.ค.) ซึ่งหากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่สวนทันที
5.กระบวนการตามมาตรา 21 ควรปรับแก้บางประเด็น เช่น ตัดหลักการเรื่องการรับสารภาพหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ซัดทอดบุคคลอื่นออกไป เพราะกรณีของผู้ต้องหา 4 คนนี้ มีรายชื่อเป็นพยานในอีกคดีที่มีผู้ต้องหารวม 4 คนด้วย จึงอาจเป็นได้ว่าสังคมและชุมชนกดดันเพื่อไม่ให้มีการซัดทอดบุคคลในชุมชนเดียวกัน
6.มีการเปิดข้อมูลที่อ้างว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน โดย 2 ใน 4 รายระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการสอบสวน ขณะที่อีก 1 รายระบุว่าถูกข่มขู่ และอีก 1 รายบอกว่าไม่เข้าใจขั้นตอนตามมาตรา 21
กอ.รมน. : จับ 8 ราย เข้ากระบวนการแค่ 4 ราย จะบังคับได้อย่างไร?
ด้านคำอธิบายจากฝ่ายทหารในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปประเด็นได้ดังนี้
1.กระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดำเนินการมานานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแล้ว กระบวนการทั้งหมดมี 6 ขั้นตอน การขอคำสั่งศาลเป็นขั้นตอนที่ 5 หากผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไม่สมัครใจเข้าร่วมกระบวนการ เหตุใดจึงมาปฏิเสธในชั้นศาลซึ่งเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้ว (ขั้นตอนต่อไปคือเข้าอบรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน)
2.ผู้ต้องหากลุ่มนี้ถูกจับกุมทั้งหมด 8 ราย แต่ตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 เพียงแค่ 4 ราย ส่วนอีก 4 รายไม่สมัครใจ และขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการนี้ไม่มีการข่มขู่บังคับ
3.กระบวนการตามมาตรา 21 ไม่มีหลักการเรื่องการรับสารภาพหรือต้องให้ข้อมูลซัดทอดบุคคลอื่น เพราะกฎหมายเพียงแต่ระบุว่า "บุคคลผู้นั้นกลับใจเข้ามอบตัว" หรือพนักงานสอบสวนเห็นว่า "บุคคลนั้นกระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์" เท่านั้น
ยันบันทึกภาพวิดีโอทุกขั้นตอน ไม่มีซ้อมทรมานแน่
4.การดำเนินกรรมวิธีตามมาตรา 21 มีการถ่ายทำวิดีโอบันทึกภาพเอาไว้ทุกขั้นตอน เพราะต้องนำเรียนผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และคณะรัฐมนตรี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการซ้อมทรมาน ข่มขู่บังคับ หรือทำร้ายร่างกาย
5.ช่องโหว่ของกระบวนการนี้คือ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่ได้ตั้งผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลางเข้าไปร่วมในกระบวนการด้วย ทำให้มีการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายราชการ
6.มีความพยายามจากบางฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เพื่อล้มกระบวนการนี้หรือไม่ เพราะในทางการข่าวของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า หากโครงการนำร่องมาตรา 21 โดยผู้ต้องหาชุดแรก 4 คนประสบความสำเร็จ จะมีบุคคลในขบวนการกลับใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนต่อขบวนการก่อความไม่สงบอย่างรุนแรง
แม่ทัพภาค 4 ถามใครกลับกลอก?
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ว่า กระบวนการตามมาตรา 21 เป็นเพียงทางเลือก ถ้าเข้ามาแล้วไม่เอา หรือไม่สมัครใจจะเข้า ก็ไม่จำเป็นต้องเข้า จึงไม่มีความจำเป็นที่ทหารต้องไปบังคับ ฉะนั้นเมื่อเกิดการปฏิเสธในชั้นศาล ก็ต้องดูว่าใครที่เป็นฝ่ายกลับกลอก
"กระบวนการนี้ทำกันมาหลายเดือนแล้ว ฝ่ายรัฐได้ไปเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้ง 4 รายเรียบร้อยหมดแล้วด้วย จึงไม่ทราบว่ากลายเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้มันซับซ้อน การถอยกลับไปต่อสู้คดีเท่ากับต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่เลย อาจจะมีคนไปบอกเขาว่ามีช่องทางตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แต่เขาไม่รู้ว่ามันยากที่จะชนะ เพราะเรามีหลักฐานแน่นหนารัดกุม" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูลด้วยว่า เรื่องนี้สุ่มเสี่ยงเข้าทางกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพราะหากดำเนินคดีตาม ป.วิอาญา ไปแล้วสุดท้ายศาลพิพากษาลงโทษ ก็จะมีขบวนการปล่อยข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงกลั่นแกล้ง พอไม่เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ก็ต้องติดคุก ยังโชคดีที่หลังกระบวนการในศาลจังหวัดนาทวีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. อัยการไม่ได้ขอควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อเพราะเอกสารไม่ครบ มิฉะนั้นจะถูกกระแสข่าวลือทันทีว่าฝ่ายความมั่นคงหักหลัง พอไม่เข้ารับการอบรมก็ถูกจับกุม
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลจากทั้งสองฝ่ายที่หยิบยกมาให้สังคมได้ร่วมพิจารณา!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สัญลักษณ์ขององค์กรที่กำลังมีการวิวาทะกัน ได้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
อ่านประกอบ :
- นิรโทษป่วนใต้สะดุด 4 ผู้ต้องหาฯอ้างถูกซ้อม เมินเข้าอบรมตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
- "ไอซีเจ" ชำแหละ ม.21 "ลิดรอนสิทธิ ตัดสินล่วงหน้า" กังขาเว้นโทษความผิดร้ายแรง
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1935-qq-21-q-q.html
- เสียงจาก "กลุ่มเป้าหมาย"...ไม่มั่นใจกระบวนการมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1936-qq-21.html