ถูกการเมืองเด้งไม่เป็นธรรม คุยกับ"นพ.ศิริวัฒน์" สู้มา 8 ปี กว่าจะชนะคดี
"หน้าที่ของข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง หากนักการเมืองคนใดเข้ามาหาเศษหาเลย คุณต้องปฏิเสธ อย่างเก่งเขาก็ย้ายไปตำแหน่งที่ไม่มีบทบาท ผมโดนมาแล้ว ไม่ต้องแคร์ นักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ข้าราชการตำแหน่งและเกียรติยศอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 หนังสือพิมพ์เกือบทุกสำนัก ต่างพร้อมใจกันพาดหัวข่าวโดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่คนในแวดวงสาธารณสุข คนหนึ่งถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งไม่เป็นธรรม
- แพทย์ชนบทฟันธงเจอพิษซีแอล รมว.สธ.เด้ง 'ศิริวัฒน์' ไชยาอ้างเพื่อความเหมาะสม-ความคล่องตัว
- เด้งเลขาฯ อย.ปัดพิษซีแอล ชาตรี นั่งแทน
- เซ่น 'ซีแอลยา' สั่งเด้งเลขาอย. หมักย้อนทีขิงแก่ ย้ายทั่วทำไมไม่ด่า
จากวันนั้น ถึงวันนี้ นับเวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปีแล้วที่นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง หลังจากที่โดนย้ายไปตำแหน่ง ที่ถือว่า ลดชั้น เสมือนเป็นการลงโทษ ทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิด
อีกทั้ง ตั้งแต่รับราชการมา หมอศิริวัฒน์ ไม่เคยถูกร้องเรียนหรือกล่าวโทษ แต่ได้อุทิศตัวทำงานในและนอกเวลาราชการอย่างเต็มที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนได้รับรางวัลแพทย์สาธารณสุขดีเด่นและรางวัลเชิดชูเกียรติเป็นกรณีพิเศษมาแล้ว
ถัดจากวันที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้ชนะคดีไม่กี่วัน หมอศิริวัฒน์ เปิดใจให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ย้อนความ และฟื้นความทรงจำไปช่วงปี 2551 ที่ลุกขึ้นมาฟ้องร้อง เพราะเห็นว่า "การให้เหตุผลของการย้าย เพราะผมไม่ได้ไปตรวจไส้หมู ตรวจเครื่องดื่มคาเฟอีน สุราแช่ รัฐมนตรีโทรมาที่ห้องผม ผมก็ไม่อยู่ ผมถือว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ และไม่เป็นความจริง"
หมอศิริวัฒน์ เชื่อมั่นว่า สาเหตุใหญ่ของการถูกคำสั่งย้ายออกจากตำแหน่งเลขาอย. กะทันหัน ก็คือเรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ซึ่งในสมัยนายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขได้ริเริ่มนโยบายนี้เอาไว้ และในฐานะเป็นรองเลขาธิการอย.มาหลายปี จึงได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรองราคายา และจัดหายาสามัญเข้ามา เพื่อทดแทนยาของบริษัทต่างจากที่มีราคาแพง
"การถูกปรับย้ายนอกฤดูกาล ไม่ใช่เดือนกันยายนหรือตุลาคมของทุกปี หลังจากคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นมีมติให้ผมไปเป็นผู้ตรวจฯ แล้วปลัดกระทรวงสธ.ยังมีคำสั่งเร่งด่วนให้ผมไปรักษาการผู้ตรวจ ซึ่งผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน คอขาดบาดตาย ผมคิดว่า เป็นการทำอย่างเร่งรีบและมีวาระซ่อนเร้น"
การย้ายจากเก้าอี้เลขาธิการอย.ไปเป็นผู้ตรวจราชการฯ เฉยๆ แม้เงินเดือนจะไม่ได้ลดลง เท่ากัน แต่สถานะทางตำแหน่งนั้น เขามองว่า ต่างกัน
หมอศิริวัฒน์ เล่าอีกว่าก่อนนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปก่อน แต่เมื่อยื่นเรื่องไป คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ยืนยันในคำสั่งเดิม
“ผมใช้เวลา 3 เดือน พบว่า คำอุทธรณ์ของผมไม่เป็นผล จึงได้ไปยื่นศาลปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 กระทั่ง ประมาณปี 2554 ศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำพิพากษายกคำร้อง"
ซึ่งระหว่างนั้นที่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง หมอศิริวัฒน์ ยังดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ เขายื่นอุทธรณ์ทันที โดยให้ทนายความช่วยเขียนสำนวนอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้พิจารณาในหลายประเด็น
สำหรับประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และมีคำพิพากษาออกมา มีประเด็นเรื่อง การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ด้วย
“ผมเคยขอเข้าชี้แจงต่อรัฐมนตรีเรื่อง CL ยา ท่านก็ไม่ให้เข้าพบ รัฐมนตรีสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์อ้างว่า การโยกย้ายผมเพื่อความเหมาะสม แต่ปรากฎว่า คนที่เข้ามาแทนผม ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ CL ยา และไม่มีประสบการณ์ในการต่อรองราคายา รวมถึงงานของอย. รวมทั้งเป็นการโยกย้ายที่ทำนอกฤดูกาล ทำอย่างเร่งรีบ ฉะนั้น ข้อกล่าวหาผมไม่เป็นความจริงแต่ประการใด”
และตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีของการต่อสู้เรียกร้องหาความเป็นธรรม หมอศิริวัฒน์ บอกว่า เขาคิดอยู่เสมอคงไม่ทันเกษียณอายุราชการแน่นอน เนื่องจากเคยเจออดีตปลัดกระทรวงท่านหนึ่ง โดนย้ายแบบคล้ายๆ กัน สุดท้ายแม้จะชนะคดี แต่ก็เกษียณอายุราชการก่อนแล้ว
“ผมฟ้องปี 2551 ก่อนเกษียณอายุราชการ 3 ปี ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังคดีนี้จะจบช่วงยังรับราชการอยู่ หรือได้กลับไปนั่งตำแหน่งเดิม”
เมื่อถามว่า ห้วงเวลาผ่านไป 8 ปี ชนะแล้วคุณหมอได้อะไร ?
อดีตเลขาธิการอย. ตอบปนเสียงหัวเราะ “ชนะแล้ว ผมก็ไม่ได้อะไร"
เขาหยุดคิดนิดหนึ่ง ก่อนย้ำ “ชนะแล้ว... ผมก็ไม่ได้อะไร ผมได้ประวัติกลับมา ได้ศักดิ์ศรีในตำแหน่งกลับมา ซึ่งครม.ต้องกลับมติ และที่ผมได้เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อนเกษียณอายุราชการ ก็เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีสาธารณสุข คนใหม่เป็นนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ซึ่งเข้าใจเรื่อง CL ยา และเข้าใจด้วยว่า ผมถูกรังแก”
หมอศิริวัฒน์ บอกว่า เขาโชคดี ที่ได้ทนายดี บางคนได้ทนายไม่ดีก็เสียทั้งเงินและแพ้คดีความ
และเมื่อถามถึงการถูกนักการเมืองโยกย้ายออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม กรณีคุณหมอศิริวัฒน์กับนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.คิดว่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
"เลขาสมช. เป็นตำแหน่งใหญ่โตระดับชาติ คนที่เป็นผู้บังคับบัญชา คือ นายกรัฐมนตรี และเป็นคดีดังในหน้าหนังสือพิมพ์ต่อเนื่อง การชนะคดียังมีผลทำให้นายกรัฐมนตรีหลุดออกจากตำแหน่ง เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
หากคดีของผมตัดสินเร็ว และนายไชยา สะสมทรัพย์ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ผมก็จะยื่นถอดถอนได้ แต่ล่าช้าจนนักการเมืองเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ"
ทั้งนี้ หมอศิริวัฒน์ เห็นว่า บทเรียนที่ได้จากการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม สำหรับข้าราชการ หรือนักการเมือง นักการเมืองคงไม่ได้บทเรียนอะไร เพราะมีอำนาจ คดีปกครองไม่มีบทลงโทษ
“คดีของผมจะให้บทเรียนอะไรกับนักการเมืองหรือไม่ ผมไม่ทราบ ก็ผ่านไปหลายปีแล้ว และขณะนี้ก็ไม่ใช่การเมืองปกติ”
แต่สำหรับข้าราชการ อดีตรองปลัดสธ. กล่าวว่า ข้าราชการมีศักดิ์ศรี เมื่อตั้งใจเข้ามารับราชการ ไต่เต้าตั้งแต่ระดับซี 4 ถึง ซี 10 ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ไม่มีประวัติด่างพร้อย เวลาถูกรังแกก็ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของเรา
เขายังฝากไปถึงข้าราชการรุ่นหลังๆ ให้ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบในหน้าที่ อย่าเลียนักการเมือง พินอบพิเทาเกินงาม หรือรับคำสั่งนักการเมืองโดยมิชอบ
"หน้าที่ของข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง หากนักการเมืองคนใดเข้ามาหาเศษหาเลย คุณต้องปฏิเสธ อย่างเก่งเขาก็ย้ายไปตำแหน่งที่ไม่มีบทบาท ผมโดนมาแล้ว ไม่ต้องแคร์ นักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ข้าราชการตำแหน่งและเกียรติยศอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล”
หมอศิริวัฒน์ ยืนยันว่า การทำงานเรื่อง CL ยาที่ผ่านมาให้ประโยชน์กับประเทศชาติ ถึงแม้จะไม่มีการประกาศ CL ยาเพิ่ม แต่ยาที่มีอยู่จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น ยาได้คุณภาพหรือไม่ ใช้กี่เปอร์เซ็นต์ มีผลข้างเคียงหรือไม่ ซึ่งที่ประกาศ CL ยาไปแล้วก็คงอยู่ เช่น ยามะเร็ง 4 รายการ ยาต้านไวรัสเอดส์ 3 รายการ ยารักษาโรคหัวใจ 1 รายการ หน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องดูแลต่อเนื่อง
อดีตเลขา อย. ยกตัวอย่าง ยามะเร็งแม้แต่คนรวยยังสู้ไม่ไหว เข็มละเป็นแสน แต่เมื่อทำ CL ยาแล้วมีงบประมาณเหลือจากที่ต้องซื้อยาแพงๆ ซึ่งตอนนั้นทางทีมวิชาการนำงบไปจัดสรรสิทธิประโยชน์ล้างไต ผู้ป่วยไตวาย ฉะนั้น ผู้ป่วยล้างไตรอดจากการเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ต้องล้มละลายทางการเงิน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน
นี่คือผลจากการทำ CL เอื้อเฟื้อไปถึงผู้ป่วยโรคไตวาย...
"ผลการโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม ผมคิดว่า มีผลทำให้คนที่จะเข้ามาดูแล CL ยาขาดช่วงไป อย.ดูแลขึ้นทะเบียนยาล็อตใหม่ๆ ดูคุณภาพ กรมวิทย์ฯ ต้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพ อภ.เป็นผู้จัดซื้อ ผมถือว่า ราชการเสียประโยชน์จากที่ผมมีประสบการณ์ตรงนี้ และไม่ได้ทำงาน"
สุดท้าย เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีการปฎิรูปประเทศแล้ว และกลับเข้าสู่การเมืองปกติ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรมยังจะเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ หมอศิริวัฒน์ ยังเชื่อว่า ก็ยังจะมีอยู่ แต่จะมากจะน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนการมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. จะช่วยปกป้องข้าราชการ จากการถูกนักการเมืองรังแก ได้มากน้อยแค่ไหน หมอศิริวัฒน์ ไม่ตอบ แต่ได้หยิบยกกรณีของนายถวิล อดีตเลขาสมช. ที่ได้ยื่นคำร้องไปที่ ก.พ.ค. มาก่อน แต่สุดท้ายก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองเหมือนกับเขา และในที่สุดก็ชนะคดี...
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/photo.php?fbid=105189842844378&set=t.100000706523257&type=3&theater