พลิกวิกฤติ "ดร.ฆ่า ดร." สู่ "สันติวัฒนธรรม" ในรั้วอุดมศึกษา
โศกนาฏกรรมที่ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก่อเหตุยิงอาจารย์ร่วมสถาบันเสียชีวิต 2 ราย ก่อนปลิดชีพตนเองในเวลาต่อมา เปรียบเหมือนการ "สั่นระฆัง" เพื่อปลุกให้สังคมได้ตระหนักว่ามีปัญหาขัดแย้งในสถาบันอุดมศึกษาซุกซ่อนอยู่และรอวันปะทุอีกมากมาย
อาจารย์หลายคนจากหลายสถาบันให้ข้อมูล ไม่รู้สึกประหลาดใจนักกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะคาดไว้อยู่แล้วว่าต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแน่ๆ เพียงแต่ไปแจ็คพ็อตที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครแค่นั้นเอง
การหยุดความสูญเสียไว้ ณ จุดนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการ
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรพัฒนาผู้นำและแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความขัดแย้งเกิดทุกที่ ตั้งแต่ในครอบครัว ในชุมชน ไปจนถึงที่ทำงาน หรือแม้แต่สถานศึกษา
แต่ประเด็นคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว เราควรจะทำอย่างไรกับความขัดแย้ง เพราะมนุษย์นั้น หากหาทางออกอะไรไม่ได้ก็จะตัดสินใจใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงกับตัวเอง หรือเป็นความรุนแรงกับผู้อื่น สิ่งที่เราเห็นกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นแค่เพียงภาพปลายเหตุของความขัดแย้งสะสม ฉะนั้นหากมีที่พักใจหรือการให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่ดี ก็น่าจะช่วยได้
“ในระบบการศึกษาบ้านเรา สิ่งที่ขาดไปในขณะนี้คือการให้ความรู้ด้านการสื่อสาร เมื่อเกิดความไม่พอใจ ความไม่เข้าใจกัน หรือความโกรธทั้งหลาย เราไม่มีการให้การศึกษาว่าควรจะสื่อสารอย่างไร”
“จากเดิมเรามองการพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้เก่งและเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่เราไม่เคยสอนให้มีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งในต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่ในสถานศึกษาไม่ว่าระดับตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงบุคคลระดับด็อกเตอร์ จะต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต หรือที่เรียกว่า life skills เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตขึ้นมาโดยสามารถอยู่ในโลกที่มีปัญหาและความเปลี่ยนแปลงได้”
หมอวันชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องการสื่อสารเกิดขึ้นแม้กระทั่งคนที่เรียนสูงๆ ยกตัวอย่างในวงการแพทย์ ในการตรวจรักษา หมอบางคนก็ไม่ค่อยได้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของคนไข้หรือผู้รับบริการ โดยเฉพาะการสื่อสารกับคนไข้หรือญาติของคนไข้
“ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาเรื่องนี้ เชื่อหรือไม่ว่าหมอฟันพูดคุยกับคนไข้ที่มารักษาเฉลี่ยเพียงแค่ 18 วินาทีเท่านั้น จากการทำวิจัยมาเป็นพันๆ ราย จับเวลาตั้งแต่หมอเริ่มซักประวัติ จนถึงสิ้นสุดการตรวจ ใช้เวลาเพียงแค่ 18 วินาที ประเทศไทยเองไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ แต่ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็ไม่ต่างจากที่อเมริกาเท่าไหร่”
“หมอบางคนยิ่งเก่งยิ่งไม่ฟัง เช่นเดียวกับอาจารย์บางคน ยิ่งเก่งเท่าไหร่ ยิ่งเป็นด็อกเตอร์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่ฟัง เพราะคิดแต่ว่าความคิดเห็นของตัวเองถูกที่สุด ไม่รู้จักการพูดคุยกันอย่างเอื้ออาทร นี่คือประเด็นปัญหาที่ถือเป็นรากเหง้าของเหตุการณ์นี้”
หมอวันชัย บอกว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งมานาน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และองค์กร รวมไปถึงแวดวงการแพทย์ที่ให้บริการพี่น้องประชาชน พบว่าถ้าไปสอนทีละคน จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของคนได้ ต้องเปลี่ยนทั้งกลุ่ม จะต้องให้คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
“ผมคิดจากตรงนี้ จึงเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ (หมอวันชัยเคยเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ผมได้ชวนคณบดีคณะต่างๆ มาพูดคุยกัน ซึ่งก็มีความเห็นตรงกันว่าปัญหาที่อาจารย์ทะเลาะกันในมหาวิทยาลัย อาจจะไม่รุนแรงเหมือนเคสที่เป็นข่าว แต่ก็มีการฟ้องร้องกันอยู่เสมอ”
“จากจุดนั้น จึงเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการอบรม โดยดึงคณบดีทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมโครงการนำร่องเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากอบรม 6-7 วัน ทำให้เห็นว่าควรจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยในมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการผลักดันเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้กำลังจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยภายในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น”
หมอวันชัย บอกอีกว่า แม้ศูนย์ไกล่เกลี่ยจะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ปัญหาเบาบางลง เพราะทำให้เห็นว่าการหันหน้าเข้ามาคุยกันเป็นเรื่องที่ดีกว่า
“ผมกำลังเจาะลงไปที่ระดับคณะวิชา โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะที่ผ่านมาหากสังเกตจากสื่อ จะเห็นได้ว่ามีการฟ้องร้องกันระหว่างคนไข้กับแพทย์เยอะขึ้นมาก ถ้าหมอหรือโรงพยาบาลชนะก็จะไม่ค่อยเป็นข่าว แต่หากญาติคนไข้ฟ้องแล้วชนะ จะกลายเป็นข่าวครึกโครม”
“ผมและเหล่าคณบดีในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเห็นตรงกันว่า เราควรสร้างการบูรณาการวัฒนธรรมองค์กรที่มีการสื่อสารกันอย่างเข้าใจ เพราะหากไม่มีการอบรมคนที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งในอนาคตได้วางแผนไว้ว่าจะมีการอบรมเป็นรุ่นๆ ไป แล้วสร้างเครือข่ายให้เป็นกลุ่มก้อน จัดกิจกรรมต่อเนื่องได้”
ย้อนกลับมาที่โศกนาฏกรรมในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หมอวันชัย บอกว่า อาจจะมีส่วนของการสื่อสารที่ผิดพลาด จนทำให้กระทบในเรื่องของศักดิ์ศรี
“หากฟังจากที่ ดร.วันชัย พูดหรือเขียนจดหมายเอาไว้ก่อนเสียชีวิต จะพบคำว่า ‘ฆ่าได้หยามไม่ได้’ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องของศักดิ์ศรีเป็นเรื่องใหญ่กว่าเงินทองที่จะได้รับจากการสอนในหลักสูตรพิเศษ ซึ่งหากเรามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของอาจารย์ให้มีการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ ก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น”
หมอวันชัย บอกอีกว่า ความขัดแย้งโดยมากเจรจากันได้ แต่สิ่งสำคัญที่อาจนำไปสู่อารมณ์บ้าคลั่ง คือการท้าทาย หรือพูดในสิ่งที่ไม่ต้องการให้พูด จนกลายเป็นการก้าวล่วงศักดิ์ศรี
ฉะนั้นการสื่อสารจึงสำคัญ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว ก็ต้องมีทักษะในการสื่อสาร แม้แต่ในครอบครัวก็ควรมีกติกาบางอย่าง เช่น “กติกา 5 นาที” ที่เปิดให้พูดคุยกันฝั่งละ 5 นาที เพื่อทำความเข้าใจในความต้องการของแต่ละฝ่าย เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ฟังกัน ไม่พูดคุยกัน กติกา 5 นาทีนี้จะช่วยให้อุณหภูมิของความโกรธลดลง
หมอวันชัย บอกด้วยว่า เรื่องแบบนี้ต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรม จึงวางแผนอบรมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “สันติวัฒนธรรม” ให้เยาวชนเข้าใจการพูดคุยอย่างเอื้ออาทร เพราะเด็กเมื่อเข้าสู่วัยคะนอง จะมีการล้อเลียนกัน อย่างเช่น เรียกไอ้อ้วน ไอ้แว่น ไอ้ดำ ซึ่งเมื่อมีการล้อเลียนกันเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดความโกรธแค้นกันได้
“สันติวัฒนธรรมคือการมองโลกในทางบวก แม้จะมีใครพูดในทางลบอย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะไม่กระทบกับจิตใจเรา สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อยๆ ที่สำคัญเป็นเรื่องของการเอาใจใส่ ให้การเลี้ยงดูและสอนเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก”
“สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบใช้อำนาจ เรียกว่าอำนาจนิยม เป็นสังคมที่ไม่ชอบให้ใครมาใช้อำนาจ แต่ตัวเองกลับชอบให้อำนาจกับคนอื่น ซึ่งล้วนนำไปสู่ความขัดแย้ง ฉะนั้นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ คือสันติวัฒนธรรมขึ้นมาให้ได้” หมอวันชัย กล่าวทิ้งท้าย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ฃฃ
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์เจ้าพระยานิวส์
หมายเหตุ : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26