ชวน หลีกภัย: มุมมองต่อ ‘ม.ร.ว.เสนีย์’ บริหารบ้านเมือง ต้องยึดหลักนิติธรรม
หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คัดสรรถ้อยคำบางช่วงบางตอนของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในเวทีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วิสัยทัศน์ มุมมอง ต่อศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ณ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
“แม้จะได้ยินชื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มาตั้งแต่เด็ก ๆ และจำได้โดยไม่ตั้งใจ เพราะพ่อกับเพื่อน ๆ ครูนั่งวิจารณ์การเมือง และเอ่ยถึงบุคคลสำคัญของบ้านเมือง ผ่านหูซ้ายออกหูขวาให้เด็ก ๆ อย่างพวกเราฟังบ่อย ๆ หนึ่งในบุคคลสำคัญเหล่านั้น คือ ‘หม่อมเสนีย์’ แต่ผมก็ไม่เคยเห็นตัวตนจริง ๆ ของท่านมาก่อน จนกระทั่งผมได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ วันหนึ่งขณะที่เรายืนคุยกันที่หน้าตึกใหม่ คณะนิติศาสตร์ เพื่อนคนหนึ่งสะกิดผมให้หันไปมองสุภาพบุรุษวัยกลางคน แต่งกายชุดสากล สีอ่อน หิ้วกระเป๋าเอกสารเดินขึ้นไปบนตึกคณะ นั่นแหละ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช...”
‘นายชวน หลีกภัย’ อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิสัยทัศน์ มุมมอง ต่อศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2559 เนื่องในโอกาสครบรอบ 111 ปี ‘ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช’ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. และสมาชิกพรรค ปชป. นักวิชาการ เข้าร่วม ณ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
นายชวน ชี้ว่า ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่มีข้อระแวง สงสัย รังเกียจเดียดฉันท์ หรือตำหนิติเตียน แม้ระบอบการปกครองดังกล่าวจะทำให้ท่านต้องประสบกับปัญหามากมายหรือผิดหวังในพฤติกรรมของบางคนก็ตาม แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหรือระบอบ
ความเชื่อมั่นนี้มีความสำคัญมาก อดีตนายกรัฐมนตรี เล่าย้อนให้ฟังว่า ตั้งแต่ต้นจนจบในชีวิตการเมืองของ ม.ร.ว.เสนีย์ จะเห็นท่านยึดหลักการข้างต้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำฝ่ายค้าน เดินตามวิถีทางของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยืนหยัดในรัฐสภา โดยต่อให้ใครจะวิจารณ์อย่างไร ท่านก็จะไม่มีอารมณ์ แต่เป็นเราเสียอีกที่มี
“ปี 2518 ผมร่วมในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีผู้นำฝ่ายค้าน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชายของ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้วิจารณ์นโยบายของท่านอย่างสาดเสียเทเสีย แต่เมื่อผมอ่านคำชี้แจงในฐานะนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ท่านไม่มีอารมณ์ แต่กลับอธิบายในแต่ละเรื่องตามที่สงสัย”
นายชวน กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง ตรงกันข้ามกับฉบับที่กำลังจะมีการลงประชามติ โดยเขียนว่า รัฐบาลที่จะบริหารประเทศนั้นต้องแถลงนโยบายและต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่กลับไม่ได้รับความเห็นชอบ ในฐานะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงล้มไป ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จัดตั้งรัฐบาลแทน
“ต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง และผมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง 2 ตำแหน่งที่ได้รับครั้งนั้น เกิดจากความยุติธรรมของท่าน เนื่องจากผมเป็นคนไม่นิยมการเรียกร้องโควต้าตำแหน่ง จนสุดท้ายเหลือเพียงรัฐมนตรีช่วย ท่านมองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผม เนื่องจากเป็นผู้นำเสียงภาคใต้ จึงให้ตำแหน่งรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
ม.ร.ว.เสนีย์ ทำงานภายใต้ภาวะความกดดัน เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นมีการประท้วง ชุมนุม แต่ท่านเป็นนักการเมืองที่อดทน และยึดหลักความถูกต้อง ทำให้กระแสหรือความกดดันทั้งหลายไม่มีส่วนทำให้อ่อนไหวได้ ซึ่งการตัดสินใจใดที่ไม่อยู่ในหลักการ ท่านจะไม่ทำ”
กระแสที่ว่านั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุคือ การขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกนอกประเทศ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ กลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญไม่ให้อพยพคนไทยออกนอกประเทศ แต่ให้กลับเข้ามาในประเทศได้ แม้จะเป็นอาชญากรก็ตาม
แน่นอน! หากวันนั้นยอมทำตามกระแสให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศ วิกฤติปัญหาบ้านเมืองอาจไม่เกิดขึ้น แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ไม่ทำ เพราะทำไม่ได้ นี่คือการยึดหลักการ ที่นายชวน ได้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมยุคปัจจุบัน มีปัญหาหรือไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศยึดหลักนิติธรรมหรือไม่
พร้อมกัน อดีตนายกฯ ชวน ยังมองว่า การยึดอำนาจหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ล้วนมีสาเหตุมาจากผู้บริหารไม่ยึดหลักนิติธรรม เเละแนวประชาธิปไตย มุ่งแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น ดังเช่น ฆ่าทิ้ง ซึ่งไม่ใช่หลักนิติธรรม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเงื่อนไขทำให้บ้านเมืองมีปัญหาตลอดมา จนกระทั่งวันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งหากได้ศึกษาวิธีการบริหารงานของ ม.ร.ว.เสนีย์ ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานการณ์ใด จะไม่เคยละทิ้งจากหลักนิติธรรม ซึ่งกลายเป็นสิ่งถ่ายทอดมายังนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรค ปชป.
"ผมเป็นบุคคลหนึ่งที่ยึดถือหลักการนี้ จนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “จอมหลักการ”"
เหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาตัวอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้งในเวที เนื่องด้วยจากการขาดหลักนิติธรรม โดยระบุว่า แม้โครงการรับจำนำข้าวจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเพียงตัวเลข แต่ปัญหาชายแดนภาคใต้ มีคนเสียชีวิตราว 6,000 คน ไม่มีทางชดเชยได้ ด้วยความเชื่อง่าย ๆ ว่า หมู่บ้านนี้มีโจร 1 คน ให้ยิงทิ้งเสีย หมู่บ้านนั้นก็จะสงบ
แนวคิดเช่นนี้ทำให้ชาวมุสลิมก่อตั้งองค์กรใหม่ นามว่า กลุ่ม RKK ก่อเหตุความวุ่นวายทุกวันนี้ นายชวน ย้ำอีกว่า เพราะเราใช้กระบวนการนอกกฎหมาย คือ การฆ่าทิ้ง โดยส่งมือเก็บไปแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งผิดแนวหลักนิติธรรมที่ ม.ร.ว.เสนีย์ สั่งสอนมาก
ทั้งนี้ หากยึดหลักประชาธิปไตย บ้านเมืองคงไม่มีปัญหาสะดุดเช่นนี้ แต่ที่มีปัญหา เพราะออกนอกแนวทางประชาธิปไตย ใช้เป็นเพียงเส้นทางในการนำไปสู่อำนาจเท่านั้น
“ม.ร.ว.เสนีย์ สอนว่า การแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องนั้น ต้องไม่สร้างปัญหาใหม่” ฉะนั้น การสั่งฆ่าคนร้าย กลับถูกคนบริสุทธิ์ด้วย ก่อนขยายความว่า รัฐมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่มีโควต้า สมมติ ในพื้นที่มียาเสพติด 100% ต้องจัดการให้ได้ 30% เพื่อนำมาเสนอต่อฝ่ายบริหาร ทำให้ผู้บริสุทธิ์โดนไปด้วย ซึ่งผิดแนวทางที่เราสอนกฎหมายกันมาว่า “ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์ 1 คน”
นายชวน ยังเล่าว่า ตำรวจนายหนึ่งเคยบอก หากพวกผมไม่ทำตามโควต้าที่ได้รับมอบหมาย จะไม่เจริญก้าวหน้า นี่คือหลายเรื่องที่เจ้าหน้าที่ข้าราชการไทยมีปัญหา เพราะความเกรงใจ ซึ่งนำไปสู่การก่อปัญหาขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ยึดหลักนิติธรรม หากยึดถือปฏิบัติเวลานี้ภาคใต้สงบไปแล้ว
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานกว่า 40 ปี จนชาวพุทธและมุสลิมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีข้อระแวงสงสัย จนคิดว่าไฟใต้ดับแล้ว จนกระทั่งปี 2543 สมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรีปีสุดท้าย มีเหตุการณ์ความรุนแรงเพียง 13 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต
ขณะที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในปีถัดมา นโยบายก็เปลี่ยนแปลงไป โดยจะแก้ไขปัญหาหมดภายใน 3 เดือน เมื่อถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่า 3 เดือนจะแก้ไขอย่างไร ได้รับคำตอบว่า จะเก็บหมด จึงเป็นที่มาของปัญหาภาคใต้อีกครั้ง”
เเม้จะยังไม่รู้ว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบลงอย่างไร เเต่อดีตนายกฯ ชวน ยืนยันปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการละเมิดหลักนิติธรรม จนกลายเป็นเงื่อนไขให้ปัญหายาวนานจนถึงวันนี้ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นด้วยทิ้งท้ายด้วยว่า แนวทางของ ม.ร.ว.เสนีย์ จะตอบโจทย์การบริหารประเทศทั้งหมด