นายกอบต. เมืองน่าน แนะฟื้นป่าต้องร่วมมือ คนปลายน้ำมีใช้ คนต้นน้ำต้องอยู่ดี
นายกอบต. น่าน แนะฟื้นป่าน่านต้องอาศัยทุกฝ่าย คนปลายน้ำมีใช้ คนต้นน้ำต้องอยู่ดี ด้านนักวิชาการติงยุทธศาสตร์บริหารลุ่มน้ำต้องแยกไม่ใช่กำหนดเหมือนกันทั้งประเทศ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559ที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ภัยแล้ง-น้ำท่วม: ความร่วมรับผิดชอบจากปลายนาสู่มหานคร”
ด้านนายสำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง จังหวัดน่าน กล่าวว่า วันนี้คนมองว่าน่านคือต้นน้ำ ต้องรีบฟื้นฟู แต่โจทย์ยากในการฟื้นฟูป่าน่านคือความร่วมมือกันของคน เพราะตอนนี้ถูกจำแนกออกไปเป็นหลายกลุ่ม เช่น แยกว่าคนเมือง คนชนบท หน่วยรัฐ หน่วยชุมชน เมื่อแยกอย่างนั้น เวลาพูดถึงการฟื้นเราไปฟื้นที่ไหน แผ่นดินชาวบ้านทำมาหากินอยู่ รัฐเองก็มีกฎหมายทับลงไป ตั้งแต่กฎหมายป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เป็นต้น ซึ่งมีผู้กำกับใช้อยู่ จะไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ แต่รัฐก็ไปบอกว่าชาวบ้านบุกรุก ฝั่งชาวบ้านก็ว่า รัฐว่ารังแกชาวบ้านในฐานะที่ไปประกาศทับที่ของพวกเขา เพราะฉะนั้นปัญหาจึงซับซ้อนมากขึ้นตรงที่การจะหาพื้นที่ปลูกโดยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย ไม่กีดกันใครออกไป รัฐก็ต้องทำตามนโยบายสาธารณะของตัวเองที่ประกาศว่าต้องได้ป่าคืนอย่างน้อย 3% ขณะเดียวกันชาวบ้านจะต้องได้สิทธิที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีอาชีพ มีรายได้
“เวลานี้มีความสุ่มเสี่ยง เช่นการประกาศยึดพื้นที่ ซึ่งในความเห็นผมนั้นคือการประกาศสงครามกับชาวบ้าน” นายสำรวยกล่าว และว่า วันนี้เราต้องหาช่องทางเพื่อสื่อสารให้เกิดความร่วมมือ สื่อสารให้เกิดความสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหา ไม่กล่าวหากันและกันไม่ว่าคนเมือง หรือชนบท น้ำเป็นสมบัติส่วนรวม ป่าก็เช่นกัน สาธารณะอยากได้ป่า คนเมืองก็อยากได้น้ำ คนชนบทก็บอกว่าอยากได้ชีวิตที่ดีด้วย ลูกหลานได้เรียน สิ่งเหล่านี้ที่ต้องมีการชดเชยให้พวกเขา ดังนั้นการคืนพื้นที่ จะต้องเป็นไปด้วยความเต็มใจ และเป็นไปด้วยการตกลงซึ่งกันเเละกัน
นายสำรวย กล่าวอีกว่า ถ้าการจะเข้าไปปลูกป่าอย่างผิดที่ผิดทาง แนะนำให้อยู่บ้านเฉยๆ ดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นความหวังดีจะกลายเป็นข้อขัดแย้งใหม่ของพื้นที่ สมมติเราไปปลูกในพื้นที่โล่งเลย เรามองว่าโล่ง แต่ตอนนั้นไม่ใช่ช่วงทำกิน พอถึงช่วงเพาะปลูก สุดท้าย ต้นไม้ที่หย่อนปลูกก็หมดอยู่ดี แล้วเราก็ไปกล่าวหาพวกเขาว่า ไม่มีจิตสำนึกกันอีก จึงอยากเสนอ 4 ข้อ เพื่อเป็นวิธีการร่วมมือ
1. เราสร้างกลไก ที่จะร่วมมือกันได้ เช่นผู้บริโภคร่วมมือกับผู้ผลิต เชื่อว่าบริษัท ห้างร้านจะได้สินค้าดีๆ จากชาวบ้าน ชาวบ้านที่อยู่บนดอย ก็อยากขายของ ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็โดนกินหัวคิว ไม่มีเงิน ก็ไม่มีทางไป แต่ถ้าเขาสามารถทำสิ่งเล็กๆ ดีๆ แล้วยังได้เงิน เขาก็จะคืนผืนป่า
2. พัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชน พัฒนากองทุน เพื่อการพัฒนาผืนป่า อย่างเช่น การให้เงินคืนอย่างน้อยๆ คนละ 10 บาทก็สามารถสร้างต้นไม้ได้เเล้วหนึ่งต้น แต่ต้องให้ชาวบ้านเป็นคนสร้าง เป็นคนทำ ทำให้เราไม่จำเป้นต้องระดมทุน กับงบประมาณขนาดใหญ่ แต่เป็นการให้ปัจเจก ช่วยปัจเจก
3. ต้องใช้ความรู้แบบองค์รวม ไม่ใช่มิติเดียว ถ้าแก้ต้องแก้ด้วยความรู้นำ ไม่ใช่แค่ความเชื่ออย่างเดียว แล้วต้องย้ายชุดความรู้ไปยังชุมชนให้ได้
4. ในเมื่อเราอยู่ในยุคของทุนนิยมสุดขั้ว เราควรเปลี่ยนการประณาม การกล่าวหาว่าฝ่าย หนึ่งเป็นผู้ร้าย โดยการชวนเขามาแลกเปลี่ยนชดเชย จะด้วยระบบภาษี หรือระบบอะไรก็เเล้วแต่ เป็นความสัมพันธ์ใหม่
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในประเทศของเรามีปัญหามาอย่างยาวนาน การวางยุทธศาสตร์ต่างๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สอดคล้องกัน ถึงวันนี้เราบอกว่า ปัญหาที่ต้องแก้ คนต้นน้ำ ต้องเพิ่มพื้นป่า เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ แต่คนปลายน้ำไม่เคยรู้ว่า ตัวเองใช้น้ำจากลุ่มน้ำไหน
" เราไม่เคยรู้ว่าแม่น้ำ ทุกวันนี้ถูกเปลี่ยนเป็นคลองส่งน้ำหมดเเล้ว เพราะเราขุดต้นไม้ที่อยู่ริมน้ำออกหมดเลย เราขุดลอก เอาก้อนหินตามแหล่งน้ำออก" นายหาญณรงค์ กล่าว และว่า เราจึงประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนตกลงมาเท่าเดิม แต่ไม่มีอะไรดูดซับ ชะลอน้ำ สุดท้ายเราก็ท่วม เพราะการไม่ได้มองแม่น้ำในเชิงระบบนิเวศ วันนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง คนเมืองทำอะไร เราขึ้นป้ายรณรงค์ให้ใช้น้ำลดลง ถามว่ามีใครใช้น้อยลงจากช่วงธรรมดาบ้าง ไม่มี เพราะเรายังมองแยกส่วน เราจะเดือดร้อนสักที ก็เมื่อท่อประปาที่บ้านแตก
นายหาญรณงค์ กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ไม่ใช่เรื่องแก้ยาก การบริหารลุ่มน้ำทุกคนต้องมีส่วนร่วม คิดว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือการรายงานปริมาณให้ทราบว่า วันนี้ใช้ได้เท่าไร
"ผมเห็นด้วยกับการประกาศไม่ให้ทำนาปรัง แต่ต้องมีแจ้งล่วงหน้า และสิ่งที่เราต้องการคือการวางแผนลุ่มน้ำอย่างจริงจัง ทุกวันนี้เราวางแผนเฉพาะเรื่องที่จะทำให้เกิดงบประมาณ ต่อมาคือการมีกฎหมายรองรับ เราต้องการปรับให้มีปรับเรื่องการจัดการยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำ แต่ละแห่งควรมียุทธศาสตร์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่กำหนดใช้แบบเดียวกันทั้งประเทศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำสาขา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของน้ำ"
ขอบคุณภาพประกอบจาก:http://www.posttoday.com/