เด็กอาชีวะออกเรียนกลางคันพุ่ง 20% สาเหตุยากจน
กอศ.เผยต้นปีหน้าจัดตั้ง 19 สถาบันอาชีวะ ติวเข้มภาษาอังกฤษช่างกล เร่งแก้ปัญหาเด็กสายอาชีพส่วนใหญ่ออกเรียนกลางคันพุ่ง 20% สาเหตุยากจน เอาเวลาเรียนไปช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงปากท้อง
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารส่วนกลางเพื่อขับเคลื่อนอาชีวศึกษาสู่การมีงานทำในประชาคมอาเซียน ที่โรงแรมเอส ดี เอสดีเอเวนิว ว่าในปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ การเดินหน้าจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา การประกันคุณภาพ และการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
โดยในส่วนของการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 19 แห่ง เพื่อให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามและส่งให้คณะรัฐมนตถรี(ครม.) พิจารณา คาดว่าไม่เกิน ธ.ค.นื้ และสามารถจัดตั้งสถาบันอาชีวะได้ภายใน ม.ค.55 เมื่อจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)และปริญญาตรี เพื่อยกมาตรฐานและดึงดูดนักศึกษาให้เข้ามาเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น
“ที่ผ่านมาอาชีวะมีปัญหาเรื่องเด็กออกกลางคันมากขึ้นถึง 20% โดยเหตุผล 3 ประเด็นหลัก คือเข้ามาเรียนแล้วพบว่าตัวเองไม่ถนัด ค่านิยมรักสบาย แต่ที่พบมากที่สุดคือส่วนใหญ่ยากจน ต้องใช้เวลาเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน จนเวลาเรียนไม่พอ เป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
นายชัยพฤกษ์ กล่าวถึงกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายโครงการ English Speaking Year 2012 โดยวางแผนให้ปี 2555 สถานศึกษาทุกสังกัดต้องจัดกิจกรรมการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูและนักเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน ว่า สอศ.มีการเรียนภาษาอังกฤษอยู่แล้วสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง 2 หน่วยกิต ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส. แต่สิ่งที่จะเน้นคือภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและภาษาอังกฤษเฉพาะสำหรับช่างที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานจริง โดยที่ผ่านมา สอศ.เตรียมความพร้อมเรื่องหลักสูตรรวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อผลิตช่างที่มีฝีมือมาตรฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 .