"กสทช."กำลังบอนไซวงการโทรทัศน์ไทย?
สิ่งที่เดาทั้งหมดนี้ เป็นความฝันลมๆแล้งๆ ของคนเสียศูนย์ จากการต้องทำตามกฎกติกาต่างๆของ กสทช. ที่ออกมากำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในช่วงปี 2555 - 2559 ตามแผนแม่บทฉบับที่ 1 ที่ กสทช. ตั้งเป้าไว้
กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีจำนวน 11 คน ได้เข้ามาทำหน้าที่ในปี 2555 โดยมีการกำหนดแผนการทำงานภายในระยะเวลา 5 ปี ที่เรียกว่า แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จำนวน 5 คนเข้ามากำกับดูแล ตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ดังนี้
วิสัยทัศน์
บริหารคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และให้มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึง ในกิจการด้านต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น
พันธกิจ
กำหนด จัดสรร และกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ ให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความจำเป็นของการประกอบกิจการ การใช้คลื่นความถี่ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่ โดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน มีเหตุผล และกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรม
แนวทางการจัดทำแผนแม่บท
การจัดทำแผนแม่บทที่ใช้ในการดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. จะมีหลักการพื้นฐานในการดำเนินการอย่างน้อยต้องคำนึงถึงแนวทางที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1) แนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ
2) แนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ
3) มาตรการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการบริการชุมชน
แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับนี้มีเป้าประสงค์
1) ประชาชนได้รับประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ถูกต้อง ทั่วถึง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
2) ผู้บริโภคได้รับบริการและคุ้มครองมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
3) ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม และสามารถใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ
4) ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีการแข่งขันได้อย่างเสรี ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม เนื้อหารายการมีคุณภาพ หลากหลาย เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
5) ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ มีมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพ (Codes of Conducts)
6) กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้รับการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ยุทธศาสตร์
แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีผลเสือบเนื่องมาแต่อดีต โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบการอนุญาตการประกอบกิจการประเภทต่างๆให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการวางรากฐานในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ต้องเริ่มจากการพัฒนากฎเกณฑ์และกลไกการกำกับดูแลที่สำคัญ การวางรากฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ตลอดถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี่ที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาวงการโทรทัศน์ ก่อนที่จะมี กสทช.
ทั้งหมดที่ได้หล่าวมานี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2555 ที่ กสทช. ทุกท่านที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ ยังมีความเป็นมือใหม่ และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศ เพื่อประโยชน์สาธารณะ หากดูจากยุทธศาสตร์ ที่ กสทช. เขียนไว้ จะพบว่า กสทช. มองเห็นปัญหาหลายประการ ที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ในปี 2555 โดยสามารถแยกออกมาได้ 5 ประเด็น คือ
1) การแก้ปัญหาเร่งด่วนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีผลเสือบเนื่องมาแต่อดีต โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบการอนุญาตการประกอบกิจการประเภทต่างๆให้ถูกต้องตามกฎหมาย
2) มุ่งเน้นการวางรากฐานในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ต้องเริ่มจากการพัฒนากฎเกณฑ์และกลไกการกำกับดูแลที่สำคัญ
3) การวางรากฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค
4) การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร
5) การพัฒนาการใช้เทคโนโลยี่ที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำหน้าที่ของ กสทช. คงต้องมาพิจารณาก่อนว่า ในอดีตก่อนปี 2555 เกิดอะไรขึ้นในวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยแบ่งพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนตามที่ กสทช. กำหนดคือ
1) กิจการที่ใช้คลื่นความถี่
เป็นกิจการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2498 โดยการใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดิน เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบ แอนะล็อก และได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆจนมีผู้ที่ได้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว 4 ราย จำนวน 6 ช่อง คือ กองทัพบก (ช่อง 5 , ช่อง 7) อสมท. (ช่อง 9 ช่อง 3) กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) และ ThaiPBS เป็นผู้ประกอบกิจการอยู่เดิมจนถึงปี 2555 ที่ กสทช. เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล
ในมุมมองของ กสทช. มองเห็นปัญหา 3 ประการคือ
1.1) มีการใช้คลื่นอย่างไม่มีประสิทธิ์ภาพ
เป็นการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบ แอนะล็อก 6 คลื่น แล้วได้ช่องรายการโทรทัศน์ 6 ช่อง โดยมีความคมชัดของสัญญาณในระบบ แอนะล็อก ซึ่งถือเป็นการใช้คลื่นความถี่ที่ไม่คุ้มค่า ควรเปลี่ยนระบบการให้บริการมาเป็นระบบ ดิจิตอล เพราะ จะได้ช่องสัญญาณโทรทัศน์มากกว่าเดิม หลายเท่า และสามารถทำให้มีความคมชัดของสัญญาณภาพได้ทั้งระบบ ความคมชัดมาตรฐาน (SD) และความคมชัดสูง (HD) ซึ่งดีกว่าระบบ แอนะล็อกเดิมมาก
1.2) การจัดสรรช่องโทรทัศน์อาจไม่โปร่งใส
กสทช. มองว่า การที่กองทัพบกเอาความถี่ที่มีไปให้เอกชนไปหาประโยชน์ (ช่อง 7) และ อสมท. เอาความถี่ที่มีไปให้เอกชนไปหาประโยชน์ (ช่อง 3) เป็นการดำเนินการที่อาจจะไม่โปร่งใส และไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณะเท่าที่ควร จึงควรมีการเปลี่ยนแปลง
1.3) ช่องรายการโทรทัศน์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จำนวนช่องรายการโทรทัศน์ฟรีทีวี ที่มีอยู่ 6 ช่องเดิม ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชน ควรมีช่องโทรทัศน์ฟรีทีวี เพื่อบริการชุมชน บริการสาธารณะ และบริการธุรกิจ เพิ่มขึ้นให้มากเพียงพอต่อความต้องการ
ปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่ได้
การแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะ คลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม ถูกเอาไปใช้ประโยชน์ในระบบ แอนะล็อกจำนวน 6 คลื่น และยังไม่หมดสัญญาที่ผูกพันกันไว้ จึงยังไม่สามารถเอาคลื่นดังกล่าวเปลี่ยนมาเป็นระบบ ดิจิตอล เพื่อเพิ่มช่องรายการโทรทัศน์ให้มีเพิ่มขึ้นได้ กสทช. จึงแก้ปัญหาโดยการจัดสรรคลื่นความถี่ชุดใหม่ขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อให้บริการในระบบดิจิตอล โดยเป็นการให้บริการคู่ขนานไปกับระบบ แอนะล็อก ที่ให้บริการอยู่เดิม
เปิดช่องทีวีภาคพื้นดินใหม่อีก 1 ชุด
ประเด็นที่สำคัญคือ ช่องรายการในระบบดิจิตอล ที่ กสทช. จะเปิดให้บริการใหม่ เพื่อเพิ่มช่องรายการให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ต้องมีช่องรายการ 3 ประเภทคือ บริการชุมชน , บริการสาธารณะ และบริการธุรกิจ จะมีจำนวนกี่ช่องจึงจะเหมาะสม (สุดท้าย กสทช. กำหนดว่าต้องมี 48 ช่อง โดยจัดสรรคลื่นความถี่ให้ใหม่ 6 ความถี่ เพื่อให้ได้ บริการชุมชน 12 ช่อง บริการสาธารณะ 12 ช่อง บริการธุรกิจ 24 ช่อง)
ช่องทีวีเก่า 3 ช่องต้องเข้าประมูลใหม่
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ช่องรายการโทรทัศน์ระบบ แอนะล็อกเดิม มี 6 ช่อง แบ่งออกเป็น ช่องสาธารณะ 3 ช่อง(ไม่มีโฆษณาสินค้า) คือ ช่อง 5 , ช่อง 11 และ ThaiPBS ช่องธุรกิจมี 3 ช่อง(มีโฆษณาสินค้า) คือ ช่อง 3 , ช่อง 7 และ ช่อง 9 โดยช่องรายการทั้ง 6 ช่องดังกล่าวเป็นช่องรายการที่ประชาชนคนไทยรับชมมานาน สำหรับช่องสาธารณะ 3 ช่องเดิม กสทช. สามารถจัดสรรให้อยู่ในระบบ ดิจิตอลชุดใหม่ได้ทันที เพราะไม่ต้องประมูล ส่วนช่องทางธุรกิจอีก 3 ช่อง กสทช. ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ ผู้ประกอบกิจการจะต้องไปประมูลคลื่นความถี่เอาเอง หากชนะก็ได้เผยแพร่ หากแพ้ก็ไม่ได้เผยแพร่ในระบบดิจิตอล
การกำหนดจำนวนช่องทีวีภาคพื้นดินทางธุรกิจมีความสำคัญ
ประเด็นที่เป็นจุดสำคัญในเรื่องนี้คือ จำนวนช่องรายการโทรทัศน์ทางธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบ ดิจิตอล ควรจะมีกี่ช่อง จึงจะเหมาะสม เพื่อตอบโจทก์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนยุทธศาสตร์ ตามที่ กสทช. ได้กำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆที่ กสทช. มองเห็นใน 5 ประเด็นของแผนยุทธศาสตร์ข้างต้น
ใครควรมีหน้าที่จัดสรรเม็ดเงินค่าโฆษณา
ทุกคนมองเห็นว่า เม็ดเงินโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ก่อนที่จะมี กสทช. มีจำนวนกว่า 70,000 ล้านบาท/ปี และในอนาคตอาจถึง 100,000 ล้านบาท/ปี โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ของเงินก้อนนี้เพียง 3 กลุ่มคือ กลุ่มช่องทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก 4 ช่อง คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และ กลุ่มช่องทีวีผ่านดาวเทียมกว่า 200 ช่อง และ กลุ่มช่องเคเบิลทีวีของ True Vision โดยรายได้ดังกล่าวกว่า 90% อยู่ในมือของช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบ แอนะล็อก 4 ช่องหลัก เม็ดเงินโฆษณาก้อนนี้ กสทช. ควรมีหน้าที่เข้าไปทำการจัดสรรปันส่วนใหม่หรือไม่ หรือควรปล่อยให้เป็นการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมของภาคธุรกิจ โดย กสทช. คอยกำกับดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยมองถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง ไม่ใช้ผลประโยชน์ของเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นสำคัญ
จากนี้ไปคือการเดา เดา และ เดาเท่านั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กสทช. น่าจะมองหาช่องทางที่จะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจ 24ช่อง ที่เกิดขึ้นใหม่ (กลุ่มใหม่) จะสามารถไปแย่งเม็ดเงินโฆษณาจำนวน 70,000 ล้านบาท/ปี ก้อนนี้มาได้ (เรื่องนี้ไม่มีในวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ แต่น่าจะเป็นภาระหน้าที่นอกแผนแม่บท) สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นน่าจะเป็นวิธีการส่งช่องรายการทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจจำนวนมากเข้ามาลุมกินโต๊ะ กลุ่มช่องรายการที่เคยได้รับผลประโยชน์เดิมทั้ง 3 กลุ่ม ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์
1) กำหนดให้มีช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจมีมากถึง 24 ช่อง (เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ของทุกกลุ่มให้ลงตัว)
2) กำหนดให้ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ต้องอยู่ในกฎ Must Carry (ทำให้ทุกโครงข่าย ทั้งโครงข่ายดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องนำไปเผยแพร่ด้วยจะได้มีคนดูมากๆ) ไม่ได้เผยแพร่เฉพาะในโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอลตามหลักการณ์เดิมเท่านั้น (ประเด็นนี้คือหัวใจของเรื่องทั้งหมด)
กฎ Must Carry ทั่วโลกใช้ในทางที่ดี แต่เมื่ออยู่ประเทศไทยกลายเป็นกฎที่ .....
การออกกฎ Must Carry ปกติทั่วโลกมักจะทำเฉพาะช่องทีวีสาธารณะ (ที่ไม่มีโฆษณา) ที่รัฐเห็นความจำเป็นที่ประชาชนจำเป็นจะต้องรับชมเท่านั้น แต่ครั้งนี้เป็นการออกกฎ เพื่อสอดใส้ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง (สามารถมีโฆษณาได้ 12 นาที/ชั่วโมง) เข้ามาเพื่อให้ถูกนำไปเผยแพร่ในทุกโครงข่ายด้วย ทั้งๆที่เป็นช่องรายการทางธุรกิจเหมือนกับช่องดาวเทียม หรือช่องเคเบิลทีวีทั่วไป (ที่มีโฆษณาได้ 5 นาที/ชั่วโมง) ที่ปกติจะสามารถเผยแพร่ได้เฉพาะโครงข่ายของตนเอง การสอดใส้ครั้งนี้ จึงทำให้ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง ได้เปรียบช่องดาวเทียม และช่องเคเบิลทีวีมากเพราะทำให้สามารถเผยแพร่ได้ในทุกโครงข่าย
ซึ่งความจริง กสทช. ควรปล่อยให้ช่องทีวีทางธุรกิจ (ที่หารายได้จากการโฆษณา) ทุกประเภทมีการแข่งขันกันเอง ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ดังนั้นช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง จึงไม่ควรอยู่ในกฎ Must Carry มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อ กสทช. สอดใส้เข้ามา ปัญหาจึงติดตามมาอย่างมากมายในปัจจุบัน
3) กำหนดให้ทุกโครงข่าย ทั้งโครงข่ายดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องจัดเรียงช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ให้ตรงกับโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุกิจ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง (เพื่อง่ายต่อการจดจำและขายโฆษณาของ 24 ช่องได้ง่ายขึ้น) ทำให้ผู้ประกอบกิจการโครงข่าย ทั้งดาวเทียมและเคเบิลทีวี ขาดจุดเด่นในการสร้างสรรความแตกต่างช่องรายการ เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันทางการตลาด ของแต่ละโครงข่าย
4) กำหนดให้ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง อยู่ในตำแหน่งที่ 1-36 แทนตำแหน่งของช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี เพื่อทำให้ประชาชนจดจำตำแหน่งช่องดาวเทียม กับช่องเคเบิลทีวีไม่ได้ ทำให้ Rating ตก เป็นการแทรกแซงตลาดโดยจงใจให้ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาถูกถ่ายเทจากช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี ไปยังช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องแทน
เป้าหมายของ กสทช. คืออะไร
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กสทช. ได้ออกกฎกติกาต่างๆออกมา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจ 24 ช่อง ให้ได้เปรียบในการแข่งขันในทางธุรกิจ เพื่อแย่งเม็ดเงินโฆษณากับ ช่องทีวีแอนะล็อกภาคพื้นดิน ช่องทีวีผ่านดาวเทียม และช่องเคเบิลทีวี นี่คือภาระหน้าที่ของ กสทช. ตามที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ใน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนยุทธศาสตร์ ตามแผนแม่บท 5 ปี (ฉบับที่ 1) หรือไม่ หรือภาระกิจหลักของ กสทช. ในกิจการใช้คลื่นความถี่คือ ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจ 24 ช่องอยู่ให้ได้ ส่วนช่องรายการทางธุรกิจประเภทอื่นๆ อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ปิดไป
2) กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
เป็นกิจการที่ไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เช่น กิจการเคเบิลทีวีทางสาย และกิจการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526โดยผู้ประกอบกิจการทั้ง 2 กลุ่มแบ่งออกเป็น
2.1) กลุ่มช่องรายการ (Content Provider) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
2.1.1) กลุ่มช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม เช่น Fan Music , RS 2 , News 1 , DMC เป็นต้น
2.1.2) กลุ่มช่องรายการเคเบิลทีวี เช่น HBO , True Sport , Universal , SyFy , ข่าวท้องถิ่น เป็นต้น
2.2) กลุ่มผู้ประกอบกิจการ (Operator) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
2.2.1) กลุ่มผู้ขายจานดาวเทียมแบบฟรีทีวี เช่น PSI , Big4 , IPM เป็นต้น
2.2.2) กลุ่มผู้ขายเคเบิลทีวีระดับชาติ (Pay TV) เช่น True Vision , CTH เป็นต้น
2.2.3) กลุ่มผู้ขายเคเบิลทีวีระดับท้องถิ่น (Pay TV) เช่น เจริญเคเบิลทีวี (กรุงเทพ) , VTV (เชียงใหม่) , Home TV (อุดร) , โสภณเคเบิลทีวี (พัทยา) , ภูเก็ตเคเบิลทีวี (ภูเก็ต) เป็นต้น
กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้
กลุ่มกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่นี้ ตามแผน ยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีผลสืบเนื่องมาแต่อดีต โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบการอนุญาตการประกอบกิจการประเภทต่างๆให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับกลุ่มช่องรายการ 2 กลุ่ม และ กลุ่มผู้ประกอบกิจการโครงข่าย 3 กลุ่ม ที่ได้กล่าวไปแล้ว ให้สามารถประกอบกิจการได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อกำหนดในการออกใบอนุญาตคือตัวปัญหา
แต่การที่จะได้รับใบอนุญาตต่างๆจาก กสทช. ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดต่างๆที่ กสทช. ได้กำหนดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ กสทช. กำหนดขึ้น จะมีทั้ง ข้อกำหนดที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการขอรับใบอนุญาต และข้อกำหนดที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว ซึ่งจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อกำหนดเพิ่มเติมในภายหลังเหล่านี้ได้สร้างปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จนไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้ เช่น
กลุ่มช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม
โดยธรรมชาติของช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมคือต้องการให้มีผู้รับชมเป็นจำนวนมาก ใครอยากดูก็ดูได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อ จะได้มีรายได้จากการขายสินค้า หรือขายโฆษณาได้มาก ซึ่งเดิมไม่ว่าจะใช้กล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ที่ผลิตเป็นมาตรฐานจากประเทศใด ก็จะสามารถใช้รับชมช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมได้ ทำให้ฐานผู้รับชมขยายไปสู่ประเทศข้างเคียงได้ตามประสิทธิภาพของจานดาวเทียมไทยคม ซึ่งเป็นผลดีกับการขายโฆษณา และขายสินค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กสทช. ออกหลักเกณฑ์เพื่อ "ฆ่า" ช่องทีวีผ่านดาวเทียม
แต่เมื่อ กสทช. ไปกำหนดให้ ช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมจะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นช่องทีวีแบบบอกรับสมาชิกเท่านั้น จึงจะสามารถให้บริการได้ หากใครต้องการจะรับบริการจะต้องใช้กล่องรับสัญญาณตามที่ กสทช. กำหนด หรือต้องทราบรหัสเปิดช่อง จึงจะสามารถรับชมช่องรายการได้ เมื่อเอาเรื่องนี้ไปประกอบกับการต้องย้ายตำแหน่งช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม จากเดิมที่เคยอยู่ตำแหน่งต้นๆ ให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ 37 เป็นต้นไปแล้ว ทำให้จำนวนผู้รับชมช่องรายการทีวีผ่านดาวเทียม มีโอกาสรับชมได้น้อยลง การมีข้อจำกัดมากขึ้น ผลก็คือ Rating ตก รายได้จากการโฆษณาได้น้อยลง ขายสินค้าได้น้อยลง สุดท้ายก็ขาดทุน และปิดกิจการในที่สุด
กสทช. ปิดโอกาสช่องดาวเทียมของคนไทย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ช่องรายการของคนไทย แทนที่จะสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลกตามเทคโนโลยี่ที่มี กลับต้องจำกัดตนเองให้เผยแพร่ได้เฉพาะในประเทศไทย ในขณะที่ช่องฟรีทีวีของต่างประเทศ สามารถเผยแพร่ให้คนไทยได้รับชมอย่างไม่มีข้อห้าม ทำให้คนไทยเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ไม่มีโอกาสรุกไปยังประเทศอื่นๆได้ เราทำเช่นนี้เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร
ช่องดาวเทียม "ตาย" ช่องทีวีดิจิตอล "รอด"
เมื่อจำนวนช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียมลดลง ด้วยสาเหตุต่างๆ ประชาชนก็จะหันไปดูช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องมากขึ้น Rating ของ 24 ช่องก็จะเพิ่มขึ้น รายได้จากการโฆษณาก็จะเพิ่มขึ้น กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องก็จะอยู่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จะเป็นความจงใจ หรือความบังเอิญ ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ ช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมส่วนใหญ่ กำลังเข้าแถว เดินตามเพื่อนๆที่ได้ปิดตัวเองไปแล้วกว่า 50 ช่อง ปีนี้น่าจะตามไปอีกหลายสิบช่อง งานนี้ไม่ทราบว่าผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นไปตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ที่ กสทช. ได้วางไว้แต่ต้นหรือไม่
กลุ่มช่องรายการเคเบิลทีวี
โดยธรรมชาติ กลุ่มช่องรายการเหล่านี้ไม่ได้หวังรายได้จากการโฆษณา (เพราะมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ช่องรายการ) แม้กฎหมายจะกำหนดให้สามารถมีโฆษณาได้ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่า กสทช. จะออกข้อกำหนดใดๆออกมา ช่องรายการเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบไม่มาก นอกจากช่องรายการของ True Vision เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ ส่วนช่องรายการข่าวท้องถิ่นของเคเบิลท้องถิ่น ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยได้เม็ดเงินค่าโฆษณาจาก Agency อยู่แล้ว
กลุ่มผู้ขายจานดาวเทียมแบบฟรีทีวี
ในปัจจุบัน คนไทยกว่า 70% รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบโครงข่ายจานดาวเทียม ซึ่งมีช่องรายการกว่า 150 ช่อง ด้วยกฎ Must Carry ทำให้ผู้ที่ติดต้ังจานดาวเทียมสามารถรับชมช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องได้ด้วย ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้ ยอดผู้รับชมโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายจานดาวเทียมไม่ลดลง แม้ช่องทีวีผ่านดาวเทียมจะถูกผลักให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ 37 เป็นต้นไป ก็ไม่กระทบกับผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียม แต่จะไปกระทบช่องดาวเทียมแทน
กสทช. ต้องการให้คนไทยดูช่อง ฟรีทีวี ผ่านระบบอะไร
ความจริง น่าเชื่อว่า กสทช. ต้องการให้ประชาชนเลิกดูทีวีผ่านระบบจานดาวเทียม กสทช. น่าจะต้องการให้ประชาชนเปลี่ยนไปรับชมช่องฟรีทีวีผ่านเสาทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล DVB-T2 ให้ได้มากที่สุดจะดีกว่า เพราะในระบบนี้จะมีเพียงช่องทีวีดิจิตอล 48 ช่องเท่านั้น จะไม่มีช่องดาวเทียมมาแย่ง Rating ให้ลำคาญใจ การแจกคูปองเพื่อแลกกล่อง DVB-T2 จำนวน 23 ล้านกล่อง จึงเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับชมฟรีทีวีแบบฟรีๆ เมื่อเอามาผนวกกับการพยายามทำให้ช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียมลดจำนวนลง เพื่อให้ความสำคัญของจานดาวเทียมลดลง ประชาชนอาจหันมารับชมฟรีทีวีผ่าน ทีวีภาคพื้นดินระบบ DVB-T2 มากขึ้นก็ได้
โครงข่ายจานดาวเทียม "ตาย" กล่อง DVB-T2 "รอด"
ดังนั้นยิ่งกลุ่มจานดาวเทียมขายได้น้อยเท่าใด หรือมีปัญหามากเท่าใด โอกาสของประชาชนในการดูทีวีผ่านเสาทีวีภาคพื้นดินระบบ DVB-T2 ก็จะสูงขึ้น คนขายกล่อง DVB-T2 ก็จะพอใจ เพราะขายได้มากขึ้น กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องก็จะมีความสุขมากขึ้น เพราะสามมารถปิดประตูตีแมวได้สะดวกขึ้น กสทช. ก็น่าจะมีความสุขมากกว่าเดิม เพราะสามารถช่วยเหลือลูกรักได้ทุกคน ส่วนกลุ่มลูกชังใครจะมีความทุกข์ ไม่เกี่ยวกับ กสทช. เพราะสิ่งที่ทำไป เป็นหน้าที่ที่ต้องทำตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ที่ กสทช. ได้วางไว้ตามแผนแม่บท 5 ปีทั้งสิ้น
กลุ่มเคเบิลทีวีระดับชาติ
กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ระบผลกระทบจาก กสทช. น้อยที่สุด เพราะมีใบอนุญาตประกอบกิจการมาแต่ต้น และมีการให้บริการในระบบดิจิตอล ซึ่งมีช่องรายการลิขสิทธิ์มากมาย และประชาชนที่รับชมเคเบิลทีวีระดับชาติกลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง สามารถจ่ายค่าบริการที่สูงได้ และมีความต้องการรับชมช่องรายการลิขสิทธิ์เฉพาะ คู่แข่งไม่มี (ผูกขาดอยู่รายเดียว) ประชาชนจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ดังนั้นการออกข้อกำหนดใดๆของ กสทช. จึงไม่น่าจะกระทบกับกลุ่มนี้ เพราะรายได้ไม่ลดลงแน่นอน นอกจากจะสร้างความลำคาญบ้างเท่านั้น
กลุ่มเคเบิลทีวีท้องถิ่น
ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นมีเป็นจำนวนมากกว่า 350 รายกว่า 80% เป็นผู้ให้บริการในระบบแอนะล็อกเพียงระบบเดียว โดยมีช่องรายการให้บริการประมาณ 60 ช่อง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกฎ Must Carry และกฎการเรียงช่อง 1-36 มากที่สุด เพราะมีข้อจำกัดในทางเทคนิคที่ไม่สามารถเพิ่มช่องรายการได้ เมื่อต้องถูกบังคับให้เปิดช่องรายการถึง 36 ช่อง เพราะหากทำตามจะทำให้เหลือช่องลิขสิทธิ์ที่นำมาให้บริการกับสมาชิกเป็นการเฉพาะเพียง 24 ช่อง ที่สำคัญช่องลิขสิทธิ์เดิมที่เคยให้บริการจะต้องถอดออกเพื่อเปิดทางให้ 36 ช่องของ กสทช. ได้เข้ามาทดแทน การเก็บค่าบริการรายเดือนจะทำได้ยากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ เคเบิลท้องถิ่นที่ยอมทำตามกฎ กสทช. ฐานสมาชิกก็ลดลง เพราะเปลี่ยนไปรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB-T2 เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการ ในปีที่ผ่านมาน่าจะปิดกิจการไปแล้วประมาณ 50 ราย ส่วนที่เหลือก็ไม่ยอมจัดเรียงช่องตามที่ กสทช. กำหนด ทุกอย่างยังทำเหมือนเดิม การให้บริการก็ยังพออยู่ได้ คงต้องรอจนกว่า กสทช. จะไปจับและสั่งปิดกิจการเพราะไม่ยอมทำตามที่ กสทช. กำหนดเท่านั้น
เคเบิลท้องถิ่นจะรอดได้อย่างไร
ทางรอดของเคเบิลท้องถิ่นมีวิธีเดียวคือ ต้องลงทุนทำระบบดิจิตอล ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ในต่างประเทศ รัฐจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนค่ากล่องรับสัญญาณให้ประชาชน แต่ กสทช. ของไทย เคเบิลท้องถิ่นต้องช่วยตนเอง ประชาชนต้องจ่ายค่ากล่องรับสัญญาณในการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลเอง ใครทำได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ต้องปิดกิจการไป หากทำผิดกฎหมาย กสทช. ก็จะช่วยปิดกิจการให้ เรื่องจะได้จบ แนวทางเช่นนี้ น่าจะตรงใจ กสทช. ตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ที่ กสทช. ได้วางไว้แต่ต้นนั้นเอง
ผลที่ กสทช. น่าจะคาดเดาได้
หากการทำตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) แล้วได้ผลตามที่ได้คาดเดามาข้างต้น และ กสทช. มองว่าเป็นการทำงานตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ที่ กสทช. ได้วางไว้แต่ต้น ทุกอย่างคงจะจบลงด้วยดี เพราะ สุดท้ายน่าจะเกิดผลดังนี้
1) กลุ่มช่องฟรีทีวี ระบบแอนะล็อก ภาคพื้นดิน 6 ช่อง
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มช่อง 3,5,7,9,NBT และ ThaiPBS ที่ประชาชนรับบริการผ่านเสาก้างปลาอยู่เดิม (อย่าสับสนกับช่อง 3 HD , 5 HD , 7 HD , MCOT HD , NBT HD และ ThaiPBS HD ในทางกฎหมายถือเป็นคนละช่องกันแม้ในปัจจุบันจะมีรายการเหมือนกัน) ในอนาคตจะต้องปิดตัวเองลงทั้งหมด โดยเชื่อว่า กสทช. จะถือปฎิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยการทำตามเงื่อนไขในสัญญา ตามที่ช่องรายการในระบบแอนะล็อคบางช่อง ได้มีการขอต่อสัญญาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิด กสทช. และเมื่อช่องใดครบสัญญาแล้ว หรือ กสทช. สามารถเจรจาปิดช่องได้ กสทช. ก็จะปิดช่องรายการนั้นๆไปจนกว่าจะครบทั้ง 6 ช่อง
2) ช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล
เป็นกลุ่มช่องรายการ 48 ช่องที่ กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่จำนวน 6 คลื่นเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่เพื่อทำเป็นช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เพื่อเตรียมทดแทนช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก 6 ช่องเดิม โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
2.1) ช่องทีวีชุมชน 12 ช่อง
ในปัจจุบันช่องรายการในกลุ่มนี้ กสทช. น่าจะยังไม่เห็นความจำเป็นต้องมีในเวลานี้ จึงยังไม่มีความเคลื่อนไหวในการเปิดช่องทีวีชุมชนขึ้นมา อาจเป็นเพราะหน่วยราชการ หรือ ทหาร ไม่ได้ประโยชน์จึงไม่มีคนไปเร่งรัด หรือ หากจะมีขึ้นจริง กสทช. ก็น่าจะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะคนที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นประชาชน หรือชุมชนในต่างจังหวัด ที่ไม่สามารถให้ผลประโยชน์ หรือให้คุณให้โทษกับใครได้ เพราะไม่สามารถเอาคลื่นดังกล่าวไปประมูลเพื่อให้มีรายได้เป็นตัวเงินได้ ที่สำคัญยังต้องมากำกับดูแลทางด้านเนื้อหาเพิ่มเติม ต้องมาควบคุมให้ไม่มีโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อจะได้ไม่ไปแย่งเม็ดเงินโฆษณาจากช่องฟรีทีวีทางธุรกิจภาคพื้นดิน 24 ช่อง ซึ่งยุ่งยากในการควบคุมและกำกับดูแล และช่องรายการเหล่านี้ ในอนาคตอาจตกเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของนักการเมือง
ดังนั้น การเป็นช่องทีวีชุมชนในกิจการโทรทัศน์ ตามเจตนาของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกฉีกไปแล้ว กสทช. จึงน่าจะยังไม่เห็นความจำเป็นในเวลานี้
2.2) ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง
ช่องรายการในกลุ่มนี้ โดยหลักจะไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาในทางธุรกิจได้ กสทช. ตั้งใจจะยกให้เป็นช่องรายการของหน่วยราชการต่างๆ เพื่อผลิตรายการดีๆ มีประโยชน์ให้ประชาชนรับชมโดยไม่มีโฆษณามารบกวน ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 4 ช่องคือ ช่อง 5 HD ของกองทัพบก (ได้รับสิทธิพิเศษให้มีโฆษณาในทางธุรกิจได้บ้างตามความเหมาะสม) , ช่อง NBT HD ของกรมประชาสัมพันธ์ , ช่อง ThaiPBS HD ของทีวีสาธารณะ และ TPTV ของรัฐสภา ช่องที่เหลือยังอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองกัน โดยกลุ่มช่องทีวีสาธารณะดังกล่าวได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในตำแหน่งหมายเลขช่องที่ 1-12 ของทุกโครงข่าย
กลุ่มช่องดังกล่าวจึงเป็นที่หมายปองของหน่วยราชการต่างๆเพื่อจะได้มีช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยงานของตนเอง เหมือนที่ คสช. กำหนดให้ช่องรายการโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องถ่ายทอดรายการของ คสช. ให้ประชาชนรับชมเป็นประจำทุกวันในปัจจุบัน หากในอนาคตมีช่องทีวีสาธราณะของหน่วยราชการครบทั้ง 12 ช่อง ประชาชนจะได้รับชมรายการที่ดี และมีประโยชน์ของหน่วยราชการที่จะผลิตขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้รับชมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับทราบความเคลื่อนไหวของหน่วยราชการ โดยละเอียด ทุกแง่ทุกมุม ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนประชาชนทุกคนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ เหมือนที่ คสช. ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างมาแล้ว
2.3) ช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง
ช่องรายการในกลุ่มนี้ เป็นช่องทีวีธุรกิจโดยแท้ สามารถมีโฆษณาได้ 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง และได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในตำแหน่งช่องหมายเลข 13-36 ของทุกโครงข่ายโทรทัศน์ ตามกฎ Must Carry และกฎการเรียงตำแหน่งช่องด้วย การที่ กสทช. จำเป็นต้องกำหนดให้ช่องทีวีธุรกิจทั้ง 24 ช่องได้รับสิทธิพิเศษเหมือนช่องทีวีสาธารณะน่าจะเป็นเพราะช่องรายการธุรกิจในกลุ่มนี้ กสทช. เล็งเห็นว่า เป็นช่องรายการที่ดี มีคุณภาพสูง มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องดู เพราะน่าจะมีการผลิตรายการได้ดี มีประโยชน์ ถูกต้องตามเป้าหมายที่ กสทช. ตั้งเป้าไว้ทุกประการ รวมทั้งมีรายการโฆษณาสินค้าครบ 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีโฆษณาเกิน ไม่มีโฆษณาแฝง ไม่มีโฆษณาหลอกลวง สินค้าที่เอามาโฆษณาทุกรายการมีคุณภาพดี ประชาชนควรให้การสนับสนุนซื้อสินค้าที่มาโฆษณาในช่องรายการของกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องกังวล เท่าที่ติดตามดูพอจะเห็นประโยชน์ของช่องรายการในกลุ่มนี้คือ
1) ให้ประชาชนได้รับชมช่องรายการบันเทิง เกมส์โชว์ ที่มีความหลาย รูปแบบ ประชาชนจะได้มีแต่ความสุข ความบันเทิง ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เพื่อเปืดโอกาสให้ คสช. สามารถสร้างความสงบให้กับประเทศได้อย่างยาวนาน ตามที่ต้องการ
2) ประชาชนจะได้มีช่องทางในการไปออกรายการเกมส์โชว์ได้หลายช่อง เพื่อหารายได้เพิ่มและได้มีโอกาสแสดงความสามารถได้มากขึ้น เพราะมีหลายช่องให้เลือก ไม่ถูกช่องใดช่องหนึ่งเอาเปรียบเหมือนในอดีต มีรายการข่าวสารที่เหมือนๆกันทุกช่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับชมในช่วงเวลาใดก็ได้ ช่องใดก็ได้ตลอดเวลา
3) สำหรับการถ่ายทอดสด ติดต่อกันหลายชั่วโมง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ของช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินหลายช่อง กรณี ดร. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครยิงตัวตาย กรณีนี้ช่องที่กระทำอาจเข้าข่ายมีความผิด 2 ประการคือ
3.1) อาจเป็นการเผยแพร่พฤติกรรมแสดงออกถึงความรุนแรง ควรเผยแพร่ด้วยความระมัดระวัง
3.2) เป็นการเผยแพร่รายการถ่ายทอดสดโดยไม่เป็นไปตามผังที่ได้แจ้งไว้กับ กสทช.
ความผิดเช่นนี้เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย กสทช. จึงได้ออกจดหมายเตือนให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องลงโทษ ถึงอย่างไรช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจเหล่านี้ก็ยังมีประโยชน์ และ มีความจำเป็นที่ประชาชนทุกคนจะต้องรับชมโดยสม่ำเสมอ จึงสมควรให้เผยแพร่ตามกฎ Must Carry ต่อไป...อีกนาน
4) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการรับชมช่องรายการเหล่านี้ ในอนาคต กสทช. อาจพิจารณาใช้งบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแนะนำให้ประชาชนทุกคน ควรต้องดูช่องรายการฟรีทีวีทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง (ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง) โดยเท่าเทียมกัน ประชาชนไม่ควรเลือกดูช่องใดช่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือเป็นเวลานานเกินไป ประชาชนควรจะต้องเฉลี่ยเวลาในการรับชมช่องรายการทุกๆช่องให้เท่าๆกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันกันของช่องฟรีทีวีทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง เพื่อให้ผล Rating ที่วัดโดย AGB Neilsen ของทุกช่องออกมาเท่าๆกัน
4) หากประชาชนทำไม่ได้ หรือไม่ยอมทำตามคำแนะนำในข้อ 3 กสทช. อาจพิจารณาออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้กลุ่มโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะต้อง ติดตั้งระบบ ควบคุมการเปลี่ยนช่องแบบอัตโนมัต เพื่อให้ช่องรายการเปลี่ยนช่องแบบอัตโนมัตหากประชาชนเลือกดูช่องรายการใดนานเกินไป เพราะจะทำให้ช่องรายการฟรีทีวีทางธุรกิจบางช่องเสียเปรียบในการแข่งขัน ข้อกำหนดนี้อาจจะใช้บังคับกับกล่อง Set Top Box ระบบ DVB-T2 ของ กสทช. ไม่ได้ เพราะกล่องที่ผลิตขึ้นมาไม่ได้กำหนดคำสั่งแบบนี้ไว้
แต่สำหรับกล่องของดาวเทียม กับกล่องของเคเบิลทีวี แม้ไม่ได้กำหนดคำสั่งนี้ไว้ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบกิจการทั้ง 2 โครงข่ายจะต้องทำ เพราะ กสทช. มีอำนาจสั่งให้ทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในหมู่ช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่องได้ หากทั้ง 2 โครงข่ายไม่ทำจะต้องถูกลงโทษทางปกครอง ทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจถูกยึดใบอนุญาตได้
3) กลุ่มช่องรายการฟรีทีวีผ่านดาวเทียม
ช่องรายการเหล่านี้มีประมาณ 200 ช่อง ส่วนใหญ่เป็นช่องรายการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมี กสทช. ในปี 2555 ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กสทช. น่าเล็งเห็นว่า กลุ่มช่องรายการกลุ่มนี้ ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมากมาย ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ การโฆษณาเกินจริง การโฆษณาหลอกลวง ส่วนการผลิตรายการ การตัดต่อ การจัดรายการ ก็มีคุณภาพต่ำ ไร้รสนิยม ผู้ควบคุมช่อง ผู้กำกับรายการ มีการศึกษาต่ำ ไม่จบจากต่างประเทศ ไม่มีความรู้ทางด้านสื่อสารมวลชนที่ถูกต้อง หาอะไรดีไม่ค่อยได้ ความชั่วมีเยอะ ความดีไม่ค่อยปรากฎ แถมยังไปแย่งโฆษณากับช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องอีก ดังนั้น กสทช. จึงน่าจะจำเป็นต้องออกกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ช่องโทรทัศน์ดาวเทียมเหล่านี้ ถูกเผยแพร่สู่ประชาชนในวงกว้าง สิ่งที่เกิดกับช่องดาวเทียมหลังจาก กสทช. เข้ามาดูแลคือ
1) ถูกกำหนดให้เป็นช่องแบบบอกรับสมาชิก โดยเดิมช่องดาวเทียมของคนไทย หรือช่องรายการที่เป็นภาษาไทยทุกช่อง เป็นช่องรายการแบบฟรีทีวี การรับชมไม่ว่าจะใช้กล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) แบบ Free To Air ที่ผลิตจากประเทศใด ก็สามารถรับชม ผ่านดาวเทียมไทยคมได้ แต่ปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก ที่ต้องมีเงื่อนไขในการรับชม ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะควบคุมดูแลยาก ไม่เกิดประโยชน์กับคนไทย คนไทยควรดูช่องฟรีทีวีภาคพื้นดิน 36 ช่อง ที่ กสทช. สร้างขึ้นมาใหม่ ก็พอแล้ว หากไม่พอ กสทช. สามารถเพิ่มช่องให้ได้อีกแบบไม่จำกัด เพราะยังเหลือความถี่อีกมาก
2) ปัจจุบัน ช่องดาวเทียมปิดตัวเองไปมากกว่า 50 ช่องแล้ว และกำลังปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังปิดช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ ต่อไป กสทช. อาจจะพิจารณาออกกฎกติกาเพิ่มเติม เพื่อให้ช่องทีวีผ่านดาวเทียม กลายเป็นอดีตเหมือนไดโนเสาร์ในปัจจุบัน เพื่อให้ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่อง ไม่มีคู่แข่งมาตัดราคาค่าโฆษณาอีกต่อไป
3) หาก กสทช. สามารถปิดช่องดาวเทียมได้ทั้งหมด น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดง ที่ กสทช. น่าภูมิใจที่ได้ฝากผลงานชิ้นนี้ให้กับคนไทยทุกคน เพราะได้ปกป้องคนไทยจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมของช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม
4) กลุ่มช่องรายการทีวีแบบบอกรับสมาชิก
4.1) กลุ่มช่องรายการลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
ยังไม่ได้สร้างปัญหาใดๆให้กับ กสทช. แม้ว่าช่องรายการลิขสิทธิ์เหล่านี้จะสามารถหาซื้อได้เฉพาะผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีรายใหญ่ เช่น True Vision , CTH หรือ Grammy เท่านั้น โดยที่ผู้ประกอบกิจการรายเล็กยังไม่สามารถจะเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการดีจากจากต่างประเทศเหล่านั้นได้ด้วยตนเองได้ แม้ช่องลิขสิทธิ์เหล่านั้นจะไม่ได้ขายลิขสิทธิ์แบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว อย่างชัดเจน แต่การกำหนดราคาขายขั้นต่ำในการซื้อลิขสิทธิ์ เจ้าของช่องลิขสิทธิ์จะเป็นผู้กำหนดเองได้อย่างเสรี โดย กสทช. จะไม่มีข้อกำหนด (Wholesale Must Offer) ให้จะต้องแบ่งขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบกิจการรายเล็ก หรือประชาชนที่มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสดูช่องรายการลิขสิทธิ์ดีๆจากต่างประเทศบ้าง เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบาย การแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม
แม้แต่รายการลิขสิทธิ์ดีๆที่คนไทยทั่วประเทศต้องการดูเช่น ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีค กสทช. ก็ยังอนุญาตให้มีการซื้อลิขสิทธิ์แบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวได้ เรื่องอื่นๆก็ไม่ต้องพูดถึง.
4.2) กลุ่มช่องรายการข่าวท้องถิ่น
ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น กว่า 300 ช่อง ควรจะต้องปิดตัวเองลง เพราะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ และ กสทช. ไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการทำช่องข่าวท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้มีสื่อเป็นของตนเอง คนไทยทุกคนควรรับสื่อจากส่วนกลางโดยผ่านช่องฟรีทีวีของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินเท่านั้น หากคนในท้องถิ่นต้องการดูช่องรายการท้องถิ่น ให้รอดูจากช่องทีวีชุมชนที่ กสทช. จะออกใบอนุญาตเพิ่มเติมในอนาคตให้ เพราะ เคเบิลท้องถิ่นไม่สามารถจัดรูปแบบการผลิตช่องรายการให้มีมาตรฐานสูงเหมือนช่องทีวีดิจิตอลที่ กสทช. ตั้งขึ้นได้ แต่หากจะมีช่องข่าวท้องถิ่นใดที่สามารถทนอยู่ได้โดยไม่มีรายได้จากการโฆษณามาสนับสนุน กสทช. ก็ไม่ได้ว่าอะไร ยังคงสามารถให้บริการได้เหมือนเดิม แต่ต้องถูกเลื่อนตำแหน่งช่องที่เดิมเคยอยู่ในตำแหน่งช่อง 1 เป็นส่วนใหญ่ ให้ย้ายไปอยู่ในหมายเลข 37 ขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาสให้ช่องทีวีดิจิตอลได้รับความเป็นธรรมในการเลือกตำแหน่งช่อง 1-36 ตามที่ กสทช. ต้องการบ้าง เท่านั้น
ช่องทีวีชุมชนจะ Must Carry หรือไม่
ในอนาคต กสทช. อาจออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้ เคเบิลท้องถิ่นที่ยังประกอบกิจการอยู่ จะต้องทำ Must Carry โดยอาจกำหนดให้เคเบิลท้องถิ่นจะต้องเอาช่องทีวีชุมชนไปเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 12 ช่อง รวมของเก่า 36 ช่องเป็น 48 ช่องในโครงข่ายของเคเบิลท้องถิ่น หากช่องข่าวท้องถิ่นยังอยู่ได้ อาจต้องย้ายอีกครั้งให้ไปอยู่ที่ช่อง 49 ขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาสให้ความเป็นธรรมในการเรียงช่องกับช่องทีวีชุมชนเพิ่มเติม และเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อค ที่มีช่องรายการ 60 ช่องก็จะต้องกันพื้นที่ช่อง 1-48 ให้กับช่องทีวีดิจิตอลของ กสทช. เหลือพื้นที่อีก 12 ช่องไว้ทำมาหากิน เพื่อเก็บค่าบริการในการรับชมจากสมาชิก 350 บาท/เดือน ใครทนอยู่ได้ก็อยู่ไป ใครทนอยู่ไม่ได้ก็ปิดตัวเองไป เพราะนี้อาจเป็นแนวทางการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในความหมายของ กสทช. ก็ได้ เพราะท่านมีอำนาจเต็ม
บทสรุป
จากที่ได้กล่าวมา และได้คาดเดาออกมาให้อ่านในบทความชิ่นนี้ อาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ แต่เรื่องทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นผลได้ ในปี 2560 ว่า สุดท้ายแล้ว ความคาดหวังต่างๆของ กสทช. หรือ กสท. ที่ได้ฝันไว้ในแผนแม่บทฉบับที่ 1 จะบรรลุวัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์แฝงหรือไม่ คงจะติดตามดูได้ไม่ยาก
ผลที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ น่าจะเป็นดังนี้
1) ช่องทีวีแอนะล็อกภาคพื้นดิน 6 ช่อง จะต้องปิดตัวเองตามอายุสัญญาที่เหลือ
2) ช่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทางธุรกิจ 24 ช่อง (เหลือ 22) สามารถอยู่ต่อไปได้ครบ 15 ปีตามอายุใบอนุญาต โดย กสทช. จะสามารถหามาตรการ "พิเศษ" เพื่อช่วยให้ทุกรายอยู่ได้
3) กลุ่มผู้ขายกล่องดิจิตอล DVB-T2 จะสามารถระบาย Stock ออกจากโกดังได้ครบทั้ง 23 ล้านกล่อง ด้วยนโยบายลดข้อจำกัดต่างๆ ออกให้หมด หาช่องว่างทุกช่องที่เห็น เพื่อสนองนโยบาย "แจกฟรี" ทุกที่ทุกเวลา
4) กลุ่มช่องฟรีทีวีผ่านดาวเทียม ที่หารายได้จากการโฆษณา จะทะยอยตายตามกันไปเรื่อยๆ จะเหลือแต่ช่องรายการเฉพาะกิจ หรือช่องรายการที่มีภาระกิจพิเศษ ที่ไม่ต้องการหารายได้จากการโฆษณา
5) กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียม จะทะยอยลดการทำตลาดลงเพราะไม่มีช่องรายการดีๆให้คนไทยดูเหมือนในอดีต สุดท้ายอาจต้องควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเพื่อลดการแข่งขัน และลดต้นทุนการผลิต หลังจากนั้นก็จะชวนกันไปอินเดีย เพื่อทำใจให้สงบ
6) กลุ่มเคเบิลท้องถิ่น กสทช. คงไม่ต้องออกกฎกติกาอะไรออกมาเพิ่มเติม เพราะกฎเท่าที่มีอยู่เพียงพอที่จะกำจัดเคเบิลท้องถิ่นแล้ว เหลือเพียงการบังคับให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ก็ต้องตายยกแผงอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนรายที่ทำระบบดิจิตอล หากควบรวมกิจการกันให้มีขนาดที่ได้ Economy of Scale ได้ทัน ก็อาจมีทางรอดต่อไปจนครบ 15 ปีตามอายุใบอนุญาต แต่ถ้ายังยืนอยู่คนเดียวไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง ก็นับถอยหลังได้เลย
7) กลุ่มช่องข่าวท้องถิ่น คงไม่ต้องพูดถึง เพราะหารายได้ค่าโฆษณาจาก Agency ไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อบริษัทเคเบิลท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องตัดคือ งบสนับสนุนการผลิตข่าวท้องถิ่น จากเดิมที่คุณภาพแย่อยู่แล้ว ต่อไปคงไม่ต้องหวังอะไร
8) True Vision ต่อไป จะสมปรารถนาทุกประการ เพราะจะหมดเสี้ยนหนามเคเบิลท้องถิ่น ที่จะมาแย่งฐานสมาชิกก็คราวนี้ โดยไม่ต้องออกแรงใดๆ เพราะ กสทช. รับเป็นธุระจัดการให้เรียบร้อยในเร็ววันนี้ ขอบคุณ กสทช. ขอบคุณ จริงๆ
9) กลุ่มช่องลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ต่อไปคงต้องกลับไปสู่ยุคเก่าๆ ที่จะต้องไปคุกเข่าขอความเห็นใจจาก True Vision ให้ช่วยซื้อลิขสิทธิ์ ไปเผยแพร่ในโครงข่าย True Vision ด้วย เพราะไม่มีโครงข่ายอื่นมาแย่งซื้อแล้ว ส่วนราคาอยากจ่ายเท่าไร เชิญบอกมาเลยครับ
สิ่งที่เดาทั้งหมดนี้ เป็นความฝันลมๆแล้งๆ ของคนเสียศูนย์ จากการต้องทำตามกฎกติกาต่างๆของ กสทช. ที่ออกมากำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในช่วงปี 2555 - 2559 ตามแผนแม่บทฉบับที่ 1 ที่ กสทช. ตั้งเป้าไว้
ก็ได้แต่หวังว่า ในปี 2561 เป็นต้นไป คนไทยคงจะไม่เหลือทางเลือกเพียง 2 ทางคือ
1) หากจะดูฟรีทีวี ก็ต้องไปซื้อกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 เพื่อดูทีวี 48 ช่องของ กสทช
2) หากอยากเสียรายเดือน ก็ต้องโทรไปหา True Vision เพื่อขอร้องให้มาช่วยติดตั้งให้ด้วย
ส่วนทางเลือกอื่นๆ คงไม่มีให้เลือกแล้ว เพราะ กสทช. น่าจะช่วยกำจัดให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยแล้ว