‘สุภิญญา’ ยกกรณี ดร.ยิงตัวเอง ตบหน้าสื่อหลัก ถูกวิจารณ์ถ่ายสดไม่ยั้งคิด
นักวิชาชีพ-นักวิชาการ ถกร่วมหาทางออกวิกฤติสื่อไทย ยกเหตุการณ์ ดร.วันชัย กรณีตัวอย่าง ‘สุภิญญา’ เผยเป็นครั้งแรก กสทช.ส่งจม.เตือน หลังน้ำตาตกยุคตาลปัตร สื่อหลักถูกสังคมวิจารณ์ถ่ายสดไม่ยั้งคิด ด้าน ‘ดร.สุดารัตน์’ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ชี้ใช้ Facebook Live ต้องคำนึงเนื้อหา บุคคลสาธารณะต้องมีลิมิต ไม่พร่ำเพรื่อ ประเภทก่อนนอนขอไลฟ์
วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา หัวช้อ สื่อในวิกฤติ...ทางออกประเทศไทย? ในงานประกาศผลการตัดสินข่าวและสารคดีวิทยุโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2558 ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีสื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท ผู้ต้องหาตามหมายจับ ยิงตัวเองจนเสียชีวิต ทำให้ กสทช.เกิดภาวะน้ำตาตกในแง่ยุคปัจจุบันกลับตาลปัตร เพราะก่อนหน้านั้น สื่อกระแสหลักวิพากษ์วิจารณ์สื่อดาวเทียมว่า ถ่ายทอดสดไม่ยั้งคิด ไม่มีความเป็นกองบรรณาธิการ (บก.) แต่ครั้งนี้สื่อกระแสหลัก ซึ่งเป็นมืออาชีพ กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถ่ายทอดสดไม่ยั้งคิด
จึงไม่แน่ใจว่า ปรากฎการณ์ในรอบ 5 ปีที่ กสทช.ทำงานเดินมาถูกทางหรือไม่ ซึ่งได้ทบทวนเช่นกัน ทั้งนี้ ความสุดโต่งในสังคมไทยเกิดขึ้นเป็นระยะ อาจเปลี่ยนประเด็นจากความสุดโต่งถ่ายทอดสดการเดินขบวนบนท้องถนน อยากจะกล่าวหาใครก็ได้ มาเป็นการถ่ายทอดสดการไล่ล่าผู้ร้าย มีภาพนำปืนจ่อหัว ซึ่งสื่อมองว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ เหมือนกับการชุมนุมทางการเมืองที่เคยมองว่าเป็นประโยชน์สาธารณะเช่นกัน
“ความสุดโต่งหรือความคาดไม่ถึงของสื่อในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครควรทำให้สุดโต่ง วันนี้ตัวละครอาจสลับกัน ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การที่สังคมมืออาชีพเดินก้าวเข้ามาสู่การถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทุกวันนี้เดินมาถูกทางหรือไม่” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่า กสทช.ได้ทบทวน เพราะตลอดเวลา 5 ปี คิดว่าตัวเองยืนอยู่ข้างเสรีภาพของสื่อมวลชน หลายกรณีที่เข้ามาต้องมีการตัดสิน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยจะใช้กฎหมาย และกสทช.ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ แต่เหตุการณ์ ดร.วันชัย รุนแรงมาก จนทำให้ต้องใช้อำนาจให้สำนักงาน กสทช.ส่งจดหมายเตือนเป็นครั้งแรก
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า การออกจดหมายเตือนดังกล่าวรู้สึกเจ็บปวดตัวเอง เพราะเดิมเป็นผู้คัดค้านมาตรา 37 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตลอด และไม่คิดว่าจะมีอำนาจสั่งให้สื่อทำหรือไม่ทำ แต่ต้องตัดใจยอมให้ดำเนินการ เนื่องจากล้ำเส้น มีภาพปืนจ่อหัว ปล่อยภาพเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามยังไม่มีองค์กรสื่อระหว่างประเทศใดออกมาคัดค้านกับการเตือนของ กสทช.ครั้งนี้ เข้าข่ายการแทรกแซงสื่อหรือไม่ เพราะเมื่อใดเปิดช่องให้ทำได้จะเกิดปัญหาเรื่องอื่นอีก แม้เรื่องนี้จะมีความชอบธรรมก็ตาม
ด้านดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่าวิกฤติของสื่อเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้สื่อปรับตัวไม่ทัน ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) ซึ่งหลายคนกระโจนเข้าไปหา โดยทราบเฉพาะเทคนิคในการเข้าใช้งาน แต่ไม่ทราบว่าควรปรับใช้กับเนื้อหาประเภทใด ทำให้ปัจจุบันมีขยะโซเซียลมีเดียจำนวนมาก
“จะเข้านอนยังถ่ายทอดสด ทำให้เกิดการสำลักเสรีภาพ สำลักความเป็นตัวตนที่จะแสดงออก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสื่อ อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดสดสัมมนาให้รับชมเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งถ่ายทอดสดลูกกลิ้งได้ จึงอยากให้มีการแยกแยะ โดยเฉพาะผู้เป็นบุคคลสาธารณะ”
นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวอีกว่า ในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกต่าง ซึ่งพบว่า ปัจจุบันนอกจากการถ่ายทอดสดที่มีปัญหา ยังมีเรื่องการโฆษณาเกินจริง ความก้ำกึ่งระหว่างการประชาสัมพันธ์กับการทำข่าวที่มีเรื่องการซื้อเวลา จ่ายเงินสื่อ ต้องรวบรวมปัญหาแล้ววางระบบให้ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ สมาคมวิชาชีพสื่อต้องมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ อบรม ผู้อยู่ในวิชาชีพ อย่างต่อเนื่องด้วย
ขณะที่นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า กรณีการถ่ายทอดสด ดร.วันชัย ยิงตัวเอง ทุกสถานีนั้น เกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องจริยธรรมสื่อ หรือต้องการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบของสื่อด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ แต่ก่อนหน้านั้นสื่อบันเทิงนำเสนอภาพการเสียชีวิตของนักแสดงชื่อดัง ทำให้เกิดการล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคล คนรับสารจึงมีความแปลกแยกทางความคิดทันที รวมถึงสื่ออาชญากรรม และการเมืองด้วย เป็นไปได้หรือไม่จะให้มีการเจรจาหารือ โดยไม่ต้องควบคุม
อีกวิกฤติหนึ่งพบว่า พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มาก ซึ่งจะรับรู้ข่าวสารเพียงมิติเดียว ขณะที่สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ช้า ส่วนวิทยุโทรทัศน์รวดเร็ว ดังนั้นการควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภคยาก เกิดความเชื่อถือสื่อใหม่มากกว่าสื่อเดิม ซึ่งเป็นสื่อที่มีคุณภาพ และยังมีเรื่องการแข่งขัน และการกระทำ เช่นสื่อมีอารมณ์ชั่ววูบ ทุกคนรู้กรอบจริยธรรม แต่ต้องแข่งขันให้ได้ ฉะนั้นทำอย่างไรให้เส้นของการแข่งขันมีการพูดคุยกันก่อน
ด้านนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยีใหม่จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่มากกว่า ถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน สื่อกล่าวว่าเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ไม่ทำไม่ได้ แม้สังคมจะยืนยันว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เพื่อนร่วมวิชาชีพกลับเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เกี่ยวข้องกับดร. 3 คน ก่อเหตุ โยงมาถึงระบบการศึกษา ระบบการบริหารหลักสูตรพิเศษ
ส่วนเหตุผลต้องถ่ายทอดสดยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ กล่าวว่า มีคำอธิบายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่อง อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี แน่นอนมีความไม่พอใจ เพราะไม่มีครั้งใดที่รายงานสดขนาดนี้ จึงต้องนำมาเป็นบทเรียน และเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ยิ่งถ่ายทอดสดเร็ว นาน ลึก เท่าไหร่ ยิ่งต้องถูกตรวจสอบมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้าย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนว่า ต้องมีการประชาพิจารณ์ในแต่ละระดับ เพราะต้องมีกฎกติการ่วมกัน แต่ยอมรับว่า สมาชิก กมธ.หลายท่าน เห็นว่าสื่อต้องได้รับการควบคุม และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเหมือนทนายความ แพทย์ หรือวิชาชีพอื่น ๆ .