ผู้บริโภคอัด กสทช.ถลุงงบ- หมอประเวศแนะสร้างเครือข่ายสื่อท้องถิ่น
นักวิชาการอัด กสทช.ถลุงงบจัดเวทีเกร่อ จี้เอาผิดเคเบิ้ลทีวีขายบริการทางเพศ ราษฎรอาวุโสแนะเร่งปฏิรูปสื่อท้องถิ่นสร้างเครือข่ายความรู้ ผู้บริโภคขู่ประท้วงหากทำงานลูบหน้าปะจมูก
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดงานเสวนาสาธารณะNBTC Public Forum “ความคาดหวังของภาคประชาสังคมต่อกสทช.” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกสทช. โดยมีองค์กรเอกชนด้านผู้บริโภค เด็ก คนพิการ ผู้ใช้แรงงาน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการ ตัวแทนวิทยุชุมชนเข้าร่วม
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า สังคมไทยขาดการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนในระดับล่าง ขาดการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม จึงทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ความรุนแรง ประชาธิปไตยต้องสร้างจากฐานราก ให้ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดจัดการตนเอง ระบบสื่อสารที่ดีสามารถสร้างปัญญา สังคมไทยต้องพัฒนาระบบสื่อสารเพื่อก้าวไปสู่ยุคใหม่ ใช้การสื่อสารสร้างรูปธรรมทางความคิด สร้างจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเปลี่ยนแปลงประเทศ
“การปฏิรูปสื่อควรมีเครือข่ายวิทยุชุมชนให้เป็นระบบ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ดูแลให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อของเขาเอง อย่าเพิ่งมองเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์ใหญ่ แต่ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปความคิด เพื่อนำสังคมไปสู่สังคมแห่งความรู้”
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กสทช.ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลายแสนล้านบาทโดยอยู่บนความคาดหวังของภาคประชาสังคม 3 ประการ คือ 1. กสทช.ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสในเรื่องการกำหนดกติกาและการตัดสินใจ 2. ผลงานต้องมีประสิทธิภาพและทันกรอบเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และ 3.ผลลัพธ์ต้องเกิดความเป็นธรรมทุกภาคส่วนทั้งธุรกิจ ประชาชน และผู้ใช้บริการ
“ความคาดหวังจะเป็นจริงได้ต่อเมื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมให้มาก แต่กสทช.ก็ไม่ควรละเลยกำกับโครงสร้างทางธุรกิจที่ต้องเปิดโอกาสในการต่อรองอย่างเท่าเทียม และการกำกับดูแลคุณภาพให้บริการ ซึ่งถือว่าปี 54 เป็นปีที่บริการบกพร่องที่สุด โดยเฉพาะสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ที่ล่มบ่อยครั้ง”
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า กสทช. ควรมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เช่น กติกา นโยบาย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะสามารถทำให้ประชาชนเกิดความรู้ได้ ที่สำคัญนักวิชาการจะได้เข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กสทช.เกิดจากการลงทุนของภาคประชาชนและภาควิชาการที่คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลักดันให้การทำงานเป็นอิสระ ปราศจากการควบคุมของภาครัฐและกลุ่มนายทุน นอกจากนี้ต้องทำหลักเกณฑ์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนเกิดความเข้าใจง่ายที่สุด
"กสทช.ใช้งบประมาณในปัจจุบันในทางไม่เกิดประโยชน์ บางเรื่องเป็นเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน เช่น การประชุมรับฟังความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ ถ้ามีการเตรียมความพร้อม คงได้ข้อมูลที่ดีมาประกอบแก่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การปฏิบัติหน้าที่ขณะนี้เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูกเท่านั้น"
รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า กสทช.ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าการผลักดันปฏิรูปสื่อเพื่อกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกันจะทำอย่างไร รวมทั้งวิทยุชุมชน โครงข่ายขนาดเล็ก โทรทัศน์ดาวเทียมหรืออินเตอร์เน็ตจะมีการแข่งขันที่เป็นธรรมได้แค่ไหน การให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชนที่รอมานาน รวมทั้งการต่ออายุวิทยุชุมชนกสทช.ต้องมีคำตอบเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ความคาดหวังของเครือข่ายวิทยุชุมชนมองว่า กสทช.ไม่ใช่แค่การจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ต้องให้ความคุ้มครองสื่อชุมชน โดยมีนโยบายที่ชัดเจนอย่าให้วิทยุธุรกิจส่งสัญญาณมาทับคลื่นวิทยุชุมชนที่เป็นสื่อจริงๆ ต้องสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนอยากทำสื่อท้องถิ่นที่สามารถออกอากาศได้ รวมทั้งกสทช.ควรสนับสนุนงบประมาณให้กับสื่อท้องถิ่นที่เป็นสื่อสาธารณะบริการชุมชนให้เขาอยู่ได้ในอนาคต
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ต้องการให้กสทช. สร้างมาตรฐานการจัดการอย่างเป็นธรรม โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านเครือข่าย ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งส่งเสริมสื่อที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนให้คงอยู่ นอกจากนี้กสทช.ไม่ควรมีหน้าที่ในการกำกับธุรกิจอย่างเดียว แต่ต้องกำกับสำนักงานกสทช.ให้ปฏิบัติหน้าที่ตอบสนองประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มิเช่นนั้นประชาชนอาจลุกฮือประท้วงได้
“สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือสื่อวิทยุชุมชนได้กลายเป็นวิทยุธุรกิจมากขึ้น รวมถึงโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมต่างหลอกลวงการบริโภคของผู้เสพสื่อ ฉะนั้นจึงควรเร่งควบคุมให้เร็วที่สุด เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นรายการไม่ประเทืองปัญญาอย่างรายการสักยันต์หรือผู้หญิงขายบริการแน่นอน” ประธานสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคกล่าว