อัยการยันอนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อพิพาทขึ้นค่าทางด่วน นอกขอบเขตสัญญา
อัยการยืนยันอนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อพิพาทขึ้นค่าทางด่วน นอกขอบเขตสัญญา และชี้ชัดคดีมีเหตุอันควรยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้าง มากต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ใจความของหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุ ตามที่หนังสือที่อ้างถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 53/2551 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2559 ระหว่างบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เรียกร้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน พร้อมส่งสำเนามติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 5/2559 และครั้งที่ 6/2559 และขอให้สำนักคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งสถานะคดีให้ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณานำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญา เกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คดีมีเหตุอันควรยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานให้ ครม.รับทราบกรณีคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. มีมติเสนอทางออกเกี่ยวกับกรณีอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาดให้ กทพ. แพ้ในคดีข้อพิพาทกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)กรณีการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 เมื่อปี2546 ทำให้ กทพ.ต้องชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน 8,162.14 ล้านบาท โดยให้ กทพ. ยื่นเรื่องส่งศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ซึ่งจะครบกำหนด 90 วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาด