นักวิชาการ ยันแนวคิดตัดเบี้ยคนชรารายได้เกิน 9 พัน/ด. ในทางปฏิบัติจำแนกยาก
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ชี้ระเบียบใหม่จัดสรรเบี้ยยังชีพคนชรา ขัดมาตรการโอนเงินภาษีช่วยคนจน ทำรัฐต้องใช้เงินมากขึ้นในการดูเเล-ติดตาม แนะกระตุ้นคนไทยให้รู้จักการออม เตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย
สืบเนื่องจากกรณีกระทรวงการคลังได้เผยแนวคิดนโยบายแบบแพ็กเกจที่จะใช้ในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแบบครบวงจร เพื่อทำให้คุณภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท นโยบายให้ผู้ประกอบการเอกชนที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทำงาน สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า รวมถึงแนวคิดการนำบ้านของผู้สูงอายุมาเปลี่ยนเป็นเงินกู้ เพื่อให้ธนาคารจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้ผู้สูงอายุไปใช้จ่ายช่วงบั้นปลายของชีวิต (Reverse Mortgage)
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า การตัดเบี้ยเลี้ยงกับผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง หรือที่มีสินทรัพย์เกิน 3 ล้านบาท คงไม่มีใครโต้แย้ง สังคมไม่ต่อต้านมาก แล้วในแง่การบริหารจัดการ สามารถทำได้ง่าย
"แต่กรณีที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 9,000 บาท จะถูกตัดสิทธิ์ด้วยนั้น จุดนี้จะลำบาก เพราะผู้สูงอายุที่มีรายได้ประจำมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ เพราะยากจนมาก และไม่ใช่รายได้ประจำ ปัญหาคือใครจะตรวจสอบว่า ผู้สูงอายุคนไหน รายได้ไม่เกิน 9,000 บาท นอกจากนี้บางคนมีรายได้แต่ละเดือนเกิน และไม่ถึงสลับกันไป เมื่อเป็นอย่างนี้ในเชิงปฏิบัติจึงเป็นได้ยากมาก และต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการดูเเล ในที่สุดจะกลายเป็นว่า เรากีดกัน ผู้สูงอายุออกไปจากระบบ"
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวไปขัดแย้งกับแนวคิดรัฐบาลที่ออกมาสนับสนุนว่าจะให้ใช้ Nagative Income Tax หรือ มาตรการโอนเงินภาษีช่วยคนจน หมายความว่า การส่งเสริมให้คนทำงานไปด้วยและได้รับสวัสดิการจากรัฐด้วย แต่กลายเป็นว่า กรณีผู้สูงอายุ กลับทำให้สิ่งตรงกันข้าม
"ถ้าอยากให้ผู้สูงอายุอยู่ในระบบเดียวกับ Nagative Income Tax เราต้องส่งเสริมให้เขาทำงานไปด้วย รับเงินสมทบไปด้วย"
สำหรับกรณีให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทำงาน สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่านั้น ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ในแง่ผู้ประกอบการต้องชั่งน้ำหนักในสิ่งที่ได้ และสิ่งที่เสีย เพราะโดยปกติ ผู้ประกอบการจะจ้างคน เขาไม่ได้ดูว่า แก่ไม่แก่ แต่ดูว่า คนๆ นั้นทำงานแล้วคุ้มต่อสถานประกอบการหรือไม่ ดังนั้นเราจึงเห็นมีพนักงานอายุเกิน 60 ปีจำนวนมากทำงานอยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการประเมินแล้วว่า คนเหล่านั้นสามารถทำงานได้และคุ้มค่า
"นโยบายนี้จะแรงพอที่จะทำให้คนที่ไม่เคยจ้างผู้สูงอายุหันมาจ้างนั้น ตรงนี้คงต้องชั่งน้ำหนัก ในแง่ผลลัพธ์ที่ผู้ประกอบการที่จะได้รับกับการลดหย่อนภาษีว่าคุ้มค่ากันไหม ซึ่งก็ขึ้นกับลักษณะของสถานประกอบการแต่ละแห่งด้วย"
ในส่วนแนวคิดเรื่อง การนำบ้านของผู้สูงอายุมาเปลี่ยนเป็นเงินกู้ เพื่อให้ธนาคารจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้ผู้สูงอายุไปใช้จ่ายช่วงบั้นปลายของชีวิต หรือ Reverse Mortgage ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ถือเป็นการส่งเสริมให้คนออม เนื่องจากการออมมีหลายรูปแบบ ทั้งอยู่ในรูปของเงินสด และในรูปของสินทรัพย์ที่แปลงค่าเป็นเงินได้ เพราะถ้าออมเงินแล้วได้ดอกเบี้ยแค่ 2% ในขณะที่เขาไปซื้อบ้าน คิดว่ามูลค่าบ้านจะขึ้นไปอีก 10-20% ก็จะเป็นการออมที่คุ้มค่ากว่า ก็จะเป็นอีกช่องทาง ที่ทำให้ให้ออมในวัยเกษียน ส่งเสริมการออมในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ดร.วรวรรณ ยังกล่าวด้วยว่า การรับมือในอนาคตที่ไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่ปัจจุบันยังไม่แก่ ทั้งด้านสุขภาพทางกาย และเงินยังชีพ แทนที่จะไปรอตอนแก่แล้วมาคิดว่าจะจัดการช่วยเหลืออย่างไร เป็นวิธีการตั้งรับมากไป
“ เราต้องมุ่งกันวันนี้ เพื่อให้เกิดการออม ให้มีการดูเเลสุขภาพ เป็นวิธีการดีกว่า เช่นปัจจุบันเรามีกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกอช. ทำไมไม่กระตุ้นให้คนหันมาออมให้มากขึ้น เป็นต้น”