สปท.เห็นชอบปฏิรูปการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เร่งดันเป็นวาระแห่งชาติ
สมาชิก สปท.ลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การปฏิรูปการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนทั่วประเทศ และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559
วันที่ 24 พฤษภาคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประชุมครั้งที่ 26/2559 โดยมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การปฏิรูปการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนทั่วประเทศ และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ณ ตึกรัฐสภา ก่อนลงมติเห็นชอบ 162 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง จากนั้น สปท.จะส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
ในการประชุมพิจารณารายงานฉบับนี้ พลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ กรรมาธิการและประธานที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอรายงาน โดยชี้ให้เห็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่ผ่านมา ที่ยังขาดเจ้าภาพ ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการ
"แหล่งน้ำชุมชนเกี่ยวข้องกับคนในชนบทกว่า 30 ล้านคน ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้ให้ได้ก่อน เราจึงให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลควรให้ความสำคัญพอๆ กับการสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้าในเมือง และควรเจียดงบประมาณอื่นๆ มาช่วยด้านนี้ให้ได้ 1-2 ปี"
นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิก สปท. กล่าวถึงปริมาณน้ำในประเทศไทยเพียงพอต่อการบริโภค แต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนกว่า 7 แสนกว่าล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ไม่มีการกักเก็บ ปล่อยทิ้งไปกว่า 5 แสนลบ.ม. เก็บได้แค่ 10% เท่านั้น ขณะที่การจัดการน้ำที่ผ่านมา วางระบบด้วยการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่การจัดการน้ำขนาดเล็กยังมีอยู่น้อย ทั้งที่สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน ปริมาณฝนและปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในบ้านเรากลับไม่มีความยืดหยุ่น
นายเพิ่มพงษ์ กล่าวถึงเกษตรกรไทย พึ่งพาธรรมชาติฝนฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ชลประทานไม่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดเล็ก แม้จะมีหน่วยงานราชการดำเนินการอยู่ แต่เป็นการของส่วนราชการลงไปทำงานในพื้นที่เป็นหลัก ไม่มีบทบาทท้องถิ่น
“เมื่ออนุกรรมการศึกษาจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เห็นว่า มีกลไกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2550 ที่พูดถึงการจัดการน้ำ และขึ้นทะเบียนแหล่งน้ำชุมชน แต่กลับไม่มีการระบุ ใครดำเนินการ เราจึงมองว่า แม้มีแผนบริหารจัดการน้ำ แต่บริบทการจัดการน้ำชุมชนไม่มีการพูดถึงชัดเจน”
พร้อมกันนี้ นายเพิ่มพงษ์ นำเสนอโมเดลการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตาก อุดรธานี เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น และที่โคกหนองนาโมเดล ทำหลุมขนมครก ธนาคารน้ำใต้ดิน
“เชื่อว่า อนุภาพของแหล่งน้ำขนาดเล็ก หากกระจายตัวไปได้ทั่วประเทศ จะสามารถเก็บน้ำได้มากกว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่”
สำหรับสาระสำคัญ การปฏิรูป ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 จากที่ระเบียบสำนักนายกฯ 2550 กำหนดไว้เพียง 3 หมวด คณะกรรมการทรัพยากรน้ำชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และการจัดทำน้ำแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก หากมีการเพิ่มเติมให้ชัดเจน หน่วยงานราชการจะนำไปปฏิบัติกับภาคประชาชนได้
การแก้ไขระเบียบ เพิ่มเติมในหมวดที่ 4 จำนวน 6 ข้อ สาระสำคัญ เช่น การกำหนดนิยามแหล่งน้ำชุมชน ว่า เป็นแหล่งน้ำที่ครัวเรือนทำขึ้นเอง ประชาชนร่วมจัดทำขึ้น หรือมีอยู่แล้วให้ดูแลบำรุงรักษาต่อเนื่อง และกำหนดโครงการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กในรูปแบบประชารัฐ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จัดทำแผนน้ำชุมชน สำรวจหาแหล่งน้ำชุมชนใหม่ จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติ จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำประชาคม ทำแผนน้ำของชุมชน บำรุงรักษาในรูปแบบธรรมนูญแหล่งน้ำชุมชน และกำหนดหน่วยปฏิบัติในการจัดให้มีแหล่งน้ำชุมชน ให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เป็นต้น
จากนั้น นายคุรุจิต นาครทรรพ สมาชิก สปท.กล่าวถึงการปฏิรูปแหล่งน้ำชุมชนทั่วประเทศและแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 นั้น โดนแสดงความเป็นห่วง อาจเป็นการซ้ำซ้อนกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ซึ่งผลลัพธ์และวัตถุประสงค์เดียวกัน อาจเป็นการทำงานแข่งกันหรือไม่ เพื่อให้การใช้งบประมาณประหยัดและคุ้มค่า
“แหล่งน้ำชุมชนควรเน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน เพราะมีหลายหมู่บ้านยังไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน พื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน พึ่งพาน้ำฝนตามฤดูกาล ฉะนั้น อยากให้เน้นน้ำอุปโภคเป็นหลักก่อน และมีกำลังเหลือทำน้ำการเกษตรนอกเขตชลประทาน
การระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน นำองค์ความรู้มาพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เช่น อีสวอเตอร์ หรือ เอสซีจี ทำฝายแม้วกักเก็บน้ำในชุมชน เพื่อลดภาระของรัฐบาล และส่งเสริมหลักการประชารัฐอย่างแท้จริง”
ส่วนนายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสปท. เสนอให้นำทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาดำเนินการ เป็นตัวตั้ง และทำให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อระดมให้ประเทศมีแหล่งน้ำเพียงพอภายใน 6 เดือน โดยเฉพาะการทำงานประสานกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความต้องการของชุมชน และนำมาจัดลำดับความสำคัญ