“พลังพลเมือง" สิทธิชุมชนไทย-ทางรอดประเทศ
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงปาฐถา “พลังพลเมืองทางรอดของประเทศ” โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ จากเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด เพื่อระดมความคิดทิศทางขับเคลื่อนแก้ปัญหาการคุกคามสิทธิชุมชนไทย จากการพัฒนาประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
........................................
“ไม่กระจายรายได้” ต้นตอความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตย จักรวรรดิทุนนิยม ล้วนกำหนดทิศทางโลก หลายประเทศใช้ข้ออ้างประชาธิปไตยข้าไปกอบโกยทรัพยากรประเทศอื่น ขณะที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย ส่งผลกระทบกับสุขภาวะสังคมทั้งปวง
ถ้าจะดูว่าสมาชิกในสังคมมีสุขภาวะที่ดี หรือมีปัญหามากน้อยแค่ไหน ให้ดูความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ถ้าเหลื่อมล้ำมากก็มีปัญหามาก ไม่ว่าจะปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
ในประเทศไทยถ้าเอาตัวเลขคนคนรวย 20 เปอร์เซ็นต์ข้างบนกับคนจน 20 เปอร์เซ็นต์ข้างล่างมาหารกัน ก็จะพบว่าห่างกัน 12-15 เท่า ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าประเทศต่างๆในอาเซียน ตัวเลขเหล่านี้จะสะท้อนว่าบ้านเมืองสงบสุขหรือเปล่า ความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาหลักของสังคม
“ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม เพราะกรมเป็นคนจัดสรร ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการกระจายอำนาจหรือกระจายงบประมาณ ต้องมีกลไกติดตามตรวจสอบ การเลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นที่จะมีขึ้นปีหน้า พลังพลเมืองที่เข้มแข็งจะเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมขององค์กรท้องถิ่น”
ทดลองให้ประชาชนจัดสรรงบประมาณ 5% “คนจนได้มาก คนรวยได้น้อย”
ประเทศที่อ้างเป็นประชาธิปไตยแต่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา เผด็จการทหาร เผด็จการอื่นๆ การพัฒนาจะไม่เป็นไปตามความต้องการประชาชน แต่หากกระจายอำนาจตามเจตนารมณ์กฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ การวางแผนพัฒนาจะเป็นอำนาจหน้าที่ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ
มีความพยายามจากองค์กรประชาชน เสนอให้มีการทดลองจัดสรรงบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 2 ล้านล้านบาทนำมาทดลองจัดสรร โดยไม่เอากรมเป็นตัวตั้ง แต่ยึดหลักจำนวนประชากร ที่ไหนคนมากที่นั่นได้มาก ยึดรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเป็นตัววัด พื้นที่ไหนรายได้น้อยต้องให้มาก สัดส่วนคนจนในจังหวัดไหนมาก ต้องจัดสรรงบประมาณให้มาก เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
“หากยึดหลักการนี้แม่ฮ่องสอนจะได้รับงบประมาณมากที่สุด กรุงเทพฯได้น้อยสุดเหลือ 472 บาทต่อคน กระบวนการจัดสรรแบบนี้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัดจะกำหนดทิศทางตัวเองได้มากขึ้น”
“ประชาธิปไตยลานบ้าน” รูปแบบประชาชนกำหนดชีวิตตนเอง
70 กว่าปีที่ผ่า นมา ประชาธิปไตยไทยเน้นไปที่นักการเมืองระดับชาติมากไป ละเลยประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยชุมชน เพิกเฉยประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นประชาธิปไตยแนวราบ ที่ไม่ใช่แค่เรียกชาวบ้านมารับทราบนโยบาย แล้วก็บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย
“ประชาธิปไตยลานบ้าน” ประชาธิปไตยลานวัดที่ประชาชนประชุม ทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเอง นั่นคือประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่สามารถกำหนดทิศทางวิถีชีวิตชุมชนได้
ทั้งนี้พื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและพัฒนา จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับองค์กรท้องถิ่น ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะเกิดประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ประชาธิปไตยหย่อนบัตรแล้วให้นักการเมืองตัวแทนมาอ้างความชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ ทั้งที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญบอกว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่ปวงชนชาวไทยไม่เคยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
“เครือข่ายพลังพลเมือง” ทางรอดชุมชน-ทางรอดประเทศ
บ้านเมืองกำลังเข้าสู่วิกฤต หวังว่าหลังวิกฤติบ้านเมืองจะเป็นอนาคตประชาชน ปัจจุบันเรามีรูปธรรมความสำเร็จของการต่อสู้ของภาคประชาชน อาทิ ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ระงับ 76 โครงการที่อาจเป็นอันตรายต่อชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด(ชั่วคราว) จ.ระยอง ระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ทางออกขององค์กรชาวบ้าน คือต้องสร้าง เชื่อมร้อย และขยายเครือข่ายให้หลากหลาย ทั้งเครือข่ายภายในท้องถิ่น สภาผู้นำ สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายนักกฏหมาย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเป็นคลังความรู้ที่ครบถ้วนในประเด็นปัญหาต่างๆ เครือข่ายสื่อ หรือชุมชนลุกขึ้นมาทำสื่อของตนเอง รวมทั้งเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น กลุ่มกรีนพีช ที่พยายามสื่อกับประชาชนทั่วโลกในสิ่งที่เขาพยายามต่อสู้
“ชาวบ้านต้องสร้างเครือข่ายร่วมปกป้องแผ่นดินเกิด ปกป้องชีวิตแกนนำไม่ให้บาดเจ็บล้มตายถูกจับเหมือนที่ผ่านมา ต้องทำทุกช่องทางเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวมทั้งการสื่อสารต่อสาธารณะผ่านสื่อกระแสหลักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน หรือเป็นเจ้าของสื่อเองเพื่อเผยแพร่ปัญหาของตน”
.............................................
(หมายเหตุ : เกี่ยวกับผู้เขียน)
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท 2 สมัย, อดีตเลขาธิการแพทยสภา 3 สมัย, อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ .