สปท.ชงกฎหมายบังคับหน่วยงานรัฐ ดึงชาวบ้านร่วมตัดสินใจโครงการพัฒนา
สมาชิก สปท.เตรียมเสนอร่างกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะในวันอังคารที่จะถึงนี้ หวังสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการกำหนดนโยบาย แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ระบาดไปทั่วประเทศ
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนนับเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของกระบวนการประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่สังคมมีความคาดหวังให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง หากการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นเพียงใด ก็จะช่วยให้มีการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร และทำให้ผู้บริหารมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นเพียงนั้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันนักการเมืองจากการกำหนดนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับสังคมหรือชุมชนแต่ละแห่งด้วย
นอกจากนั้น การสร้างหลักประกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเสียงของประชาชนจะมีคนรับฟัง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมธรรมาภิบาล, ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับชาติ, การสร้างกฎในการอนุมัติโครงการต่างๆ ของรัฐบาล และนำความเห็นของประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ถือเป็นการสร้างหุ้นส่วนในการพัฒนา ลดความแตกแยกในสังคม
ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ มีทั้งสิ้น 34 มาตรา สาระสำคัญคือบัญญัติรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ทั้งในด้านการให้และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร, การแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะ, การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งในขั้นตอนการริเริ่มนโยบาย การจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม, การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการปฏิบัติและการติดตามประเมินผลตามนโยบาย แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมนั้น
ร่างกฎหมายยังกำหนดขั้นตอนที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานรัฐได้ ตั้งแต่ร่วมวางแผน รับรู้ และเข้าถึงข้อมูล ร่วมปฏิบัติ ร่วมจัดสรรผลประโยชน์ และร่วมในการติดตามและประเมินผล โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐได้ทุกระดับ ใน 3 ขั้นตอนหลัก คือ ก่อนอนุมัติ ระหว่างดำเนินนโยบาย และภายหลังดำเนินนโยบาย
ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องอาจยื่นคําร้องต่อหน่วยงานของรัฐให้ทบทวนหรือยกเลิกกิจกรรมที่ไม่ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมได้ และให้หน่วยงานรัฐนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาร่วมในการตัดสินใจดําเนินกิจกรรมที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต
โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดรับฟังความคิดเห็น, จัดให้ประชาชนร่วมติดตามประเมินผล และหากประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบาย ก็สามารถร้องขอให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองและช่วยดําเนินคดีได้
ร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ 8 คน ภาควิชาการ 5 คน และภาคประชาชน 5 คน ทำหน้าที่วางหลักการพื้นฐานและขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน
หากมีผู้ใดไม่ดำเนินการ หรือขัดขวางจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะไม่อาจเกิดขึ้นได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ถวิลวดี บุรีกุล
ขอบคุณ : ภาพจากเฟซบุ๊ค