"ทีไอเจ"สถาบันในเครือข่ายยูเอ็นแห่งแรกอาเซียน ลงนามสหประชาชาติ 24 พ.ค.
วันอังคารที่ 24 พ.ค.จะถึงนี้ จะมีพิธีลงนามในข้อตกลงการเข้าเป็นสถาบันในเครือข่ายของสหประชาชาติ หรือ พีเอ็นไอ ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ นับเป็นองค์กรแรกของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนด้วยมติเอกฉันท์
พิธีลงนามจะมีขึ้นที่สำนักงานสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการทีไอเจ จะบินไปร่วมพิธี
“ทีไอเจ” หรือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มีสถานะเป็นองค์การมหาชน มีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการขับเคลื่อนส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554
“ทีไอเจ” ได้เสนอตัวเข้าร่วมเป็นสถาบันในเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Program Network Institute; UN-PNI) ตั้งแต่ปีที่แล้ว และได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสถาบันพีเอ็นไอจำนวน 17 แห่งทั่วโลกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง ทีไอเจ กับสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นับเป็นสถาบันแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เข้าเป็นสมาชิกพีเอ็นไอ
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นสถาบันพีเอ็นไอ เป็นเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ก่อตั้งทีไอเจ และเป็นภารกิจที่ตนในฐานะผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 ก.พ.58
ทั้งนี้ เป้าหมายการเป็นสถาบันพีเอ็นไอ มีที่มาจากพระวิสัยทัศน์ของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่มีพระประสงค์จะยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทียูเอ็นด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพิเศษของทีไอเจด้วย
โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของทีไอเจในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างทีไอเจกับยูเอ็น ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการวางกรอบแนวทางความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่มีร่วมกันในประเด็นเรื่องหลักนิติธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคง
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมเป็นสถาบันพีเอ็นไอ จะยกระดับสถานะของทีไอเจ ให้สามารถมีบทบาทนำในเวทีการประชุมยูเอ็นที่สำคัญหลายเวที และเนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดในภูมิภาคอาเซียนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากยูเอ็นในลักษณะนี้มาก่อน จึงถือว่าทีไอเจมีบทบาทที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
สำหรับสถาบันพีเอ็นไอนี้ เป็นองค์กรเครือข่ายสหประชาชาติที่มีประวัติยาวนาน ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการแก่ยูเอ็น โดยการศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ฝึกอบรม รณรงค์ เผยแพร่ความรู้ และสนันสนุนประเทศสมาชิกยูเอ็นในการป้องกันอาชญากรรมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกรวม 17 องค์กร กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทีไอเจนับเป็นสมาชิกองค์กรที่ 18
นอกจากความสำเร็จในการเข้าเป็นสถาบันพีเอ็นไอแล้ว ทีไอเจยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ China-ASEAN Legal Research Center หรือ ศูนย์วิจัยกฎหมายจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมาย ทั้งด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการดำเนินงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน
การขยายความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านกฎหมายและหลักนิติธรรม ทีไอเจยังร่วมกับ China Law Society หรือสมาคมกฎหมายจีน จัดการสัมมนาระดับสูงเรื่อง "การส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงกล่าวปาฐกถานำในการสัมมนาด้วย
รัฐบาลจีนได้ยกระดับความสำคัญของกิจกรรมนี้ โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการประชุมจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านกฎหมาย หรือ China-ASEAN Legal Forum