2 ปีรัฐประหาร...ต่อสายป่านไฟใต้?
ผ่านมา 2 ปีนับจากวันตัดสินใจเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช. 22 พ.ค.57 ต้องบอกว่าถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือดีขึ้นดังที่ทุกฝ่ายวาดหวัง
เหตุรุนแรงลดลงบ้างก็จริงในเชิงปริมาณ แต่ปัจจัยส่วนหนึ่งก็มาจากการขยายกำลังพลของภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง หรือที่เรียกว่า “กำลังพลถือปืน” ทั้งทหารพราน อส. และกองกำลังประชาชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสามารถควบคุมพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง แต่นั่นก็ต้องแลกด้วยเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย และเงินเพิ่มพิเศษต่างๆ
แต่เพื่อความปลอดภัยในระยะเฉพาะหน้า ก็จำเป็นต้องทำ...
อย่างไรก็ดี นั่นยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ หรือมุ่งสู่เป้าหมายจัดการปัญหาที่รากเหง้าอย่างแท้จริง เพื่อลดเจตจำนงในการใช้ความรุนแรงของกลุ่มต่อต้านรัฐ เพราะ
1.ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการอำนวยความยุติธรรมผ่าน “นโยบายทางอาญา” ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ เป็นเอกภาพ และมุ่งผลสัมฤทธิ์ ยังไม่ปรากฏให้เห็น แม้จะมีข่าวเกี่ยวกับ “แพคเกจยุติธรรม” ที่เตรียมนำไปเสนอบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แต่ทางปฏิบัติในพื้นที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
เช่น แม้จะมีการ “พักโทษ” แกนนำขบวนการแยกดินแดนในอดีตบางส่วนด้วยเหตุผลค่อนข้างคลุมเครือและไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่อีกด้านก็มีการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ในการจับกุม คุมขังกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ครูสอนศาสนา หรือแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาๆ ในฐานะผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยบางส่วนไม่ได้มีหลักฐานพอสมควรแก่เหตุ
กรณีกวาดจับหรือเชิญตัวบุคคลไปหลายๆ คนพร้อมกันหลังเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นตัวอย่างที่ดี และก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจากญาติและครอบครัวผู้ถูกเชิญตัว
2.ประเด็นเรื่องการศึกษาที่ทุกฝ่ายพูดตรงกันว่าคือหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไฟใต้อย่างยั่งยืน แต่ผ่านมา 2 ปีก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มียุทธศาสตร์ที่แปลกแตกต่างหรือก่อผลทางจิตวิทยาในเชิงความหวังมากกว่าที่ผ่านมา มีแต่ รมช.ศึกษาฯ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ที่ลงพื้นที่ถี่ยิบมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เท่านั้น
การปฏิรูปการศึกษาที่ชายแดนใต้จึงเป็นแค่ความฝัน เพราะนโยบายปฏิรูปการศึกษาในส่วนกลางก็ยังมึนๆ อึนๆ กันอยู่เลย
3.กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นกระบวนการสุดสับสน โดยเฉพาะกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นปีที่แล้วบินไปมาเลเซียด้วยตัวเอง ไปขอให้นายกฯนาจิบ ราซัค ช่วยจัดกระบวนการพูดคุยให้หน่อย แต่เมื่อคุยไปคุยมาผ่านคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี” จู่ๆ เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับให้สัมภาษณ์ว่าไม่เคยเห็นด้วยกับการพูดคุย เพราะไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้
ท่าทีของผู้นำเบอร์ 1 ของประเทศเป็นแบบนี้ แล้วจะให้ใครเชื่อหัวหน้าคณะพูดคุยฯ อย่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่นั่งยันนอนยันว่าการพูดคุยยังเดินหน้าต่อไป ที่สำคัญ “บิ๊กโบ้” พล.อ.อักษรา จะทำงานได้อย่างไร
ความน่าผิดหวังจากการดำเนินงานทั้ง 3 เรื่องใหญ่ๆ นี้ ทำให้ไฟใต้ไม่สงบลงดังที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยประกาศเอาไว้ หนำซ้ำยังเสมือนเป็นการ “ต่อสายป่าน” ปัญหาภาคใต้ให้ยืดเยื้อออกไป และแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งนานวันปัญหายิ่งซับซ้อน
นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะหลายฝ่ายคาดหวังว่าการที่กองทัพเข้ามายึดกุมอำนาจการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้จะสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นได้ เมื่อเอกภาพเกิด บวกกับการมียุทธศาสตร์ที่ดี ก็อาจพลิกสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ฟื้นสู่สันติสุขได้ไม่ยาก
แต่ทำไปทำมาจะกลายเป็นเอกภาพเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณเสียมากกว่า!
งบดับไฟใต้ในภาพรวมของปี 2559 (ปีงบประมาณปัจจุบัน) ทะลุ 3 หมื่นล้านเป็นปีแรกในยุครัฐบาลคสช. งบ กอ.รมน.พุ่งเกิน 1 หมื่นล้าน ขณะที่งบ ศอ.บต.ก็มากเป็นประวัติการณ์ แต่ผู้มีอำนาจบริหารจัดการมีเพียงหน่วยเดียว คือ กอ.รมน. ซึ่งก็คือทหาร
หนำซ้ำยังไปออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ ศอ.บต.มาขึ้นการบังคับบัญชากับ กอ.รมน.เสียอีก
ปัญหาชายแดนใต้ที่ยังจบไม่ลง ณ เวลานี้ จึงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลทหาร คสช.ไปต่อสายป่านให้ยาวขึ้นด้วยนั่นเอง!