กระแสหวาดระแวงอิสลามในสังคมไทย จากชายแดนใต้สู่เหนือ-อีสาน
เมื่อศุกร์ที่ 13 พ.ค.59 มีเวทีเสวนาน่าสนใจและกำลังเป็นกระแสของโลก รวมทั้งกระแสในประเทศไทยด้วย นั่นก็คือการเสวนาเรื่อง “โรคเกลียดกลัวอิสลาม”
งานเสวนาจัดขึ้นที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “เกาะกระแส Islamophobia ในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” โดยคำว่า Islamophobia หมายถึงโรคเกลียดกลัวอิสลาม
การเสวนาจัดขึ้นในสถานการณ์ที่คนมุสลิมถูกมองเป็นผู้ร้าย นิยมความรุนแรง และเกี่ยวข้องโดยตรงกับลัทธิก่อการร้าย จนกลายเป็นโรคเกลียดกลัวอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จาก 911 ถึงชายแดนใต้...สังคมไทยไม่ปกติ
อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่า กระแสเกลียดกลัวอิสลามน่าจะเกิดหลังเหตุการณ์ 911 (เหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2001) ส่วนประสบการณ์ระยะใกล้ในสังคมไทย ภาวะหวาดระแวงมุสลิมก็เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เมื่อเร็วๆ นี้ มีกลุ่มคนขับรถไปสถานที่ก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดมุกดาหาร แล้วสั่งให้คนงานหยุดก่อสร้าง สอบถามเหตุผลก็อ้างว่ามาจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงก่อสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี ถ้าปัตตานีสร้างพุทธมณฑลไม่ได้ ที่มุกดาหารก็สร้างมัสยิดไม่ได้”
“ที่เชียงใหม่ มีการต่อต้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และยังมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราช ในเมืองมีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา คือ วัดพระมหาธาตุฯ ใกล้ๆ กันมีตลาดแขก ชุมชนตลาดแขกอพยพมาจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย บางคนพูดภาษามลายูปะลิสได้ ในวัดพระมหาธาตุฯเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านค้าของพี่น้องมุสลิมไปขาย เช่น เครื่องถมเงิน มีการไปบูรณะร้านค้าต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว และสร้างซุ้มร้านค้าเป็นลักษณะเหมือนศิลปะของมุสลิม ก็เกิดกระแสต่อต้านจากพระในวัดและผู้เกี่ยวข้อง”
อาจารย์ซากีย์ บอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เป็นการสั่นระฆังว่ามันเกิดภาวะไม่ปกติขึ้นในสังคมไทยแล้ว
ไทยเสี่ยงขัดแย้งศาสนารุนแรงตามรอยเมียนมา
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี จากสถาบันวะสะฏียะฮ์ หนึ่งในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคเกลียดกลัวอิสลามมีความเด่นชัดขึ้นตั้งแต่มีคนมุสลิมอพยพเข้าไปในยุโรปมากขึ้น และตัวเร่งคือเหตุการณ์ 911
ที่ผ่านมามีงานเขียนของนักวิชาการที่พยายามวิเคราะห์สาเหตุของโรคเกลียดกลัวอิสลาม พบว่าส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของโลกตะวันตกที่สร้างสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่ออธิบายคนอื่น หนึ่งในนั้นคือสังคมมุสลิม มีความประหลาด ล้าหลัง ไม่ศิวิไลซ์ ไม่อารยะ และมีความน่ากลัว มีอันตรายอยู่ในนั้น
มีงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งพูดถึง Islamophobia ว่าเป็นความพยายามของโลกตะวันตกที่สร้างให้อิสลามเป็นก้อนเดียวกันทั้งโลก ไม่มีความแตกต่าง เช่น มีคนบางส่วนใช้ความรุนแรง ก็จะเหมาว่าคนมุสลิมใช้ความรุนแรงทั้งหมด ฉะนั้นอิสลามอยู่ที่ไหนจึงวุ่นวาย คุณค่าของอิสลามเข้ากับคนอื่นไม่ได้ อยู่กับประชาธิปไตยไม่ได้
คำสอนของอิสลามหลายอย่างถูกมองว่าเอาไปรับใช้ความรุนแรง เช่น คำว่าญิฮาด ถูกตีความว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่คำนี้ เป็นคำที่แปลกประหลาดมากในอิสลาม เพราะอิสลามไม่เคยสอนว่าสงครามคือความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าสงครามนั้นจะมีความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม
“ที่เชียงใหม่ ผู้หญิงคลุมฮิญาบขี่มอเตอร์ไซค์ติดไฟแดง มีคนมาจอดรถข้างๆ แล้วด่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน ผมเป็นห่วงว่าถ้าสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างนี้ โดยทุกฝ่ายไม่ทำอะไรเลย เกรงว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหาแบบเมียนมาที่มีการทำร้าย เผา ฆ่ามุสลิม” ผศ.ดร.สุชาติ กล่าว
นักวิชาการมุสลิมจากเชียงใหม่ บอกด้วยว่า มีรายงาน 2 ชิ้นที่ถูกทำส่งไปยังสหรัฐอเมริกา หนึ่งคือความขัดแย้งเกี่ยวกับสีเสื้อในสังคมไทย กับสอง ความขัดแย้งเกี่ยวกับศาสนา และประเมินว่าประเทศต่อไปในอาเซียนที่มีศักยภาพขัดแย้งรุนแรงเรื่องศาสนาต่อจากเมียนมา คือไทย เพราะตอนนี้การเกลียดกลัวอิสลามแพร่ระบาด
ขัดแย้งศาสนากลายเป็นเครื่องมือการเมือง
ผศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า กระแสเกลียดกลัวอิสลามในภาคเหนือมีทั้งที่ จ.เชียงราย น่าน เชียงใหม่ พอจะสร้างมัสยิดหรือสิ่งปลูกสร้างเกี่ยวกับอิสลาม ก็ถูกต่อต้าน ที่เชียงใหม่เป็นกรณีนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อ.ดอยหล่อ ทั้งๆ ที่เป็นเงินเอกชน 2 พันล้านบาทมาลงทุน ขอใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ 800 ไร่ ขอผ่านสำนักจุฬาราชมนตรี แต่เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ทราบเรื่อง ก็ทำโครงการคู่ขนานในพื้นที่เดียวกัน คือโครงการสร้างบ่อทิ้งขยะ
“เมื่อโครงการเสนอซ้อนกัน ทางจังหวัดจึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เป็นกรรมการ 7 คน ยังไม่ทันประชุม ประธานคณะกรรมการพูดทำนองว่าปัญหาขยะเร่งด่วนกว่า สุดท้ายก็สนับสนุนให้สร้างบ่อขยะด่วยคะแนน 7:0”
“ต่อมามีการเบื้องหลังเรื่องนี้ และมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พอได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ก็มีการติดป้ายต่อต้านทันที เขียนข้อความหลายอย่าง เช่น ชาวเชียงใหม่ไม่เอาฮาลาล, มุสลิมจะมายึดเชียงใหม่ ฯลฯ กลายป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น ไประดมพระในจังหวัดเชียงใหม่ มีการประชุมพระ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ออกมาบอกว่าชาวเชียงใหม่ไม่เอาฮาลาล จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างศาสนา แต่กลายป็นเรื่องการเมืองจากผลประโยชน์ เหมือนไปแย่งชิงผลประโยชน์โครงการอื่น”
“ประเทศยักษ์ใหญ่ส่งออกฮาลาล 10 อันดับแรกของโลก คือ บราซิล อาร์เจนติน่า นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิบอันดับแรกแทบไม่มีประเทศมุสลิมเลย ผมอยากบอกว่าพอขยายความเกลียดชังไปทั่ว สุดท้ายการเมืองก็จะเอาไม่อยู่”
นักวิชาการมุสลิม กล่าวด้วยว่า ที่ จ.น่าน มีการคัดค้านการตั้งมัสยิด มีการมีหนังสือจากจังหวัดถึงจุฬาราชมนตรี พบประเด็นน่าสนใจที่เป็นเหตุผลที่คนน่านค้าน คือ 1.ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม 2.ประชาชนมีความหวาดระแวง หวาดกลัวต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.ข่าวสารจากญาติที่ไปทำงานในพื้นที่ ความไม่สงบในพื้นที่เป็นการสังหารชาวไทยพุทธ ชาวบ้านจึงไม่ไว้วางใจ
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ในทางกลับกันต้องทบทวนตัวเองด้วยว่า ที่ผ่านมามุสลิมได้ทำให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมรู้จักอิสลามมากน้อยแค่ไหน
ย้อนมองตัวเอง...ละเลยอธิบายวิถีมุสลิม?
อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ จากปาตานี ฟอรั่ม ซึ่งได้ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องนี้ในทุกภาคของประเทศ บอกว่า ผลการศึกษาแบ่งเป็น 2 มุม และ 2 กลุ่ม คือมีมุมมองที่ดีและไม่ดี กับมุมมทองที่มีต่อมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับมุสลิมทั่วประเทศ
เริ่มจากมุมมองในเชิงบวก ผลการศึกษาพบว่า คนทั่วไปมองว่าคนชายแดนใต้ถูกกดขี่จากรัฐมากพอสมควร จนเกิดกระแสความไม่พอใจ วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ยังพอเห็นได้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ
สำหรับเชิงลบ เหตุการณ์ที่ทำให้คนภาคเหนือไม่พอใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ครูจูหลิง (จูงหลิง ปงกันมูล) ซึ่งกลายเป็นตัวแทนคนภาคเหนือไปแล้ว ทั้งยังเหมารวมว่ามุสลิมชายแดนใต้เป็นพวกหัวรุนแรง
ขณะที่ภาพรวมที่สังคมไทยมองคนมุสลิมทั่วประเทศ
ด้านบวก วิถีปฏิบัติของมุสลิมเคร่งครัดดี ชื่นชม มีความเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่น น่าค้นหา สถาปัตยกรรมสวยงาม โดดเด่น แตกต่างจากศาสนาอื่น
ส่วนด้านลบ มองว่าวิถีปฏิบัติของมุสลิมจุกจิก เรื่องมาก ถ้าใช้เวลาร่วมกับมุสลิมจะรู้สึกอึดอัด มีคำถามว่าทำไมไม่กินหมู ทำไมไม่ไปร่วมงานศพเวลาเพื่อนต่างศาสนิกเสียชีวิต ทำไมมุสลิมบางส่วนต้องปิดหน้า รู้สึกไม่จริงใจ ไม่รู้ว่ายิ้มหรือโกรธ
“คำถามต่างๆ เหล่านี้ เราเองในฐานะที่เป็นคนมุสลิมเจ้าของศาสนา เราสามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ หรือเปล่า เพราะมีเสียงบอกว่าการอธิบายแต่ละครั้งแข็งทื่อ ฟังแล้วเกร็ง” อับดุลเล๊าะ ตั้งคำถาม
ในประเด็นนี้ อาจารย์ซากีย์ ให้ข้อมูลและตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า มีหนังสือวิชาการที่เขียนเกี่ยวกับอิสลามให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิมบ้างหรือไม่ มีหนังสือที่สื่อสารกับคนไม่ใช่มุสลิมบ้างหรือเปล่า เพราะคำถามพวกนี้ไม่เคยถูกอธิบายผ่านนักวิชาการมุสลิม ปรากฏการณ์ทีวี 4-5 ช่องที่คนมุสลิมมีอยู่ เป็นการสื่อสารกันเอง ไม่เคยพยายามสื่อสารกับคนต่างศาสนิก
อคติที่ชายแดนใต้เกิดจาก “ขบวนการเสี้ยม”
แอน อิศดุล ชาวพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดมีการเสี้ยมกันด้วย โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย บางทีมีการจัดตั้ง ทำให้แตกแยก ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ และไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“ยะลาเป็นจังหวัดเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุการณ์ระหว่างเยาวชนพุทธและมุสลิมออกไปตีกัน ฟันกัน ยิงกัน ด้วยความรู้สึกของการใส่ไฟให้เกิดความเกลียดชัง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่จากความกลัว แต่วันนี้ความกลัวกลายเป็นความเกลียดและอคติ”
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องเคลื่อนไหวให้เกิดเวทีพูดคุยกัน ไม่อย่างนั้นไม่รู้ว่าลูกออกจากบ้านไป ตอนกลับมามีรอยดาบบนหลังหรืออยู่โรงพยาบาล เรื่องแบบนี้เป็นเหตุการณ์ซ้อน เป็นความไม่ปลอดภัยที่ซ้อนความรุนแรงอยู่ ยิ่งมีเรื่องไอเอสเข้ามา มี 911 เป็นกระแส วันนี้เริ่มมีกระแสชาตินิยม ไม่เข้าร้านอิสลาม ไม่กินอาหาร ให้เข้าร้านไทยพุทธด้วยกัน กลายเป็นตาต่อตาฟันต่อฟัน น่ากลัวกว่าเอาระเบิดไปวาง ถ้าเราไม่คลี่คลายสถานการณ์นี้ ในอนาคตไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น" ชาวไทยพุทธที่ชายแดนใต้ตั้งคำถามทิ้งท้าย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : วิทยากรที่ร่วมเสวนา (จากซ้าย) แอน อิศดุล, อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ, ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, สุชาติ เศรษฐมาลินี