เชียงรายตื่นตัว แบงก์-ขนส่ง สร้างตึกต้านแผ่นดินไหว
เชียงรายปรับตัวยกระดับมาตรฐานรับมือภัยพิบัติ ธนาคารออมสิน-สถานีขนส่งขานรับนโยบายผู้บริหาร สร้างตึกใหม่ต้านทานแผ่นดินไหวเป็นแห่งแรก ขณะที่นักวิจัย สกว. ยังกังวลปัญหาทัศนคติคนในพื้นที่ ทั้งชาวบ้านและช่างท้องถิ่น ต้องเร่งให้ความรู้ตระหนักถึงอันตรายจากธรณีพิบัติมากขึ้น ย้ำการเสริมกำลังใช้งบเพิ่มเพียงเล็กน้อย
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ. ดร.อมร พิมานมาศ หัวหน้าโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่อง “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหวสู่วิศวกรและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะ ลงพื้นที่สำรวจอาคารบ้านเรือนที่ตกสำรวจ ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกวิธีจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายเมื่อปี 2557 รวมถึงสังเกตการก่อสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.แม่ลาว อ.พาน และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อให้คำแนะนำในการก่อสร้างและเสริมกำลังรับมือแผ่นดินไหวอย่างถูกวิธีตามหลักวิศวกรรม
นักวิจัย สกว. กล่าวถึงภาพรวมของอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมมาก วิศวกรออกแบบและควบคุมงานมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการก่อสร้างและการเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานของสิ่งปลูกสร้างให้มั่นคงแข็งแรง และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังเช่นโครงการก่อสร้างธนาคารออมสิน สำนักงานภาค 9 ใน อ.แม่ลาว ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ที่มีการเสริมกำลังโดยใช้เหล็กเส้นขนาด 20 มม. และมีระยะห่างระหว่างเหล็กปลอกถี่มาก โดยนายวัชรพงษ์ ฟุ้งพงศธร วิศวกรควบคุมงานระบุว่าได้ก่อสร้างอาคารตามแบบที่ได้รับจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารที่ต้องการให้สร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวแห่งแรกของธนาคารขึ้น ทั้งนี้แบบการก่อสร้างเน้นที่การใส่เหล็กปลอกและเพิ่มหน้าตัดเสาให้แข็งแรงขึ้น
เช่นเดียวกับการก่อสร้างบ้านหลังหนึ่งที่เจ้าของให้ความสำคัญกับการรับมือแผ่นดินไหว จึงได้จ้างภาคีวิศวกรที่มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรออกแบบบ้านชั้นเดียว เสริมกำลังด้วยเหล็กปลอกเพื่อรับแรงเฉือนในคานและเสาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
ขณะที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงรายแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร ในโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเทศบาลนครเชียงราย ในเขต อ.เมือง ซึ่งมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งก่อสร้างโดยใช้ผนังต้านแรงเฉือน (Shear Wall) เสริมเหล็กปลอกในเสาทุกต้นและทำการงอขอเหล็กปลอก 135 องศาได้มาตรฐานต้านแผ่นดินไหว นับเป็นสถานีขนส่งแห่งแรกของไทยที่ต้านแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งนำแบบมาตรฐานมาดัดแปลงเสริมกำลังภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด โดยใส่เหล็กปลอกที่เสา แต่คานยังมีขนาดเล็ก นักวิจัยเห็นว่า การปรับปรุงทำได้ไม่ยากโดยให้เพิ่มขนาดคานที่ยึดระหว่างเสาให้ใหญ่ขึ้น และเสริมกำแพงต้านแรงเฉือนความหนา 20 ซม. จะช่วยให้อาคารแข็งแรงมากขึ้น
ส่วนโครงการของหมู่บ้านแห่งหนึ่งแม้จะใส่เหล็กปลอกถี่เช่นกัน แต่เสามีขนาดเล็กเพียง 20x20 ซม. หากเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นอย่างน้อย 25x25 ซม. จะช่วยต้านแผ่นดินไหวดีขึ้น ซึ่งวิศวกรควบคุมงานเผยว่าการเสริมกำลังเป็นนโยบายของเจ้าของโครงการที่พยายามปรับตัว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว และมีผลต่อการตลาดที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจมากขึ้น โดยราคาค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยทำให้ทั้งเจ้าของโครงการและผู้บริโภคให้การยอมรับ
สำหรับการสำรวจบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อสองปีก่อน พบว่า บ้านของคุณยายมาลัย มูลเมา อายุ 72 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ตามลำพังในบ้านป่ารวก หมู่ที่ 4 ต.ธารทอง อ.พาน มีการเสริมเหล็กน้อยมากและขึ้นสนิม เนื้อปูนถูกกัดกร่อนแตกกะเทาะตามกาลเวลาและผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว ซึ่งต้องเสริมแรงอย่างเร่งด่วนเพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิตหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก โดยคณะวิจัยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ในการใช้เครื่องมือเข้าสำรวจบ้านอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงวัดขนาดเสาและกำลังรับน้ำหนักของคอนกรีต โดยจะออกแบบและทำการซ่อมแซมเสริมกำลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างของการเสริมกำลังที่ถูกต้อง โดยจะให้ช่างท้องถิ่นเข้ามาดูการทำงานของนักวิจัยและช่างที่จัดหามาเพื่อขยายผลเป็นต้นแบบการเสริมกำลังบ้านเก่าต่อไปด้วย
ศ. ดร.อมร ระบุว่า ยังมีบ้านเรือนประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ตกสำรวจหรือไม่ได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นข้อกังวลของนักวิจัย รวมถึงอาคารบ้านเรือนในพื้นที่อื่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในเขตรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งมีชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ 20 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ใช้เสาสำเร็จรูปขนาดเล็ก โครงสร้างที่รับน้ำหนักอ่อนแอ เกือบทั้งหมดไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐาน หน้าตัดเล็กแต่ยาว ต้านแรงด้านข้างได้น้อย ทำให้เสาโก่งตัว รวมถึงการใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ ผนังและกำแพงมีน้ำหนักมาก เสี่ยงล้มทับ วิธีแก้ไขทำด้วยการใช้เหล็กยึดและเทปูนเพิ่มให้เสาและกำแพงอิฐยึดประสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น
“นับเป็นสัญญาณที่ดีที่เชียงรายมีการตื่นตัวและพยายามปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงภัยพิบัติมากขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อาคารบ้านเรือนในพื้นที่อื่นต่อไป ทั้งเจ้าของอาคารบ้านเรือน ช่าง และวิศวกร ต่างให้ความสำคัญกับการออกแบบและก่อสร้างเสริมความมั่นคงต้านทานแผ่นดินไหวมากกว่าเมื่อสองปีก่อนมาก เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับ “คน” มากที่สุดเป็นอันดับแรก ทำอย่างไรที่จะให้คนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจ พยายามเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องการเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหวให้มากขึ้น ขอย้ำว่าการเสริมกำลังใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ป้องกันอันตรายได้อย่างคุ้มค่า ช่างท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมก็สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตามช่างท้องถิ่นบางกลุ่มยังคงคุ้นเคยกับวิธีการก่อสร้างแบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงขอเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการอบรมเสริมความรู้เรื่องการเสริมกำลังแก่ช่างท้องถิ่นและผู้รับเหมา เพื่อให้อาคารบ้านเรือนมีความปลอดภัยและต้านแผ่นดินไหวมากขึ้น ถ้าไม่ปรับปรุงโครงสร้างเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะยิ่งแก้ไขยากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจ ให้ความสำคัญถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพราะส่วนราชการและรัฐบาลอาจมีข้อจำกัดในการสำรวจหรืองบประมาณช่วยเหลือ” ศ. ดร.อมร กล่าวสรุป