กรมสุขภาพจิต ย้ำสื่อใช้ FB Live ถ่ายสดความรุนแรง อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกหนังสือเตือนสื่อให้รายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการรายงานสดผ่านกล้องมือถือ (Facebook Live)
วันที่ 20 พฤษภาคม 2559 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงแสดงความชื่นชม ขอบคุณ และสนับสนุน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยต่อแนวทางการนำเสนอข่าวและภาพข่าวความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจสาธารณชน จากกรณีมีการ “ถ่ายทอดสด” การล้อมจับผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาใช้ปืนจ่อศีรษะตนเอง ผ่านทีวี เฟซบุ๊กไลฟ์ รวมถึงช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งต่อมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือเตือนสื่อมวลชนรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการรายงานสดผ่านกล้องมือถือ (Facebook Live) นั้น
กรมสุขภาพจิต โดย อธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยจิตแพทย์และบุคลากร ขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับจิตใจของสาธารณชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าวในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่สมาคมได้ประกาศแจ้งขอความร่วมมือไปยังเพื่อนสื่อมวลชนร่วมวิชาชีพ
กรมสุขภาพจิต ขอย้ำว่า การเผยแพร่หรือถ่ายทอดสดความรุนแรง โดยเฉพาะภาพการทำร้ายตัวเอง ผ่านสื่อและช่องทางสังคมออนไลน์ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการส่งต่อความน่ากลัวและฉายภาพความรุนแรงซ้ำ อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่ต่างก็ย่อมมีวุฒิภาวะและความเปราะบางทางจิตใจที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความกดดันให้ผู้ก่อเหตุมากยิ่งขึ้น สื่อมวลชนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวร่วมด้วย
สื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพของผู้ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หรือลงรายละเอียดของการฆ่าตัวตายและไม่ควรเสนอข่าวเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ดราม่า ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมที่มากเกินไป
2. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือเกิดผลกระทบในทางลบต่อ ญาติและ ผู้ใกล้ชิด ไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
3. ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการปรับตัวในชีวิต ตลอดจนสร้างกำลังใจกับผู้ที่กำลังรู้สึกท้อแท้ในชีวิต
4. การนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองในภาพยนตร์หรือละครควรได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และขณะนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองควรมีการแจ้งให้ทราบถึงสถานบริการช่วยเหลือผู้คิดฆ่าตัวตายและบริการให้คำปรึกษา
5. ดูแลกายและใจของตัวเองให้ดีเพราะการติดตามทำข่าวแต่ละครั้งอาจได้รับความเครียดและความทุกข์ใจได้มาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์สูงแล้วก็ตาม จึงอย่าลืมพูดคุย ระบายกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อน คนในครอบครัว หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เฟชบุค สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ กรณีการยิงตัวตายของดร.ท่านหนึ่งหลังก่อคดียิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิตไป2คนนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดสดตลอดระยะเวลาหลายชั่วโมง ที่ตำรวจและญาติพยายามเกลี้ยกล่อม เป็นเรื่องที่น่าสลดและน่าเสียดายอย่างยิ่ง
น่าสลด ที่ความเป็นความตาย ของมนุษย์คนหนึ่ง ที่อาจเป็นพ่อ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นอาจารย์ ฯลฯ เป็นอะไรของอีกหลายๆคน (แม้ว่าเขาจะทำผิด ก่อคดีมา) ถูกสื่อนำมาถ่ายทอดให้คนทั่วประเทศได้รับชม
น่าเสียดาย ที่เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเขาไม่ทัน
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้ว่า สิ่งแรกที่คนที่กำลังรู้สึกจนตรอกต้องการ คือ คนที่เข้าใจหัวอกเขา เมื่อเขาไว้ใจ เขาจึงยอมรับการช่วยเหลือ ยอมทำตาม ดังนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ควรทำ คือ การรับฟังอย่างใส่ใจ (active listening) ฟังให้เข้าใจว่า เขารู้สึกยังไง (เข้าใจหัวอกเขาจากมุมของเขา ไม่ใช่ด้วยความคิดของเรา) และฟังให้รู้ว่าเขาผ่านเรื่องอะไรมา ซี่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝน เพราะฉะนั้น คนที่เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้จึงไม่ควรเป็นญาติ หรือ ใครสักคนที่มีเพียงส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ลูกศิษย์
"ตอนนี้คนตายไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่คนที่ยังอยู่ คือคนที่น่าห่วง ญาติของผู้เสียชีวิต ยังต้องอยู่ต่อไป กับหลายๆความรู้สึก จากการตายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ในอนาคตอาจจะเกิดภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post Traumatic Stress Disorder : PTSD) หวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกวัน ๆ"