ฟังชัดๆ ข้อเท็จจริง 5 ประเด็น! 'สตง.' หักล้าง 'ปตท.' เงื่อนงำคดีส่งคืนท่อก๊าซ
"...การที่ ปตท. เสนอข่าวและนำเอาข้อความเพียงบางส่วนหรือบางตอนขึ้นมากล่าว เป็นการกล่าวที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ สตง. ผ่านหนังสือฉบับดังกล่าว นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวดังกล่าว อาจทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ทราบเรื่องราวทั้งหมดมาก่อน เข้าใจผิดได้..."
จากกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้มติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชี้มูลความผิด ว่า บมจ. ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ นั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2559 สตง.ได้จัดทำเอกสารสรุปคำชี้แจงกรณีที่ ปตท. เสนอข่าวเรื่องการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว
โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
-------------
ตามที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้แถลงข่าวเรื่อง การฝ่าฝืนมติ ครม. และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับพวกเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 14.00 น (เอกสารแนบ 1) และหลังจากนั้นในวันเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้เสนอข่าวผ่าน PTT Group NEWS โดยมีประเด็นตามข่าว ปตท.ที่เสนอ ดังนี้
1. ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยไม่ต้องรายงานคณะรัฐมนตรีก่อนแต่อย่างใด จนเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจึงได้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดยคณะรัฐมนตรีไม่มีความเห็นแย้งใด ๆ กำหนดเป็นประเด็นย่อยได้ดังนี้
1) ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
2) เมื่อดำเนินการแล้วต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีหรือไม่ก่อนที่จะส่งสรุปรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อศาลปกครองสูงสุด
3) กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานดำเนินการเรียบร้อยแล้วในปี 2551 จึงรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 การรายงานผลดังกล่าวของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานล่าช้าหรือไม่
2. ปตท. ส่งข้อมูลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 แต่ สตง. มิได้มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด
3. ตามที่ สตง. กล่าวอ้างว่าได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. และแจ้งว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ปรากฏว่ารายงานดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง ปตท. ไม่เคยรับมาก่อน โดย สตง. นำส่งให้แก่ ปตท. ศาลฯ และหน่วยงานอื่นๆ วันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้วและเป็นวันที่หมดเขตการขยายเวลาแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาล
4. สตง. มีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ระบุว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจาณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ” ปตท. เสนอข่าวถูกต้องหรือไม่
5. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีหนังสือตอบหนังสือ สตง. ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งโดยสรุปว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และรายงานให้ศาลฯ ทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
สตง. ขอเรียนชี้แจงตามประเด็นข้างต้นดังนี้
ประเด็นที่ 1
ประเด็นย่อยที่ 1 ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
ข้อเท็จจริง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ต่อการตรวจสอบการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ “...อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กับพวก ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ...”
ประเด็นย่อยที่ 2 เมื่อดำเนินการแล้วต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อนที่จะส่งสรุปรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อศาล
ข้อเท็จจริงและความเห็น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป นั้น เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น เพื่อให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และตามคำพิพากษาต่อไป” กระทรวงพลังงานจึงได้ทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป เห็นว่า เมื่อผู้เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแล้ว ควรที่จะต้องนำผลการดำเนินการเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงควรได้รับทราบผลจากการสั่งการผ่านมติของคณะรัฐมนตรีเสียก่อน จากนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติอีกครั้งเป็นเช่นไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสามารถรับไปดำเนินการต่อได้
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย และต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีจนกว่าการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ จะแล้วเสร็จ
ประเด็นย่อยที่ 3 กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 การรายงานผลดังกล่าวล่าช้าหรือไม่
ข้อเท็จจริงและความเห็น ปตท. ได้ดำเนินการยื่นสรุปคำร้องฯ ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2551 และศาลปกครองสูงสุดได้บันทึกในสรุปคำร้อง ฯ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 แต่กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 เห็นว่า เป็นการดำเนินการล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ 1 เห็นว่า การดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ควรต้องรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ก่อนส่งสรุปผลรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ศาลฯ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสามารถสั่งการได้ทันท่วงทีหากผลการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องมิได้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีให้แนวทางไว้
ประเด็นที่ 2 ปตท. ส่งข้อมูลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบวันที่ 31 มกราคม 2551 แต่ สตง. มิได้มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงและความเห็น
ปตท. มีหนังสือแจ้งให้ สตง. ตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ดังนี้
1. หนังสือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 52000/6 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 เรื่อง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ลงนามโดยนายพิชัย ชุณหวชิร ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร ปฏิบัติงานแทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่กำหนดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550
2. หนังสือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 52020/4 ลงวันที่ 11 มกราคม 2551 เรื่อง จัดส่งข้อมูลรายละเอียดทรัพย์สินเพื่อ สตง. ตรวจสอบตามมติคณะรัฐมนตรีฯ ลงนามโดยนางปริศนา ประหารข้าศึก ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บัญชีองค์กร ปฏิบัติงานแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยอ้างถึงหนังสือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 52000/6 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 พร้อมหนังสือฉบับนี้ ปตท. ได้ส่งรายละเอียดทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ให้ สตง. ตรวจสอบ
3. หนังสือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 50000000/48 ลงวันที่ 31 มกราคม 2551 เรื่อง การรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ลงนามโดยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมหนังสือฉบับนี้ ปตท. ได้ส่งสรุปมูลค่าทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง พร้อมรายละเอียดประกอบให้ สตง. ตรวจสอบ
เมื่อ สตง. ได้รับหนังสือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 52020/4 ลงวันที่ 11 มกราคม 2551 ได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า รายละเอียดทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังไม่เป็นไปตามคำพิพากษา สตง. จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ดังนี้
กระทรวงการคลัง
1. หนังสือ สตง. ที่ ตผ 0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 เรื่องทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มาโดยใช้อำนาจมหาชนของรัฐ โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการแจ้งให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สั่งการให้ ปตท. ตรวจสอบว่า ปตท. ยังมีทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐนอกเหนือจาก 3 โครงการตามที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาอีกหรือไม่ และดำเนินการให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
2. หนังสือ สตง. ที่ ตผ 0023/1639 ลงวันที่ 4 เมษายน 2551 โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการติดตามหนังสือ ที่ ตผ 0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการจากกระทรวงการคลัง
3. หนังสือ สตง. ที่ ตผ 0023/2578 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2551 โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการติดตามหนังสือ ที่ ตผ 0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 และ ตผ 0023/1639 ลงวันที่ 4 เมษายน 2551 เนื่องจาก สตง. ยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการจากกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แจ้งตอบหนังสือของ สตง. ที่ ตผ 0023/0415 และ ตผ 0023/1639 ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0304/10306 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2551 เรื่อง การแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (เอกสารแนบ 9) พร้อมกับส่งสำเนาบันทึกการแบ่งแยกและการส่งมอบทรัพย์สินฯ ลงวันที่ 24 เมษายน 2551 ให้แก่ สตง. โดยหนังสือแจ้งว่า กระทรวงการคลังเห็นชอบตามที่กรมธนารักษ์ได้ร่วมกับ ปตท. ดำเนินการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินที่จะต้องโอนให้กระทรวงการคลัง ซึ่งรายการที่กระทรวงการคลังแจ้งนั้น เป็นรายการเดียวกับที่ ปตท. ส่งรายละเอียดให้ สตง. ตรวจสอบ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ สตง. มีความเห็นว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินฯ ไม่ครบถ้วน
กระทรวงพลังงาน
1. หนังสือ สตง. ที่ ตผ 0023/0416 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 เรื่องทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มาโดยใช้อำนาจมหาชนของรัฐ โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการแจ้งให้กระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำกับดูแล สั่งการให้ ปตท. ตรวจสอบว่า ปตท. ยังมีทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐนอกเหนือจาก 3 โครงการตามที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาอีกหรือไม่ และดำเนินการให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
2. หนังสือ สตง. ที่ ตผ 0023/1638 ลงวันที่ 4 เมษายน 2551 โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการติดตามหนังสือ ที่ ตผ 0023/0416 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการจากกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือแจ้ง สตง. ตามหนังสือที่ พน 0201/1310 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 เรื่อง รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยแจ้งว่า ทรัพย์สินที่ ปตท. แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น รวมมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ สตง. มีความเห็นว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินฯ ไม่ครบถ้วน
หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินที่ ปตท. จะส่งมอบให้กระทรวงการคลังให้ครบถ้วน แต่ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานต่างยืนยันว่า มูลค่าทรัพย์สินที่ ปตท. จะต้องส่งมอบเป็นมูลค่าเดียวกับที่ ปตท. แจ้ง สตง. ดังนั้น สตง. จึงเร่งดำเนินการตรวจสอบ จนได้ข้อสรุปว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินไม่ครบถ้วน จึงได้แจ้ง ปตท. ในที่ประชุม 2 ครั้ง ระหว่าง ปตท. และ สตง. ดังนี้
การประชุมครั้งที่ 1 วันที่ 29 ตุลาคม 2551 สตง. ได้แจ้งให้ ปตท. ทราบว่า สตง. มีความเห็นว่าทรัพย์สินที่ ปตท. จะต้องส่งคืนไม่สอดคล้องกับความเห็นของ ปตท.
การประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 9 ธันวาคม 2551 เป็นการประชุมเพื่อแจ้งผลการตรวจสอบของ สตง. ให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) ทราบ พร้อมกับส่งร่างรายงานของผู้สอบบัญชีต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เฉพาะเรื่องการตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทแบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้ ปตท. เพื่อทราบและพิจารณา
ทั้งนี้ จากการที่ ปตท. เสนอข่าวว่า ปตท. ส่งข้อมูลให้ สตง. ตรวจสอบวันที่ 31 มกราคม 2551 แต่ สตง. มิได้มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลการตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ ปตท.ทราบแล้วตามที่รายงานข้างต้น มิได้เป็นไปตามที่ ปตท. เสนอข่าวแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 ปตท. เสนอข่าวว่า “ตามที่ สตง. กล่าวอ้างว่าได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. และแจ้งว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ปรากฏว่ารายงานดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง ปตท. ไม่เคยรับมาก่อน”
ข้อเท็จจริงและความเห็น ตามที่ ปตท. เสนอข่าวว่า รายงานการตรวจสอบของ สตง. เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ขอเรียนชี้แจงว่า หนังสือแจ้งผลการตรวจสอบที่ ตผ 0023/2694 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เรื่อง การตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยเรียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมกับมีสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 รายการ คือ 1. รายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง และรายละเอียดประกอบฯ จำนวน 1 ชุด และ 2. ข้อสังเกตประกอบการตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (เอกสารแนบ 15) นั้น เอกสารที่ส่งมาด้วยคือ รายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ซึ่ง สตง. จะแจ้งผลการตรวจสอบผ่านรายงานของผู้สอบบัญชี และข้อสังเกตประกอบการตรวจสอบ (Management Letter) (หากมี) ส่วนหนังสือที่ ตผ 0023/2694 เป็นหนังสือนำส่งรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่ง สตง. ถือปฏิบัติด้วยวิธีการนี้มาโดยตลอดกับทุกหน่วยรับตรวจของ สตง. การที่ ปตท. ให้ข่าวว่า รายงานทั้ง 2 ฉบับ เป็นเพียงแค่เอกสารแนบท้าย เห็นว่า ปตท. ไม่น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะ ปตท. เป็นหน่วยรับตรวจของ สตง. มาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ปตท. ได้รับผลการตรวจสอบจาก สตง. ผ่านวิธีการเช่นนี้มาโดยตลอด และครั้งล่าสุด สตง. มีหนังสือนำส่งงบการเงินให้กับ ปตท. ที่ ตผ 0028/1328 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 เรื่อง การสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย พร้อมสิ่งที่ส่งมาด้วยคือ รายงานการสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลโดยผู้สอบบัญชีและงบการเงิน สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จำนวน 3 ชุด (เอกสารแนบ 16) ดังนั้น รายงานที่แนบหนังสือฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ของ สตง. เป็นรายงานผลการตรวจสอบ มิใช่เอกสารแนบท้ายตามที่ ปตท. เสนอข่าว
ส่วนกรณีที่ ปตท. เสนอข่าวว่าไม่เคยรับหนังสือดังกล่าว ขอเรียนชี้แจงว่า แม้ว่า ปตท. จะอ้างว่าไม่เคยได้รับหนังสือดังกล่าว แต่ สตง. ได้เคยส่งร่างรายงานฯ ให้ ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่) แล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ตามที่ได้เรียนรายงานไว้ในประเด็นที่ 2 ข้างต้น
ประเด็นที่ 4
ข้อเท็จจริงและความเห็น
กรณีประเด็นหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นกรณีที่ สตง. ได้ทำหนังสือยืนยันความเห็นเดิมคือ ปตท. ส่งมอบมูลค่าทรัพย์สินฯ ไม่ครบถ้วน ไปยัง (1) ปตท. (2) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (3) เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง (4) นายกรัฐมนตรี (5) กระทรวงการคลัง (6) กระทรวงพาณิชย์ และ (7) กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเนื้อหาสรุปของหนังสือมี 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 แจ้งว่า “ปตท. แบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน” และข้อ 2.แจ้งว่า “ปตท. ยังไม่ได้นำรายงานการตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินฯ ของ สตง. เสนอต่อศาลปกครองสูงสุด ถึงแม้รายงานของ สตง. จะนำเสนอ ปตท. ภายหลังวันที่ ปตท. เสนอรายงานการดำเนินการต่อศาลฯ แล้วก็ตาม ปตท. จะต้องนำเสนอรายงานของ สตง. ต่อศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฯ เนื่องจากรายงานของ สตง. เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลฯ จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลฯ ถือเป็นที่สุด” ตามข้อความที่ ปตท. เสนอข่าว เป็นข้อความของวรรคที่ 2 ของข้อ 2 ซึ่งการอ่านและพิจารณาข้อความในหนังสือ จะต้องอ่านต่อเนื่องมาจากวรรคที่ 1 จนถึงวรรคที่ 2 จึงจะถูกต้องและได้ใจความครบถ้วน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ สตง. การที่ผู้อ่านหนังสือหยิบยกข้อความขึ้นมา ซึ่งเป็นข้อความในวรรคเดียว โดยไม่ได้พิจารณาข้อความในวรรคนำหรืออื่นประกอบ อาจทำให้เข้าใจผิดได้
กลุ่มที่ 1 เห็นว่า การที่ ปตท. เสนอข่าวและนำเอาข้อความเพียงบางส่วนหรือบางตอนขึ้นมากล่าว เป็นการกล่าวที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ สตง. ผ่านหนังสือฉบับดังกล่าว นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวดังกล่าว อาจทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ทราบเรื่องราวทั้งหมดมาก่อน เข้าใจผิดได้
ประเด็นที่ 5
ข้อเท็จจริงและความเห็น
ตามที่ สตง. ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งยืนยันผลการตรวจสอบของ สตง. ต่อสำนักงานศาลปกครองอีกครั้ง และสำนักงานศาลปกครองได้แจ้งตอบ สตง. ตามหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2552 โดยสรุปว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด กลุ่มที่ 1 ขอเรียนว่า การที่ สตง. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาโดยตลอดตั้งแต่ ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการเนื่องจาก มีประเด็นข้อโต้แย้งระหว่าง สตง. และกระทรวงการคลังเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. โดยที่ สตง. ต้องรายงานให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ และท้ายที่สุดคือ การส่งรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. พร้อมกับประเด็นข้อโต้แย้งระหว่าง สตง. และกระทรวงการคลังให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ (เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้น) ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อนุญาตให้ สตง. ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และ สตง. จึงได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนว่า การดำเนินการของ สตง. ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 44 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ดังนั้น การดำเนินการของ สตง. ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้วตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
สรุปความเห็น ตามที่ ปตท. เสนอข่าวผ่าน PTT Group NEWS โดยมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับ สตง. นั้น เห็นว่าการดำเนินการของ สตง.มิได้เป็นไปตามที่ ปตท. เสนอข่าวแต่อย่างใด
(อ่านคำชี้แจงในส่วนของ บมจ.ปตท. ได้ ที่นี่ )