รณรงค์ประชามติได้ไหม-ร่าง รธน.คว่ำเอาไงต่อ? ความกังวลใจนักการเมืองถึง คสช.
“ลำพังมีเสือ (คำสั่ง คสช.) อยู่แล้ว แต่มีจระเข้ (ประกาศ กกต.) ขึ้นอีก หนีเสือปะจระเข้ มีสองฉบับ ใช้ในสถานการณ์เดียวกัน ทำไปทำมาอาจเข้าข่ายในกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ก็ตัวใครตัวมัน”
เรียกว่าเป็นการประชุมที่บรรยากาศค่อนข้าง ‘คุกรุ่น’ พอสมควร
สำหรับการชี้แจงของ ‘แม่น้ำ 4 สาย’ ได้แก่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ส่งตัวแทน ‘ระดับบิ๊ก’ ไม่ว่าจะเป็น ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ (ตัวแทน ครม.) ‘อุดม รัฐอมฤต-ประพันธ์ นัยโกวิท’ (ตัวแทน กรธ.) ‘กล้านรงค์ จันทิก-สมชาย แสวงการ’ (ตัวแทน สนช.) และ ‘เสรี สุวรรณภานนท์-คำนูณ สิทธิสมาน’ (ตัวแทน สปท.) จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มี ‘ศุภชัย สมเจริญ-สมชัย ศรีสุทธิยากร’ เป็นหัวขบวน
เพื่อมาชี้แจงสาระสำคัญเรื่อง ‘ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ที่จ่อคิวให้ประชาชนออกเสียง ‘ชอบ-ไม่ชอบ’ ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ รวมถึงอธิบายถึงกฏเกณฑ์การทำ ‘ประชามติ’ ที่ ‘วิษณุ’ ระบุว่า “เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยต่อพรรคการเมืองทั้งหลายที่ถูกเชิญมากว่า 65 พรรค (+ 1 กลุ่มการเมือง) ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำทีม พรรคเพื่อไทย นำโดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือแม้แต่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นต้น
แต่ไร้เงาตัวแทนกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือ กปปส. ?
นอกเหนือจากการร่ายยาวอธิบาย ‘ข้อดี’ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ รวมถึงกติกาต่าง ๆ ในการทำประชามติแล้ว ของบรรดา ‘แม่น้ำ 4 สาย’ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซักถามในประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ ในเรื่องการทำประชามติ และโร้ดแม็พต่อไปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปความให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
สำหรับประเด็นข้อสงสัยของกลุ่มการเมืองเกือบทั้งหมดที่เห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-นปช. หรือพรรคเล็กพรรคน้อยคือ การทำประชามติสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะได้หรือไม่ ?
‘เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์’ เปิดคำถามแรกว่า ประชามติที่กำลังจะดำเนินการขณะนี้ ดูแตกต่างกับการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา (ประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550) เนื่องจากการทำประชามติเป็นกระบวนการทางการเมือง เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องพึงแลกเปลี่ยนอย่างเสรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
“แปลกใจมาก ทุกวันนี้ คำบางคำ เช่น คำว่าชี้นำ มีกระบวนการประชาธิปไตยหรือกระบวนการทางการเมืองที่ไหนที่ไม่มีการชี้นำ และการชี้นำถ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ผิดหรือเลวร้าย คิดว่าเป็นการดูถูกประชาชน สิ่งที่สำคัญคือการแสดงความเห็นต้องสามารถทำได้อย่างเสรี คำว่าเสรีไม่ได้หมายความการพูดเท็จ ซื้อเสียง หรือข่มขู่ อย่างนั้นเป็นข้อห้ามสากลอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ เหตุใดจึงมีการทำความเข้าใจประหนึ่งว่า ชี้นำก็ผิด การรณรงค์ก็ผิด รวมถึงประกาศของ กกต. ที่ระบุว่า ห้ามพูดก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่ จึงต้องการคำตอบจาก กกต. ให้ประชาชนทราบว่าจะตีความคำเหล่านั้นอย่างไร”
นายอภิสิทธิ์ ยกตัวอย่างด้วยว่า ถ้ามีบุคคลสวมเสื้อรับหรือไม่รับ หรือขายเสื้อรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญ ผิดหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ กกต. ต้องมีคำตอบ
ขณะเดียวกัน ‘จตุพร’ ออกโรงถามในประเด็นนี้เช่นเดียวกันทำนองว่า คสช. กลัวแพ้การทำประชามติ !
ประธานคนเสื้อแดง ยืนยันว่า คำจำพวกรุนแรง ปลุกระดม หรืออะไรต่าง ๆ ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นคำนามธรรม กกต. เอาอะไรมาเป็นตัววัดในการวินิจฉัย
“ถ้าดูในปี 2550 ผมแพ้ เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก 48 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ไม่มีการห้ามรณรงค์ แต่ชุดนี้ความกลัวแพ้ มีการอบรมครู ก ข ค อบรม รด. อบรมลูกเสือชาวบ้าน”
“ใครใคร่รับก็รับ ใครใคร่ไม่รับก็ไม่รับ พวกผมมีกำลังพลเกินล้านคน ประกาศตัวจับการโกงประชามติครั้งนี้ เพราะไม่ควรเกิดปัญหานี้ขึ้น แต่พวกท่านไปพูดในแต่ละจังหวัดพูดแต่ข้อดีอย่างเดียว พูดข้อเสียไม่ได้ จะให้บรรยากาศอย่างนี้เกิดขึ้นหรือ เชื่อเถอะพวกผมจับได้ ให้สบายใจได้ กลัวพวกท่านจะล้มการทำประชามติ”
รวมไปถึง ‘ปลอดประสพ’ ที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ ‘อภิสิทธิ์’ ถามไป และไม่ขอถามซ้ำ
เรียกเสียงเชียร์เกรียวกราวจากตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคได้ไม่น้อย !
ร้อนถึง ‘สมชัย’ ต้องออกมาชี้แจงว่า ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 ระบุว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อต่าง ๆ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมาตรานี้ กกต. พยายามเขียนกฎหมายกว้าง ๆ เพื่อให้เกิดการตีความว่า รุนแรงคืออะไร ปลุกระดมคืออะไรเอาเอง แต่ในสิ่งที่ต้องพูดให้ชัดคือตามประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ทั้ง 7 ข้อ ซึ่ง กกต. ไม่สามารถเขียนรายละเอียดเชิงลึกได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ในประกาศ กกต.ดังกล่าว มีหัวใจอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
1.เท็จ แปลว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเอาสิ่งซึ่งไม่ใช่มาพูดกันต่อ แต่การพูดถึงอนาคต เช่น หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร สามารถพูดได้
2.การพูดหยาบคาย ก้าวร้าว หรือรุนแรง ตรงนี้ กกต. ใช้มาตรฐานของชนชั้นกลางมาตีความว่าเป็นข้อความหยาบคายหรือไม่ เช่น การพูด “กู-มึง” ถือว่าไม่หยาบคาย ทำนองนี้ แต่จะมีคำไหนที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหยาบคาย
3.การปลุกระดมโน้มน้าวให้เกิดการกระทำหรือพฤติกรรมให้เกิดความรุนแรงในสังคม หรือการชักชวนให้ใส่เสื้อรับหรือไม่รับนั้น หากพบว่าเป็นการปลุกระดมถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเป็นการปลุกระดมทางการเมืองถือว่าผิด ส่วนการขายเสื้อนั้น ในเมื่อยังไม่ได้รณรงค์หรือปลุกระดม ก็ยังไม่ชี้ว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ กกต. จะเฝ้าสังเกตต่อไปว่า การขายดังกล่าวนำไปสู่การรณรงค์หรือปลุกระดมหรือไม่ ถ้าหลักฐานชัดเจนเมื่อไหร่ ผิดทันที และไม่ได้หมายความว่า กกต. ชี้ผิดแล้วจะจบ แต่จะเข้าสู่กระบวนการทางอาญา ใครก็ตามในประเทศนี้ สามารถร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กกต.
(อ่านประกอบ : ประกาศแล้ว! กฏเหล็ก กกต.ช่วงประชามติ ห้ามรณรงค์ปลุกปั่น-สื่อโดนด้วย)
แต่คำตอบของ ‘สมชัย’ ก็ยังคงไม่เคลียร์ แม้กระทั่ง ‘วิษณุ’ เองก็ยังรู้สึกว่า ‘คลุมเครือ’ จนต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า เรื่องนี้ยังไม่ความชัดเจนจริง ๆ
“ถ้าผมอยู่ในฐานะแบบคุณ แล้วนั่งอยู่ตรงนั้น ผมก็ขานรับคำถามนี้”
‘เนติบริกร’ อธิบายว่า ในเรื่องนี้ให้ดูตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นหลัก ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งมาตรานี้กินขาดหมด เมื่อไปพ่วงกับมาตรา 61 ก็ไม่ครอบจักรวาล ดังนั้นหากจะมีการสื่อสารก็ทำไป ขออย่าเป็นความเท็จ รุนแรง หรือก้าวร้าว เพราะถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่ผิด หรือถ้าเข้าข่ายก็อาจไม่ผิด เพราะต้องดูที่เจตนาว่า พูดอย่างนั้นเพื่ออะไร ถ้าพูดแล้วเป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่ไปลงเสียงประชามติ หรือลงเสียงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจจะมีความผิดได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของศาลเช่นกัน ศาลอาจจะใช้มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตัดสินก็ได้
“เรื่องนี้ไม่ใช่เอาผิดใครง่าย ๆ เจอมาตรา 7 ก็หลุดแล้ว”
ปัญหาคือขณะนี้ไม่ได้มีแค่ข้อห้ามตามมาตรา 61 แต่มีคำสั่งของ คสช. หลายฉบับ เช่น คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง คำสั่งถ้าพบการกระทำผิดเข้าข่ายต่อความมั่นคงต่อรัฐให้ขึ้นศาลทหาร อยู่ด้วย ดังนั้นต้องระวังในการใช้คำพูด
“ลำพังมีเสือ (คำสั่ง คสช.) อยู่แล้ว แต่มีจระเข้ (ประกาศ กกต.) ขึ้นอีก หนีเสือปะจระเข้ มีสองฉบับ ใช้ในสถานการณ์เดียวกัน ทำไปทำมาอาจเข้าข่ายในกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว ก็ตัวใครตัวมัน”
ส่วนการตีความคำพูดต่าง ๆ นั้น ‘วิษณุ’ ยืนยันว่า “ไม่มีความชัดเจนจริง” แต่ให้ไปลองเปิดพจนานุกรมดูว่า คำเหล่านั้นแปลว่าอะไร เพราะศาลก็เคยตีความจากการเปิดพจนานุกรมมาแล้ว นอกจากนี้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยปรารภกับตนว่า ทำไมไม่มีคณะกรรมการด้านกฎหมายของ กกต. คอยดูแลเรื่องนี้เหมือนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่มีคณะกรรมการด้านกฎหมายคอยดูแลคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเฉพาะ หรือแม้แต่รัฐบาลสงสัยอะไรยังส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่ประธาน กกต. บอกว่า มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรประกาศให้สาธารณชนทราบด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจจากนายอภิสิทธิ์คือ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูก ‘คว่ำ’ แล้ว คสช. จะทำอย่างไรต่อ ?
เป็นหน้าที่ของ ‘เนติบริกร’ อีกครั้งที่ตอบคำถามดังกล่าว ทำนองว่า รัฐบาลเตรียมแผนการไว้แล้ว โดยจะส่งแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เป็นครั้งที่ 3 ก่อนวันทำประชามติ 7 ส.ค. 2559 โดยคาดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคว่ำจริง จะสามารถเขียนใหม่ขึ้นได้ในเวลาประมาณ 2 เดือน โดยอาจเอาข้อดีจากรัฐธรรมนูญฉบับเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : เลือกตั้งเมื่อไหร่? ชัด ๆ จากปาก‘วิษณุ’ โร้ดแม็พ คสช.หลังประชามติ รธน.)
แต่กลับไม่ตอบถึงวิธีการเขียน หรือมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่-อย่างไร ?
ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ ได้ถามว่า หาก กกต. ต้องการให้พรรคการเมืองขยายผลประชาสัมพันธ์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องให้ คสช. ‘ปลดล็อค’ คำสั่งห้ามประชุมพรรคการเมืองด้วย
ทว่าทั้ง ‘สมชัย’ และ ‘วิษณุ’ ต่างส่ายหัว ไม่สามารถให้คำตอบได้
แต่ ‘เนติบริกร’ ยังมีทางออก โดยขอให้สังเกต “สัญญาณ” ต่าง ๆ จาก คสช.
“ตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่น่าจะเลิกบางคำสั่ง หรือประกาศของ คสช. ได้แล้ว เช่น เรื่องการประชุมพรรคการเมือง ท่านประวิตร (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) ได้มาบอกผมให้ไปดู ผมก็ต้องรับมาดู ก็ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่ง รวมถึงเรื่องผ่อนปรนให้นักการเมืองออกนอกประเทศ หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น การประชุมพรรคการเมือง การให้พลเรือนไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งเรื่องนี้ผูกอยู่สองอย่างคือ สถานการณ์ และช่วงเวลาที่สมควร”
อย่างไรก็ดีในการประชุมชี้แจงยาวนานกว่า 5 ชั่วโมงดังกล่าว มีเกิดการปะทะคารมกันเล็กน้อย ระหว่างตัวแทน ‘แม่น้ำ 4 สาย’ และผู้ดำเนินการ กับกลุ่มนักการเมือง จุด ‘เชื้อไฟ’ และ ‘เสียงฮา’ ในห้องประชุมได้ไม่น้อย
ยกตัวอย่าง ในการพูดถึงคำรุนแรง ซึ่งเข้าข่ายตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ‘สมชัย’ ได้พาดพิงถึง ‘จตุพร’ ทำนองว่า “เมื่อท่านออกไปนอกห้องเดี๋ยวท่านก็ใช้คำว่า มึง-กู แล้ว” รวมถึงอ่านข้อความบนเสื้อของนายจตุพร “ประชามติ ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ผิดอีกด้วย
ก่อนที่จะถูก ‘จตุพร ตอบโต้ว่า การที่ ‘สมชัย’ เอามาตรฐานชนชั้นกลางมาวัดในการใช้คำหยาบถือว่าใช้ไม่ได้
ขณะเดียวกันในการลุกขึ้นถามของ ‘ปลอดประสพ’ ที่อธิบายว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะถูกผู้ดำเนินรายการ ‘เบรก’ ว่า ตกลงจะถามว่าอย่างไร แต่ ‘ปลอดประสพ’ กลับโต้มาว่า “อย่าเพิ่งมาสอด ผมเคยเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี” ก่อนจะเล่าว่า ไปตรวจสอบการก่อสร้างที่ จ.พิษณุโลก มีชาวบ้านเขียนป้ายว่า ‘No Corruption’ แต่กลับถูก กกต.จังหวัดเชิญไปชี้แจง เนื่องจากอาจเกี่ยวกับรณรงค์ทำประชามติ
เมื่อฟัง ‘ปลอดประสพ’ เล่าจบ ‘วิษณุ’ พูดตอบกลับไปอย่างติดตลกว่า “ทีหลังคุณก็อย่าใช้คำว่า No สิ ให้ใช้คำว่า ‘ปลอด’ แทน” เรียกเสียงฮาครืนให้กับห้องประชุม ก่อนที่อีกไม่นานนักและการประชุมยังไม่จบ ‘ปลอดประสพ’ เดินทางกลับทันที
ทั้งหมดเป็นคำถาม-ความกังวลใจของนักการเมืองต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ 2 พรรคใหญ่-นปช. แม้แต่พรรคเล็กพรรคน้อยก็เห็นว่า ควรมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นในการทำประชามติ
รวมถึงแนวทางของ คสช. หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคว่ำ ก็ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่งจุดนี้นักการเมืองมองว่า อาจเป็นการปิดกั้นข้อมูล เพราะหากเผยออกมาอาจทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรทำอย่างไรต่อไป
ส่วนสุดท้าย คสช. จะทำตาม หรือแค่รับฟังเสมือนอากาศธาตุ ต้องติดตามหลังจากนี้ !