ฆ่าโดยไตร่ตรอง...มองหลายๆ มุม
กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก กับการตัดสินใจไม่แจ้งข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" กับกลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมกันฆ่าคนพิการส่งขนมปัง
โดยเฉพาะเมื่อ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาอรรถาธิบายระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 เพื่อทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสังคมว่า เหตุใดตำรวจจึงไม่ตั้งข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" กับกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุ
สรุปง่ายๆ ก็คือหลักฐานที่ตำรวจมียังไม่ชัดเจนพอที่จะตั้งข้อหานี้ได้
โดยข้อหาที่ตำรวจตั้งกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ต้องหา ประกอบด้วย ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, บุกรุกเคหะสถาน และพกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ข้อหาที่ทนายต้องการให้ตั้งเพิ่ม คือ "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน"
คำอธิบายของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ดูจะสวนทางกับกระแสสังคมที่ได้เห็นหลักฐานจากทนายฝ่ายผู้ตาย โดยเฉพาะภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่บันทึกภาพกลุ่มวัยรุ่นผู้ต้องหากำลังโทรศัพท์ตามพรรคพวกมา ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ทำร้ายและฆ่าหนุ่มพิการ
หลายเสียงที่แสดงความเห็นผ่านทางสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ สรุปว่าการโทรศัพท์เรียกพรรคพวกมา และการทอดเวลาตั้งแต่การมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จนถึงช่วงที่เกิดการฆ่า ประมาณ 11 นาที เข้าข่ายเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว
พลิกดูประมวลกฎหมายอาญา เพื่อดูความต่างของโทษที่กำหนดสำหรับ 2 ข้อหานี้ พบว่า ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี
ส่วนโทษในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน บัญญัติอยู่ในมาตรา 289 ระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว
ความต่างของความผิด 2 ฐานนี้ ก็คือ ในชั้นพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นฆ่าหนุ่มพิการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก็ไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอื่นได้ นอกจากพิพากษาให้ประหารชีวิตสถานเดียว หากมีเหตุอันควรลดโทษ เช่น ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือยอมรับสารภาพ ก็อาจลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่โทษจริงที่ได้รับก็ยังสูงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
ในอีกมุมหนึ่ง หากตำรวจและอัยการฟ้องกลุ่มวัยรุ่นฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเท่านั้น ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี อาจลงโทษขั้นต่ำสุดของข้อหานี้ คือจำคุก 15 ปี และหากมีเหตุอันควรลดโทษอีก กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้อาจรับโทษทัณฑ์จริงแค่จำคุก 7 ปีครึ่ง
นี่คือสาเหตุที่ทำให้สังคมคาใจว่าเหตุใดตำรวจจึงไม่ตั้งข้อหาที่มีอัตราโทษสูงสุด เพราะมองเห็นพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นว่าเป็นการรุมทำร้ายคนพิการ ไม่สมควรให้อภัย ถึงกับมีการเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิต
จากกระแสวิจารณ์ของสังคมและผู้รู้ทางกฎหมายหลายคน สามารถสรุปประเด็นหลักๆ ได้ 3 ประเด็น คือ
1.ทำไมตำรวจไม่แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
2.ทำไมตำรวจไม่แจ้งข้อหาหนักไว้ก่อน แล้วให้ศาลวินิจฉัยว่าจะลงโทษในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงสุดนี้หรือไม่
และ 3.หากสุดท้ายตำรวจไม่ฟ้องฐานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ญาติผู้ตายสามารถยื่นฟ้องเองได้หรือไม่
จากการสอบถามความเห็นของผู้รู้ทางกฎหมาย ทั้งนักวิชาการ ทนายความ และผู้พิพากษาอาวุโส พบคำตอบว่า การแจ้งข้อหาของตำรวจต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่มี แม้ในทางปฏิบัติจะพบว่ามีหลายๆ คดีที่ตำรวจและอัยการแจ้งข้อหาหนักเอาไว้ก่อน แล้วโยนภาระให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย แต่นั่นก็เสี่ยงกับการถูกฟ้องกลับฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และกระทำการให้ผู้อื่นต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ดังที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้กล่าวเอาไว้
นอกจากนั้น หากเลือกแจ้งข้อหาหนักเอาไว้ก่อน ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในการยื่นประกันตัว เพราะเมื่ออัตราโทษสูง หลักประกันหรือเงินที่ใช้วางประกันต่อศาลก็ต้องสูงตาม กลายเป็นการสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยมากเกินจำเป็นหรือไม่ (หากพฤติการณ์ของเขาไม่ได้ชี้ว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจริง)
ส่วนการที่ญาติผู้เสียหายจะยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม หากเห็นว่าตำรวจและอัยการยื่นฟ้องไม่ครบถ้วนทุกข้อหานั้น ประเด็นนี้ไม่สามารถกระทำได้ เพราะการเป็นโจทก์ร่วม ต้องเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาที่อัยการยื่นฟ้อง หากต้องการฟ้องข้อหาอื่น ต้องแยกไปยื่นฟ้องเอง ซึ่งก็จะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับญาติผู้ตายมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับประเด็นสำคัญที่สุดที่ยังเป็นข้อถกเถียงว่าพฤติการณ์ของกลุ่มวัยรุ่นเข้าข่ายเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ประเด็นนี้ผู้รู้ทางกฎหมายให้ข้อมูลตรงกันว่า การฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายถึงการได้คิด, ทบทวน หรือวางแผนก่อนลงมือกระทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องมีการทอดเวลาหรือทิ้งช่วงเวลาในการไตร่ตรองก่อนจะก่อเหตุเท่านั้น เพราะหลายคดีที่มีคำพิพากษาศาลฎีกายืนยัน จำเลยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตัดสินใจลงมือฆ่า แต่ศาลก็พิพากษาว่าเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
ในทางกลับกัน ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้ลงมือฆ่าทันที มีการทอดเวลาออกไป แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้พิพากษาว่าเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
ทั้งหมดจึงต้องขึ้นกับพฤติการณ์แห่งคดีและการนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างกันบนศาล
ฉะนั้นการสร้างกระแสล่วงหน้าว่าการตั้งข้อหา หรือแม้กระทั่งผลของคดีควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ผู้วิจารณ์ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด จึงเป็นการสุ่มเสี่ยงจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในมุมใดมุมหนึ่งได้เหมือนกัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล