UNFPA ชี้ครอบครัวไทยเปลี่ยนโฉม ‘เกิดน้อย-อายุยืน’ พบคู่สามีภรรยาไม่มีบุตรพุ่งขึ้น 3 เท่า
เปิดรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ปี 58 พบโฉมหน้าครอบครัวเปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคเกิดน้อย อายุยืน มีความหลากหลาย คาดอีก 25 ปีข้างหน้า มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน/ปี ผู้สูงวัยเพิ่มจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ
วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 เรื่อง โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
โดยรายงานฉบับดังกล่าว พบว่า จำนวนครอบครัวที่มีโครงสร้างแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่ด้วยกัน มีจำนวนเพียงแค่ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.6 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็น 19.5 ล้านครัวเรือน ส่วนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมี 1.3 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 16
ในขณะที่จำนวนคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่า หรือร้อยละ 16 โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเขตเมือง จากร้อยละ 5.6 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2530
ส่วนครอบครัวข้ามรุ่น ปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับหลาน และครัวเรือนคนเดียว เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงสาระสำคัญภาพรวมของรายงาน โดยวิเคราะห์ว่า ครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ครอบครัวรูปแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วยพ่อแม่อาศัยอยู่พร้อมหน้ากันเป็นครอบครัวเดี่ยว จึงไม่ใช่รูปแบบหลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป ฉะนั้น จึงควรมีนโยบายสาธารณะที่มุ่งดูแลครอบครัวที่มีความต้องการแตกต่างกันไป โดยมุ่งไปที่การคุ้มครอง ให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อสมาชิกของครอบครัวที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนโฉมไป ผู้ช่วยผู้แทน UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยมีบุตรน้อยลง เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจะมีบุตร 5-6 คน แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน สูงสุด 1.2 ล้านคน แต่ปัจจุบันผู้หญิงจะมีบุตรเฉลี่ย 1.6 คน ทำให้มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 8 แสนคน/ปี ซึ่งคาดการณ์ว่า อีก 25 ปีข้างหน้า ผู้หญิงจะมีบุตร 1.3 คน และจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน/ปี
นอกจากนี้ ยังพบคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยในอีก 25 ปีข้างหน้า ผู้ชายจะมีอายุยืน 75 ปี และผู้หญิงจะมีอายุยืน 82 ปี
ทั้งนี้ จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ปี 2523-82 จะเห็นว่า ประชากรวัยเด็กลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ประชากรรุ่นปัจจุบันเป็นวัยแรงงานมากที่สุด อย่างไรก็ตาม อีก 25 ปีข้างหน้า จะลดลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จากเดิมร้อยละ 15
ดร.วาสนา กล่าวเพิ่มเติมถึงภาคแรงงานในประเทศไทยว่า อนาคตภาคการบริการจะเติบโตขึ้น และเป็นที่สนใจของคนยุคใหม่ ซึ่งคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จะไม่เข้าสู่ภาคเกษตรกรรมอีกต่อไป จากเดิมที่ภาคเกษตรกรรมเป็นที่ต้องการของแรงงานถึงร้อยละ 65 เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ที่น่ากังวล คือ คนส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านเงินออมและสวัสดิการสังคม ไม่มีเงินออมมากพอ สังคมเข้าสู่เศรษฐกิจชรา หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจากร้อยละ 59.3 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 80.6 ในปี 2557 ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การมีครอบครัวกลายเป็นทางเลือกของคน
ด้าน ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า คน GEN Y มีอายุระหว่าง 13-35 ปี นับเป็นวัยที่มีศักยภาพในการผลิตจีดีพีทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากร หากไม่สามารถสร้างความสมดุลได้ อาจมีประชากรไม่เพียงพอในอนาคต ซึ่งฟันธงได้ว่า “ไม่เพียงพอ” อย่างไรก็ตาม ยอมรับส่งเสริมการมีบุตรยาก เนื่องจากวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องหาวิธีทำอย่างไรให้ประชากรที่มีอยู่เดิมมีศักยภาพ สามารถช่วยพยุงกลุ่มผู้สูงวัยและเด็ก ให้อยู่ได้
ข้อมูลจากการวิจัย เรื่อง ทัศนคติของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร นักวิชาการ ม.มหิดล ยังระบุว่า มีความสอดคล้องกับงานวิจัยครั้งนี้ โดยพบปัจจุบันคนไทยนิยมมีบุตร เพื่อทำให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ร้อยละ 42 จากเดิมมีบุตรเพื่อสร้างสัมพันธภาพทางครอบครัว ส่วนเหตุผลที่คนไทยไม่นิยมมีบุตร เพราะอยากมีอิสระใช้ชีวิตตามต้องการ ร้อยละ 36
ขณะที่นายวิศิษฐ์ เดชเสน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ภาครัฐพยายามทำให้ครอบครัวไทยทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ให้มีการส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว แม้โครงสร้างสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมุ่งเน้นครอบครัว 3 วัย เพราะจะทำหน้าที่ได้ครอบครัวที่สมบูรณ์มากที่สุด พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ เพื่อติดตามข้อมูลและสร้างกลไกสู่ระดับปฏิบัติพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และเปิดให้ อปท.มีส่วนร่วมหนุนเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่ 7,011 แห่ง .