"ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" กับ "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" แตกต่างกันอย่างไร?
การแจ้งข้อกล่าวหา "ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กับการแจ้งข้อกล่าวหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" มาตรา 289 (4) นั้นมีความแตกต่างในผลของคดีอย่างแน่นอน...
เรื่องนี้ต้องเรียนเบื้องต้นก่อนว่าผมไม่ทราบรายละเอียดของคดีที่คนพิการถูกวัยรุ่นรุมฆ่าตาย และไม่ได้เห็นสำนวนการสอบสวน จึงไม่อาจให้ความเห็นได้ว่า การตั้งข้อหาเฉพาะ ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ไม่แจ้งข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด
แต่เนื่องจากผมได้ชมการให้สัมภาษณ์ของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาให้ข่าวว่าการแจ้งข้อหาทั้งสองข้อหานี้ก็ไม่ได้มีความความแตกต่างกันแต่อย่างใด เพราะโทษของทั้งสองข้อหา ก็มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตเท่ากัน ประเด็นนี้จึงทำให้ผมอยากอธิบายให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้เข้าใจว่า การแจ้งข้อกล่าวหา "ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กับการแจ้งข้อกล่าวหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" มาตรา 289 (4) นั้นมีความแตกต่างในผลของคดีอย่างแน่นอนครับ
การแจ้งข้อกล่าวหา "ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้น" นั้น แม้กฎหมายจะบัญญัติโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตก็จริง แต่กฎหมายยังเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษกับผู้กระทำความผิดได้ หากเห็นว่ากระทำผิดจริง โดยกฎหมายกำหนดดุลยพินิจให้กับศาลในข้อหานี้ไว้หลายอย่างโดยกฎหมายได้บัญญัติไว้ดังนี้
"มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี"
ในขณะที่ข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" นั้นกฎหมายไม่เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษได้ ดังนั้น ถ้าฟังว่าวัยรุ่นที่ร่วมกันทำให้คนพิการนั้นถึงแก่ความตาย โดยได้มีการไตร่ตรองในการที่จะลงมือกระทำความผิดไว้ก่อน กฎหมายในมาตรา 289 (4) บัญญัติโทษไว้เพียงสถานเดียว คือโทษ "ประหารชีวิต"
ดังนี้การที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการตั้งข้อหาทั้งสองกับผู้ต้องหานั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันในรูปคดี ประเด็นนี้ผมคงไม่อาจเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านกำลังอธิบายกฎหมายให้กับประชาชนฟัง ซึ่งไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงและหลักกฎหมายได้ เพราะในข้อหาที่ตำรวจตั้งไว้ หากในการสู้คดีมีการรับสารภาพ และหากศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดคือ 15 ปี รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง จะทำให้ผู้กระทำความผิด เหลือจำคุกเพียง 7 ปีครึ่ง จะเห็นได้ว่า โอกาสที่จะรับโทษของข้อทั้ง 2 ข้อหานี้อาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากประหารชีวิต เหลือจำคุก 7 ปีครึ่ง ซึ่งไม่ได้มีผลเท่ากันตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้มุ่งโจมตีความเห็นในทางคดีของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด แต่มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้ทราบว่าการตั้งข้อหานั้นแท้ที่จริงมีผลต่อรูปคดีและบทลงโทษเป็นอย่างมาก
มาร์ค เจริญวงศ์
เด็กติดเกาะในแดนไกล