ซากีย์: สื่อกับกระแสเกลียดกลัวอิสลาม และการพูดคุยดับไฟใต้ที่ไม่ควรยุติ
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.59 มีงานเสวนาเล็กๆ ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อหัวข้อว่า "Islamophobia ในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร" โดยคำว่า Islamophobia หมายถึงโรคเกลียดกลัวอิสลาม
ในงานมีการเสวนาแสดงความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และมี อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล บุตรชายของจุฬาราชมนตรี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
อาจารย์ซากีย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” ทั้งในประเด็น Islamophobia และเป็นแนวโน้มของโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ
อาจารย์ซากีย์ บอกว่า กระแสอิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากความไม่เข้าใจของพี่น้องที่อยู่ไกลพื้นที่สามจังหวัด แล้วรับข้อมูลข่าวสารจากสื่ออย่างเดียว
จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ไม่สามารถพูดได้อย่างหยาบๆ ว่า เป็นผลมาจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “โจรใต้” หรือผู้ก่อความไม่สงบอีกต่อไป เพราะมีความซับซ้อน คนในพื้นที่เองก็เริ่มเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นว่าปัญหามีความซับซ้อนเกินกว่าเรื่องแยกดินแดน หรือปัญหาพุทธ-มุสลิม
“สิ่งที่ปรากฏตามสื่อ เป็นแค่ข้อมูลหยาบๆ เช่น คนตายเป็นพุทธ คนทำเป็นผู้ก่อการ ประเด็นเหล่านี้ทำให้ท้ายที่สุดเกิดความไม่เข้าใจ นำไปสู่ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน” นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หยุดชะงักไปเพราะคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับฝ่ายมารา ปาตานี ตกลงกันไม่ได้เรื่องกรอบการพูดคุย หรือร่างทีโออาร์นั้น อาจารย์ซากีย์ บอกว่า ไม่มีการพูดคุยในปัญหาที่สะสมค้างเก่ามานานที่ไหนสำเร็จได้โดยรวดเร็ว กระบวนการอาจจะหยุดชะงักบ้าง แต่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้หลายภาคส่วนแสดงบทบาท โดยเฉพาะเสียงของภาคประชาสังคมในพื้นที่ และกลุ่มนักธุรกิจ ต้องสร้างบรรยากาศให้เห็นว่ายังต้องการการพูดคุย เพื่อให้รัฐบาลหันกลับมามองว่าควรจะเดินหน้าต่อไป หรือหยุดแล้วศึกษาแนวทางอื่น แต่ไม่อยากให้มองว่าการหยุดชะงักเป็นความล้มเหลวของกระบวนการทั้งหมด
“ทุกๆ พื้นที่ความขัดแย้ง อย่างในไอร์แลนด์เหนือ กว่าจะคุยกันเสร็จ 30 กว่าปีถึงจะลงตัว นำมาสู่ข้อยุติ ในศรีลังกาก็คุยกัน ในฟิลิปปินส์ก็คุยกันเป็นสิบๆ ปีมาแล้ว เราอย่าลืมว่าเราเริ่มพูดคุยอย่างเป็นทางการที่ทำให้สาธารณชนได้รับรู้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง (ปี 2556 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ส่วนการพูดคุยก่อนหน้านี้เป็นการพูดคุยทางลับระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง”
“แต่วันนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศ ในสังคม ทราบแล้วว่ามีการพูดคุย ฉะนั้นต้องให้เวลากับกระบวนการ ให้เวลาในการทำงาน ภาคส่วนต่างๆ ควรหนุนเสริม รัฐบาลควรมีความตระหนักและต้องเห็นความต้องการของคนในพื้นที่ ผมคิดว่าภาคประชาสังคมมีส่วนสะท้อนให้รัฐบาลเห็นได้” อาจารย์ซากีย์ กล่าวทิ้งท้าย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ อาจารย์ซากีย์ จากเว็บไซต์ พับลิกโพสต์ ออนไลน์ http://www.publicpostonline.net/3155