ภาคปชช.เผยภาระจ่ายบำนาญเกินครึ่งอยู่ที่ ขรก.ไม่ใช่ผู้สูงวัย
เครือข่าย ปชช.ค้านรัฐเล็งลดเบี้ยคนชรา ผู้มีรายได้สูง เลิกพูดเงินมีจำกัด ยกงบฯ ปี 59 ภาระจ่ายบำนาญเกินครึ่งอยู่ที่ ขรก. ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เสนอทางออกดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ แก้ปัญหาทั้งระบบ สร้างระบบจัดเก็บภาษีใหม่ เพิ่ม VAT เป็น 8%
วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงข่าวคัดค้านนโยบายรัฐที่จะมีการทบทวนนโยบายการจ่ายสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าใหม่ ภายหลังนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน จะยกเลิกจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 9,000 บาท/เดือน หรือมีทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท และเลือกจ่ายให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำหรือต้องการได้รับความช่วยเหลือจริงเท่านั้น เพื่อลดภาระงบประมาณ รองรับไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
นางชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กทม. เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ปรากฎ คือ การไล่บี้กับงบประมาณสวัสดิการถ้วนหน้า ปรับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บังคับให้ร่วมจ่ายในกรณีหลักประกันสุขภาพ จำกัดอัตราค่าแรงกรรมกร จำกัดเพดานงบด้านสวัสดิการประชาชน แต่กลับเพิ่มสวัสดิการข้าราชการ หรือแม้แต่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ละเลยการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ขณะที่สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ช่องว่างของโอกาสทางสังคมที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับมองว่า การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการทำลายระบบเสรีนิยมที่ประชาชนต้องขวนขวายทำงานหารายได้มาเอง ได้มากก็มีสิทธิใช้มาก หากได้น้อยก็ก้มหน้ารับกรรมไป
“รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิประชาชนมาเป็นอันดับแรก ประชาชนต้องกินอิ่มนอนหลับถ้วนหน้า ก่อนที่จะคิดอย่างอื่น และตอนนี้เราใช้งบประมาณมหาศาลลงไปในระบบรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นย่อมต้องคาดหวังรายได้คืนกลับมา ซึ่งที่เกี่ยวกับสวัสดิการของผู้สูงอายุ เมื่อคำนวณแล้วไม่เป็นภาระของรัฐเลย เชิงสถิติกลับต่ำลงด้วยซ้ำ เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่รายจ่ายไม่สูงตามขนาดนั้น ดังนั้นผู้นำประเทศต้องเปลี่ยนหลักคิดให้ได้ก่อน”
ผู้แทนเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวต่อว่า รัฐจึงต้องเริ่มคิดใหม่ตั้งแต่วันนี้ให้ถูกต้อง โดยหากไม่ดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่วันนี้ อย่าหวังว่าอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่ร่ำรวย ช่วยเหลือตัวเองได้ อยากให้มองญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ ที่วางระบบดูแลระยะยาว ทำให้ประชาชนแก่ก่อนรวย ส่วนไทยเพียงจุดเริ่มต้นก็ปฏิเสธแล้ว จะมีเฉพาะกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือกองทุนประกันสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในวันข้างหน้าได้
“กองทุนประกันสังคม กรณีทำงานตลอดชีวิต กลับถูกจำกัดว่า เมื่อเกษียณอายุจะได้รับรายได้เพียงเดือนละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ กอช. ถามว่าใครจะออมตลอดชีพ เพราะเมื่อเรียนจบต้องเปลี่ยนอาชีพและเข้าสู่กองทุนประกันสังคมแทน” นางชุลีพร กล่าว และว่า แม้ส่วนที่เก็บออมอาจได้เพียงเล็กน้อย แต่เป็นส่วนเสริมบำนาญพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ เพราะฉะนั้นไม่ว่ากองทุนประกันสังคม หรือกอช. ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นแน่นอน
สำหรับสาเหตุที่กองทุนต่าง ๆ ไม่ทำให้ชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้น ผู้แทนเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า รัฐคิดนโยบายไม่ตลอด ต้องเข้าใจว่า ทุกนโยบายที่เกิดขึ้นล้วนมาจากกระแสกดดันของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น แรงงานเรียกร้องให้มีกองทุนประกันสังคม หรือแรงงานนอกระบบเรียกร้องให้มี กอช. แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจากความตั้งใจของรัฐ ฉะนั้นการตอบสนองจึงเป็นไปตามกระแส ทำให้ไม่ถูกคิดอย่างเป็นระบบ เลยแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย ทางออกจึงเสนอให้มีพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้มีการพิจารณาทั้งระบบ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน
โดยหลักการสำคัญต้องจัดตั้งคณะทำงานดูแลให้เกิดสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเพียงพอในระดับหนึ่ง ซึ่งเสนอไว้ที่เส้นความยากจนของประเทศ เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบันไม่ยั่งยืน จะถูกล้มเมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นจึงเสนอให้มีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งภาคประชาชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังกระทรวงการคลังและม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับปากจะแต่งตั้งคณะทำงานร่วมพูดคุย
นางชุลีพร ยังกล่าวถึงมาตรา 48 ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ระบุ “บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” ว่าการเขียนกฎหมายลักษณะนี้สะท้อนถึงความคิด โดยรัฐยังคิดเชิงสงเคราะห์ พร้อมตั้งคำถาม มีใครบ้างอยากได้รับการสงเคราะห์ เพราะจะต้องถูกซักถามประวัติเหมือนเราไม่ใช่คน ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่เลย ดังนั้นรัฐคงไม่ต้องการให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตัวเลขงบประมาณด้านบำนาญชราภาพที่ รมช.คลังให้ข้อมูลนั้นไม่ครอบคลุมและไม่แยกแยะระหว่างงบบำเหน็จบำนาญข้าราชการกับงบสวัสดิการบำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุทุกคน เวลาพูดมักให้ข้อมูลว่าเป็นภาระทางการคลัง แต่เมื่อจะลดภาระกลับยกให้ประชาชนรับภาระนั้นเอง ไม่กล้าแตะการใช้งบประมาณของข้าราชการและพวกพ้อง
“งบประมาณ ปี 2559 ที่ให้ใช้จ่ายเรื่องบำนาญ 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการเกษียณอายุราว 6 แสนคน ส่วนอีก 6 หมื่นล้านบาท จ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกว่า 9 ล้านคน”
ในขณะที่เบี้ยยังชีพทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต มีหลักประกันรายได้พื้นฐานเมื่อยามชราภาพ ดังนั้น กระทรวงการคลังควรมีตัวเลขคุณภาพชีวิตมาแสดงให้เห็นประกับกับจำนวนงบประมาณที่ใช้จ่าย และควรทำหน้าที่จัดเก็บภาษีรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วนำกลับมากระจายให้ประชาชนในรูปสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและประชาชนได้รับประโยชน์ถ้วนหน้าด้วย
ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมถึงการได้มาของการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรายได้ให้แก่รัฐนำมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชน ว่าต้องมีการทบทวนระบบ เช่น ภาษีมรดก จะจัดการอย่างไร ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) จาก 7% เป็น 8% หรือไม่ เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาจัดสวัสดิการเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยรวมแล้วต้องจัดเก็บภาษีให้อยู่บนโต๊ะมากที่สุด และบริหารรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เพื่อโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่เพื่อสวัสดิการถ้วนหน้า .