กพร.แนะอัครา เตรียมแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันนี้ ยันคำสั่งเป็นไปตามนโยบายลดขัดแย้ง
อธิบดี กพร. ยันคำสั่งปิดเหมืองอัคราฯ ทำตามนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบในอนาคต แนะบริษัทเตรียมแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันนี้ ชี้ปัจจุบันประกอบการต้องตอบให้ได้ว่า ชาวบ้าน ชุมชนได้อะไรจากการเข้าไป
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ภายในงานแถลง เปิดตัว “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ประจำปี 2559 (CSR-DPIM)” ที่ห้องประชุมทองคำ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นที่ฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงคำสั่งปิดเหมืองทองคำที่พิจิตรว่า ขณะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงการส่งหนังสือคำสั่งยุติการทำเหมืองแร่อย่างเป็นทางการให้กับ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และแผนการฟื้นฟูเหมืองจะระบุอย่างชัดเจน ทั้งนี้อยากให้ทางบริษัทอัคราฯ เตรียมการฟื้นฟูเหมืองไว้ตั้งแต่วันนี้
นายชาติ กล่าวยืนยันว่า การประกาศยุติการต่อใบอนุญาตเหมืองทองคำที่พิจิตรนั้น เป็นการพิจารณาอย่างถูกต้อง อยู่บนหลักการนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหมืองในอนาคต รวมถึงเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน อย่างไรก็ตามการพิสูจน์ข้อเท็จเรื่องโลหะหนักและสารพิษตกค้างยังคงต้องทำต่อไป เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้การให้เหมืองสามารถทำต่อไปได้ถึงเพียงสิ้นปี 2559 เพื่อเยียวยาตัวบริษัทด้วย และการประเมินที่ผ่านมาก็พบว่า ศักยภาพในการทำเหมือง ในทางเทคนิคและวิศวกรรมแล้ว บริษัทจะสามารถทำเหมืองได้ไม่เกินปี 2559 จึงอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมได้ถึงสิ้นปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินหลักการทางเทคนิคและวิศวกรรมดังกล่าว
อธิบดีกพร. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางบริษัทคิงเก็ต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอัคราฯ สำหรับกรณีกระแสข่าวว่าบริษัทอัคราฯ จะมีการฟ้องร้องนั้น เห็นว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องมุมมองและสิทธิของบริษัทเอง ในส่วนคำสั่งยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ก็มีผลทั่วประเทศทันที ส่วนเรื่องอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่ลามไปสู่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ประเภทอื่นแน่นอน
นายชาติ กล่าวถึง "โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ประจำปี 2559 (CSR-DPIM)” กพร.มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์ในการผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องการให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้าใจและก่อให้เกิดการยอมรับในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีสถานประกอบการกว่า 71 แห่ง ที่นำมาตรฐาน CSR-DPIM ไปประยุกต์ให้ และคาดว่าในปี 2559 นี้ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีก ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง
“ วันนี้สิ่งที่ผู้ประกอบเหมืองทั่วประเทศต้องตอบคำถามให้ได้คือ การเข้าไปทำเหมืองในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร และต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ ถ้าเหมืองสามารถตอบข้อคาใจสองข้อนี้ได้ ปัญหาข้อขัดแย้งก็จะหมดไป วันนี้ความใฝ่ฝันของเราคือการที่เหมืองไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมของชุมชน ของชาวบ้าน อยากให้ชุมชนได้รู้สึกว่าเหมืองคือสิ่งปกติไม่ต่างจากการมีวัด มีโรงเรียน” นายชาติกล่าวและว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง จะให้มีคนสนับสนุน 100% คงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าสามารถทำได้อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ชุมชน ชาวบ้านจะคอยเป็น Buffer Zone ให้การประกอบกิจการเหมืองไปเอง.