วช.หนุนรัฐส่งเสริมท้องถิ่นทำ 'ก้อนเชื้อเพลิง' จัดการขยะล้นชุมชน
วช.ดันรัฐสนับสนุนให้ท้องถิ่น ผลิตก้อนเชื้อเพลิง RDF จัดการปัญหาขยะล้นชุมชน ชี้ข้อดีลดการนำเข้าถ่านหิน สนองคำมั่นเวที COP 21
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าว “เชื้อเพลิงขยะ(PDF) ทางออกของการกำจัดขยะชุมชน” ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวว่า ก้อนเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF) คือ ขยะมูลฝอยที่ผ่านกระบวนการจัดการต่าง ๆ เช่น การคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกมา การฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เชื้อเพลิงขยะที่ได้นั้นต้องมีค่าความร้อน (Heating Value) เป็นทางออกให้กับนโยบายการจัดการขยะของรัฐบาล และในภาวะวิกฤติที่ประเทศขาดความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจาก ตัว RDF นั้นสามารถเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ความร้อนสูงอย่าง โรงงานปูนซิเมนต์
ทั้งนี้ ประโยชน์ของ RDF คือ การกำจัดขยะที่สะสมมานานหลายปี และกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากทุกวันในภาวะที่พื้นที่ฝังกลบจำกัด ประการต่อมา สามารถนำเชื้อเพลิงทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอซซิลราคาถูกอย่างถ่านหิน ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นในเวที COP 21 ที่ปารีส เรื่อง การลดการใช้พลังงานฟอซซิลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย
สำหรับโรงปูนซิเมนต์ส่วนใหญ่นอกจากใช้ก้อนเชื้อเพลิงขยะเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ผลพลอยได้จากการใช้โรงงานจะมีระบบนำความร้อนเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์และสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ลดการใช้พลังงานโดยรวมในการผลิตปูน เถ้าจากการใช้เชื้อเพลิงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ปูนได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถลดข้อกังวลด้านมลพิษลงไป เพราะมาตรฐานของโรงงานปูนแต่ละแห่งให้เทคโนโลยีสูงอยู่เเล้ว หากรัฐจะมาสร้างโรงไฟฟ้าขยะใหม่ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในทุกด้าน
“RDF มีประโยชน์ต่อเนื่องอีกมาก ยกตัวอย่างเช่นเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นในการจัดการขยะและพัฒนาพื้นที่ฝังกลบขยะเดิมให้เป็นพื้นที่สีเขียว ลดการแพร่ระบาดของโรค สัตว์พาหะ เป็นต้น” ดร.ขวัญฤดีกล่าว และว่า ปัจจัยสำคัญที่จะต้องศึกษาและระวังหากเทศบาลจะทำ RDF คือ ปริมาณขยะในพื้นที่ องค์ประกอบทางเคมีของขยะแต่ละพื้นที่ กลิ่นของขยะ
ดร.ขวัญฤดี ยังกล่าวว่า การทำ RDF ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีหลายเทศบาลผลิตและขายให้ภาคอุตสากรรมแล้ว รวมทั้งยังมีเทศบาลอีกหลายแห่งที่มีความพร้อมและอยากผลิตเพราะเทคโนโลยีไม่ยุ่งยากซับซ้อน ต้นทุนไม่สูง ไม่ต้องการพื้นที่มาก ทั้งยังไม่เจอกระแสกดดันจากสังคมเหมือนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เทศบาล ชุมชนผลิตก้อนเชื้อเพลิงขยะที่มีคุณภาพ โดยผ่านการทำสัญญาแบบ supply Chain ในระยะยาว และสร้างระบบประกันคุณภาพ ราคาขาย และขนส่งที่สามารถปรับราคาตามเชื้อเพลิง
ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. กล่าวอีกว่า หากพิจารณาเฉพาะความสามารถรองรับขยะชุมชนของโรงงานปูนซิเมนต์ในประเทศพบว่ามีเพียงพอในเชิงปริมาณ แต่หากพิจารณาที่ตั้งของโรงงานปูนกับชุมชนหรือเทศบาลในเชิงพื้นที่แล้ว โรงงานปูนมีไม่ทั่วถึงเพียงพอที่จะรับขยะชุมชน เนื่องจากระยะทางของโรงงานปูนกับแหล่งกำเนิดขยะชุมชนควรอยู่ไม่ไกลเกินจุดคุ้มทุน คือรัศมี 150-200 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายของรัฐที่ยกให้ขยะเป็นวาระแห่งชาตินั้น รัฐบาลควรมุ่งเน้นการจัดการกำจัดขยะมากกว่าการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า การยอมเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งก่อนเชื้อเพลิงไปยังโรงงานปูนที่อยู่ไหลจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมและประชาชนให้การยอมรับมากที่สุด
"จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะจำนวนมากในประเทศ โรงไฟฟ้าขยะควรมีเฉพาะบางพื้นที่ห่างไกลจากโรงงานปูนซีเมนต์ในระยะ 300 กิโลเมตร หรือในระยะที่ไม่คุ้มทุน เพราะแนวคิดของนโยบายขยะคือการกำจัดซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลัก"
ด้านนายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากการต่อต้านของประชาชนที่ไม่มั่นใจคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงชุมชนบางแห่งมีขยะน้อยเกินกว่าค่าคุ้มทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า การพิจารณาความเป็นได้ในการผลิตก้อนเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์จึงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนสนใจ
การแถลงข่าวในครั้งนี้ จึงเป็นการเสนอแนะนโยบายการจัดการขยะโดยชุมชนบนพื้นฐานของการวิจัยเชิงพาณิชย์ และเสนอนโยบายต่อรัฐบาลในการเดินหน้ากำจัดขยะชุมชนโดยส่งเสริมให้เกิดการผลิต RDF โดยมีคำถามเชิงนโยบาย คือ
1.)จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ในแง่ความเร่งด่วนและความคุ้มทุน
2.)จะส่งเสริมเทศบาลใดบ้างให้ผลิต
3.) การผลิต RDF ที่เหมาะสมกับความต้องการของโรงงาน
4.)จำนวนโรงไฟฟ้าจากขยะที่ควรสร้างให้เหมาะสมกับปริมาณ RDF ที่เทศบาลต้องผลิต
5.)รัฐบาลจะจัดสรร adder หรือ Feed in Tariff หรือไม่ .