สนง.สถิติเผยแรงงานไหลออกนอกภาคเกษตร 1.62 ล้านคน
สนง.สถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจแรงงานภาคเกษตรลดลง 1.62 ล้านคน เกษตรกรว่างงาน 3.9 หมื่นคน ก.แรงงาน เตรียมนำข้อเสนอแรงงานนอกระบบประสบอุทกภัยเข้าพิจารณาใน คกก.เยียวยาน้ำท่วม
สำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือน ก.ย.54 พบว่า จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.11 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมทำงาน 39.23 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 38.86 ล้านคน ว่างงาน 295,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาล 73,200 คน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา มีกว่า 14.88 ล้านคน
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 38.86 ล้านคน ได้ลดลงกว่า 220,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม 14.76 ล้านคน ลดลง 1.62 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 24.10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นในสาขาโรงแรมและบริการด้านอาหาร 430,000 คน สาขากิจอื่น เช่น การเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง บริการซักรีดและซักแห้ง 340,000 คน สาขาการเงินและการประกันภัย 130,000 คน สาขาก่อสร้าง 80,000 คน สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 70,000 คน
ส่วนผู้ว่างงาน 295,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 0.8% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 0.9% โดยมีผู้ว่างงานลดลง 48,000 คน แต่เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 25,000 คน และเมื่อพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงาน พบว่าผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมี 150,000 คน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมี 145,000 คน ลดลง 77,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผู้ว่างงานมาจากภาคการผลิต 58,000 คน ภาคการบริการและการค้า 48,000 คน และภาคเกษตรกรรม 39,000 คน
โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด 1% รองลงมากรุงเทพฯ 0.8% ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเท่ากันที่ 0.7%
ด้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เข้าพบเพื่อยื่นข้อเสนอโครงการฟื้นฟูแรงงานนอกระบบหลังมหาอุทกภัย 2554 ใน 12 ประเด็น ว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน ส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคือการเลื่อนนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 (ผู้ประกันตนเอง) โดยเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคมได้ขยายวันนำส่งเงินสมทบออกไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. โดยผู้ประกันตนจะไม่ขาดสิทธิ์การเป็นผู้ประกันตนและยังได้รับการคุ้มครองตามเดิม
ส่วนข้อเสนออื่นๆ ทั้งเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเงินช่วยเหลือนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันเดียวกันนี้
ส่วนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในการซ่อมแซมเครื่องมือทำมาหากิน ได้กำชับให้อธิบดีกรมการจัดหางาน ไปพิจารณา เพื่อปรับลดหลักเกณฑ์การปล่อยกู้จากกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพแล้ว .
ที่มาภาพ : http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=3065&s=tblplant