แพทย์จุฬาฯ ค้าน สธ.เร่งรีบเสนอร่าง กม.เซลล์บำบัด ยังไม่สมบูรณ์ หวั่นกระทบสุขภาพ ปชช.
เเพทย์จุฬาโต้ สธ.อ้างเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยเซลล์บำบัด ที่กำลังจะเสนอเข้า ครม.เผยประชุมแค่ 2 ครั้ง เสนอให้ส่งแพทยสภาพิจารณาเนื้อหาใหม่ให้รอบคอบ หวั่นผลกระทบเสี่ยงต่อสุขภาพ ปชช.
จากกรณี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอรวมร่างกฎหมาย ระหว่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เซลล์ทางการแพทย์ ของ สบส. และ ร่าง พ.ร.บ. เซลล์บำบัด พ.ศ. ...ของแพทยสภาให้รัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอเข้า ครม. ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยอ้างแพทยสภาและ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยนั้น
ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับ สบส. กล่าวว่า ได้รับเชิญเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่เห็นว่า การประชุมรวมร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น มีขั้นตอนการปฏิบัติแก้ไขร่างกฎหมายไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเชิญประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ไม่ใช่กรรมการยกร่างหรือแก้ไขร่างกฎหมาย
นอกจากนี้ การประชุมมีเพียง 2 ครั้ง ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากภายนอกกรม สบส. เพียง 1-2 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านได้เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว ทำให้ไม่มีใครได้รับข้อมูลการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยเซลล์บำบัด อย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็นด้วยกับการประกาศของ สบส. ว่าที่ประชุมเห็นชอบในการร่าง พ.ร.บ. เซลล์บำบัด เพราะการนำผลประชุม 2 ครั้งดังกล่าวมาสรุปร่างฯ นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ส่วนการที่ สบส. อ้างว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาใกล้เคียงสอดคล้องกัน ผศ.นพ.ถนอม ระบุว่า ไม่เป็นความจริง เพราะร่างฯ ของแพทยสภายึดหลักการสากลคือ ใช้ระดับความอันตรายที่เสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นตัวกำหนดระดับความเข้มงวดในการควบคุม ส่วนร่างฯ ของ สบส. ใช้หลักการควบคุมสถานพยาบาลมาใช้ควบคุมแพทย์ด้วยวิธีขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์ทั้งประเทศอย่างมาก ฉะนั้นการรวมร่างกฎหมายไม่ใช่แค่การนำเอามาตราต่าง ๆ มารวมกัน แต่ต้องอาศัยการยึดหลักทางวิชาการ ทำให้มาตราต่าง ๆ สอดคล้องกันไปอย่างเป็นระบบ
สบส. จึงควรส่งเรื่องให้แพทยสภาในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.บ. เซลล์บำบัด เป็นผู้ดำเนินการให้คณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. เซลล์บำบัด แพทยสภา พิจารณาหลักวิชาการแพทย์โดยรอบคอบอีกครั้ง เพราะคณะอนุกรรมการยกร่างฯ ของแพทยสภาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวนมากและเป็นเจ้าของร่างฯ จึงเชี่ยวชาญระบบควบคุมสเต็มเซลล์สากลทำให้สามารถกลั่นกรองข้อมูลทางวิชาการร่างกฎหมายได้อย่างรอบคอบ .