นักวิชาการ-NGOปลุกชุมชนคุมสื่อพลเมือง-จี้รัฐเร่งแก้เหลื่อมล้ำ
นักวิชาการ เอ็นจีโอสื่อทางเลือกปลุกกระแสชุมชนเป็นเจ้าของสื่อภาคพลเมืองใช้เป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิตามรธน.-ดันตั้งศาลสวล. ขณะที่กรรมการมสช.ชี้ความเหลื่อมล้ำเป็นมะเร็งร้ายสังคมจี้รัฐเร่งกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
สืบเนื่องจากการเปิดเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน มีการนำเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน การเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านกว่า 200 คน นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึง “บทบาทพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” จากนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม นักกฎหมาย และตัวแทนสื่อพลเมือง รวมทั้งการปาฐกถาพิเศษจากกรรมการมสช.
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันพบการบุกรุกพื้นที่เพื่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศไทย เช่น โรงงานไฟฟ้านิคมอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร ส่งผลเกิดปัญหาทางโครงสร้าง โดยเฉพาะการรุกล้ำอำนาจสิทธิชุมชน
“มหาอุทกภัยที่ผ่านมาเห็นได้ชัดถึงการอำนาจทางนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมคนในท้องถิ่น ส่งผลให้ปัญหาร้ายแรงจนยากแก้ไข เนื่องจากมติที่คลอดออกมานั้น ล้วนแต่เป็นหลักการที่เกิดจากการเจรจาต่อรองของผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น โดยลืมคำนึงถึงหลักความเป็นจริงของบริบทพื้นที่แต่ละโซน”
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ชุมชนควรเรียนรู้ถึงสิทธิพึงมี ซึ่งต้องปลุกให้ตื่นตัวด้วยการใช้สื่อพลเมืองเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างเครือข่าย ตลอดจนร่วมมือกับสื่อกระแสหลักในการชูประเด็นให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น กรณีสวนส้มโอ จ.นครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการปฏิรูปกลไกทางรัฐธรรมนูญให้เกิดความยุติธรรมในระดับชุมชนด้วย
อานนท์ มีศรี ตัวแทนสื่อพลเมือง กล่าวว่า ชุมชนควรจัดตั้งสื่อภาคพลเมืองอย่างจริงจัง เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข่าวสารระหว่างกันด้วยระบบโซเซียลมีเดีย โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการผลิตเหมือนสื่อหลักทั่วไป
“เมื่อเราจัดการสื่อภาคพลเมืองได้ด้วยตนเอง โดยตอบสนองความต้องการของชุมชนแล้ว ไม่ต้องกังวลเลยว่าสื่อหลักจะทอดทิ้งเรา เพราะข่าวที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนมาจากสื่อภาคพลเมืองทั้งสิ้น เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับชุมชนดังนั้นไม่มีประเด็นที่เผยแพร่ออกไปแล้วส่งกระทบร้ายแรงต่อประเทศชาติแน่นอน” ตัวแทนสื่อพลเมือง กล่าว
จินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ที่ถูกศาลสั่งจำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาจากผลพวงของการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือผลักดันให้มีศาลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการยุติธรรมที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับคดีที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านต้องต่อสู้ในชั้นคดีอาญาด้วยในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งกระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่มีกระบวนการที่ชัดเจน
สุทธิชัย อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์แต่ละปัญหาของพื้นที่ เป็นการปลุกพลังสร้างเครือข่าย การต่อสู้ภาคประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ การเชื่อมร้อยกันจะทำให้เกิดการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม ในอนาคตรูปแบบการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะมีการปรับเปลี่ยนภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การวางจังหวะก้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตาม นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวในปาฐกถาพิเศษถึงพลังพลเมืองทางรอดของประเทศว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เพราะความเหลื่อมล้ำนำมาสู่ปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่เกี่ยวกับสุขภาวะทุกภาคส่วน การกระจายอำนาจยังไม่เป็นจริงเพราะประเทศไทยที่อ้างตัวเป็นประชาธิปไตยแต่มีการรวมศูนย์อำนาจ ทั้งๆที่กฎหมายระบุให้มีการกระจายอำนาจ 35 เปอร์เซ็นต์แต่ไทยทำได้แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ร่วมมือกับชุมชนสร้างความเข้มแข็งมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ขณะที่การจัดสรรงบประมาณก็ไม่เป็นธรรม
“มีความพยายามจะมีการทดลองการจัดสรรงบ อย่าเอากรมหรือรัฐบาลเป็นตัวตั้ง ให้เอารายได้เฉลี่ยเป็นตัวตั้ง จังหวัดไหนมีรายน้อยก็ให้มาก เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นหากยึดหลักตรงนี้แน่นอนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะต้องได้งบประมาณมากกว่าภูเก็ตหรือกรุงเทพฯ ซึ่งการทดลองประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำแผนตำบล หมู่บ้าน ระดับจังหวัด”
กรรมการมสช. กล่าวอีกว่า ทางออกองค์กรชาวบ้านต้องสร้างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสร้างคลังความรู้ให้ครบถ้วนเพื่อตอบคำถามสังคมในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น รวมทั้งขยายเครือข่ายให้หลากหลาย เชื่อมร้อยทั้งเครือข่ายนักกฎหมาย เครือข่ายสื่อ หรือชุมชนลุกขึ้นมาทำสื่อของตัวเอง เครือข่ายท้องถิ่น สภาผู้นำ สภาองค์กรชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น กลุ่มกรีนพีช
................................