'สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' ชี้ช่องโหว่ กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่
หมายเหตุ:เรียบเรียงจากถ้อยคำบางช่วงบางตอนของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ กับการปฏิรูประบบวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมไทย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ณ โรงเเรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในอนาคตข้างหน้า
‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ กับการปฏิรูประบบวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมไทย” โดยเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเวทีประชุมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หัวข้อ NBTC Policy Watch: 5 ปี กสทช. กับอนาคตการสื่อสารไทย จัดโดย โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ยังมีช่องโหว่
พร้อมกับแสดงความกังวลของการได้มาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดให้มี 7 คน
ดร.สมเกียรติ พบว่า กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ มีเนื้อหาปิดกั้นอยู่ในหลายประการ อาทิ อายุ ตำแหน่ง หน้าที่ ของผู้สมควรได้รับการสรรหา และอาจไม่มีผู้แทนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็น 1 ใน 7 ของ กสทช.ได้
(อ่านประกอบ:ทีดีอาร์ไอหวั่น ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปิดช่องผู้แทนผู้บริโภคนั่ง กสทช.)
นอกเหนือจากนั้น ยังมีเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่รู้สึกผิดหวังและมีการถกเถียงเรื่อย ๆ หนีไม่พ้นประเด็น ‘มรดกทางประวัติศาสตร์’ ของกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ปธ.ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัจจุบันส่วนที่เหลือเป็นมรดกอยู่ คือ หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจถือครองคลื่นความถี่ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดว่า การจะให้หน่วยงานภาครัฐใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้หรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบความจำเป็นในการใช้
“ไทยพีบีเอส กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ต้องให้บริการกิจการโทรทัศน์ นั่นแสดงว่า มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ แต่รัฐวิสาหกิจจำนวนมากไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้ทำ ดังนั้น หากจะทำต้องพิสูจน์ความจำเป็น เมื่อไม่พบต้องถูกเรียกคืนคลื่น”
ดร.สมเกียรติ มองว่า การทำหน้าที่ของ กสทช.ชุดปัจจุบัน ในการเร่งตรวจสอบความจำเป็นใช้คลื่นความถี่ล่าช้ามาก ทั้งที่ดำรงตำแหน่งใกล้ครบวาระแล้ว ยกเว้น ‘การจัดทำรายงานทรัพยากรคลื่นความถี่ในประเทศไทย’ ซึ่งเขาขอชื่นชม เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยมีเนื้อหาแยกชัดเจนเกี่ยวกับประเภทคลื่นความถี่ และประเภทการให้บริการ
แม้จะขาดสาระสำคัญ คือ ไม่ระบุใครเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่!!!
ปธ.ทีดีอาร์ไอ ยังระบุว่า หาก กสทช.เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ถือครองคลื่นความถี่เข้าไปด้วยจะเป็นเครื่องมือให้สาธารณชนตรวจสอบการใช้ทรัพยากรสาธารณะได้
ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ. จะมีเนื้อหาในเรื่องดังกล่าว ต้องผลักดันให้ กสทช.ทำเรื่องนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว แต่กลับกลายว่า ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้การเรียกคืนคลื่นความถี่ จะมีวิธีนำเงินของรัฐไปชดใช้ได้
เหตุการณ์เช่นนี้เขาหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่อีกใจเกรงว่าจะเกิดขึ้น
“กรณีที่มีหน่วยงานรัฐถือครองคลื่นความถี่โดยไม่จำเป็น เมื่อ กสทช.จะเรียกคืนคลื่นความถี่นั้น จะต้องนำเงินไปจ่ายให้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น”
การประมูลคลื่น 3G และ 4G และประมูลทีวีดิจิทัล อีกหนึ่งมรดกที่ตกทอด ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นว่า ราคาการประมูลไม่มีผลต่อผู้บริโภค แม้มีการประมูลคลื่น 3G ในราคาถูก แต่ผู้บริโภคยังจ่ายแพง ขณะที่คลื่น 4G มีการประมูลแพง ผู้บริโภคกลับจ่ายถูก
ขณะที่การประมูลทีวีดิจิทัลไม่ช่วยให้ค่าโฆษณาขยับราคาสูง ปธ.ทีดีอาร์ไอ ยืนยัน พร้อมกับเห็นว่า การคิดค่าบริการโทรตามจริงเป็นวินาที ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง รวมถึงยังไม่จัดสรรคลื่นความถี่สำหรับบริการวิทยุโทรทัศน์ชุมชนอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ ดูเหมือนผู้ร่าง พ.ร.บ.ไม่สนใจ
ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ. นี้ ผ่านการพิจารณาของ สนช.อย่างรวดเร็วจะเกิดความเสียหายอย่างน้อย 5 ประการ กล่าวคือ
1.มรดกเก่าจะไม่ถูกแก้ไข เช่น จะไม่มีการเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานราชการที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้ หรือเรียกคืนคลื่นความถี่กลับมาได้ จะต้องนำเงินไปจ่ายให้หน่วยราชการนั้น
2.การแข่งขันไม่เป็นธรรมจะคงอยู่ต่อไป และจะเพิ่มมากขึ้น เพราะอนาคตอาจจะไม่มีการประมูล แต่ใช้กระบวนการคัดเลือก เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ
3.เสรีภาพของสื่อมวลชนเละประชาชนจะถูกลิดรอน แม้ร่าง พ.ร.บ.ไม่ระบุชัดเจน แต่หากได้บุคคลจากหน่วยงานราชการ ที่ไม่มีประวัติการคุ้มครองเสรีภาพประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง อาจก่อให้เกิดการควบคุมสื่อมวลชนเข้มงวดขึ้น มองมิติเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิเสรีภาพ และเห็นความสำคัญของผู้บริโภคน้อยกว่าผู้ประกอบการ
4.หากจะมีเหตุผลในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลเป็นอันดับ 1 แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ได้รับการปรับปรุงน้อยเกินไป
5.หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบและภาคตุลาการ ซึ่งควรได้รับความน่าเชื่อถือสูง กลับถูกดึงเข้าไปอยู่ในวงการที่มีผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และเสี่ยงให้เกิดการวิ่งเต้นในกระบวนการสรรหาต่าง ๆ
ดร.สมเกียรติ หวังด้วยว่า ความเสี่ยงที่เกิดความเสียหายทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น หาก สนช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องมีผู้แทนผู้บริโภค และหน่วยงานรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ในสัดส่วนสูงขึ้น รวมถึงจากนักธุรกิจขนาดเล็ก ไม่เฉพาะนักธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น โดยให้ลดผู้แทนภาคราชการหรือความมั่นคงลง และเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ ทีดีอาร์ไอ