16 ข้อ การชี้แจงตัวแทน รบ.ไทยเรื่องศาลทหารไม่ตรงความเป็นจริง
ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน
ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodical Review หรือ UPR) ครั้งที่ 2 ที่นครเจนีวาวานนี้ (11 พ.ค.59) ประเด็นสิทธิมนุษยชนหนึ่งซึ่งหลายประเทศได้แสดงความกังวลและสนใจตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย คือการนำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ขณะที่ทางรัฐบาลไทยเองก็ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาลทหารโดยตรง ได้แก่ พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ หัวหน้าตรวจและร่างกฎหมาย กรมพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมคณะผู้แทนรัฐบาลไปชี้แจงต่อที่ประชุม
พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมระบุว่า ศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาในความผิดร้ายแรง จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน
พันโทเสนีย์ ยังระบุว่า ศาลทหารมีการรับประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยโดยตุลาการที่เป็นอิสระ จำเลยจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนายความ ทั้งจำเลยยังมีสิทธิในการขอประกันตัว และการพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวเป็นไปตามหลักการเดียวกับศาลพลเรือน การพิจารณาคดียังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับฟังได้ ไม่เพียงญาติของจำเลย หากยังรวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมและสิทธิมนุษยชน
แต่จากการติดตามการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ข้อชี้แจงดังกล่าว ต่อนานาชาติไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หากแต่มีความแตกต่างอย่างมากและชัดเจนระหว่างการดำเนินคดีในศาลทหารกับศาลพลเรือนในหลายประเด็น ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยที่เป็นพลเรือน โดยสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในศาลทหารจำนวนมาก ไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรง คดีพลเรือนหลายคดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลทหาร ในสังคมปกติ แทบไม่ถือว่าเป็นความผิดใดๆ และล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น คดีกินแม็คโดนัลด์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร หรือคดีถ่ายรูปกับขันแดง เป็นต้น
2. คดีอาวุธจำนวนมากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่ได้มีความร้ายแรง โดยศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่าคดีพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับอาวุธซึ่งถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารหลายคดี จำเลยเป็นชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจับกุมจากการครอบครองอาวุธปืนแก๊ปซึ่งไม่มีทะเบียน หรือไม่ได้ส่งมอบต่อเจ้าพนักงานตามคำสั่งของคสช. ส่วนใหญ่พกพาไว้ล่าสัตว์หรือดูแลไร่นาตามวิถีชีวิตปกติ บางรายครอบครองเพียง 1 กระบอก หรือบางกรณีก็เป็นอาวุธปืนโบราณที่ไม่มีทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องทางการเมืองหรือความรุนแรงใดๆ
3. ตุลาการศาลทหารขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดี ตุลาการศาลทหารสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้บังคับบัญชาทหารสามารถแต่งตั้งตุลาการศาลทหารได้ ทำให้ตุลาการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามระบบทหาร แตกต่างจากศาลยุติธรรม ศูนย์ทนายสิทธิฯ ยังพบข้อเท็จจริงว่าตุลาการที่เป็นองค์คณะบางคดีได้มีการโทรศัพท์สอบถามหน่วยงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชา ก่อนจะแจ้งผลการใช้ดุลยพินิจต่อจำเลย ชี้ให้เห็นความไม่เป็นอิสระในการพิจารณาคดี
4. องค์คณะตุลาการในศาลทหาร ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายทั้งหมด โดยในศาลทหาร นอกจากตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายแล้ว ตุลาการที่ร่วมเป็นองค์คณะที่เหลือเป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ของศาลทหารนั้น ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด
5. บุคลากรในศาลทหารไม่พอเพียงต่อการพิจารณาคดีจำนวนมาก ศาลทหารในต่างจังหวัด มีตุลาการศาลทหารราว 30 คนเศษ ใช้ระบบเวียนไปตามศาลต่างๆ ในแต่ละช่วงเดือน โดยศาลมณฑลทหารบกที่เปิดทำการมีทั้งหมด 29 ศาล แต่ละศาลมีอัยการทหารประจำอยู่เฉลี่ยศาลละ 1 นาย และเจ้าหน้าที่ธุรการศาล 2-3 นาย เจ้าหน้าที่ศาลเองยังต้องทำหน้าที่เป็นหน้าบัลลังก์ในระหว่างการพิจารณาด้วย ทำให้จำนวนบุคลากรในศาลทหารไม่สามารถรองรับคดีพลเรือนจำนวนหลายพันคดีได้ ส่งผลถึงการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า
6. เจ้าหน้าที่จากต่างประเทศไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์พิจารณาคดีในศาลทหารต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ ไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในศาลทหารต่างจังหวัดได้ เนื่องจากศาลทหารตั้งอยู่ในเขตของค่ายทหาร ซึ่งมีการระบุว่าเป็นพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและเกี่ยวข้องกับความลับราชการ จึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในค่ายทหาร
7. ก่อนหน้าการยกเลิกกฎอัยการศึก คดีในศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ คดีที่ขึ้นสู่ศาลทหารตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.57- 1 เม.ย.58 ที่เป็นวันยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้ อันขัดต่อหลักของนิติรัฐ ขัดต่อสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป และแม้จะเป็นคดีที่มีความ “ร้ายแรง” ยิ่งโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกายิ่งส่งผลต่อการได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลยมากยิ่งขึ้น
8. ศาลทหารไม่มีระบบทนายความขอแรง ในศาลพลเรือนจะมีระบบทนายความที่รัฐจัดหาให้กับจำเลยที่ไม่มีทนายและประสงค์จะมีทนาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และทนายเหล่านี้จะนั่งประจำอยู่ที่ศาล แต่ในศาลทหารไม่ได้มีระบบใดๆ เพื่อรองรับการเข้าถึงสิทธิในการมีทนายความของผู้ต้องหา ในคดีผู้ยากไร้ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนหลายคดี ศาลก็ไม่ได้มีการจัดหาทนายความมาให้ หรือบางกรณี เจ้าหน้าที่ศาลก็มีการประสานขอให้ทนายที่รู้จักกันเข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป โดยไม่มีระบบรองรับ
9. รูปแบบวันนัดสืบพยานของศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า ศาลทหารใช้ระบบการนัดสืบพยานแบบสองหรือสามเดือนต่อหนึ่งนัด และยังนัดสืบเพียงช่วงครึ่งเช้า ทำให้แต่ละนัด สืบพยานได้เพียงหนึ่งหรือสองปาก หรือพยานบางปากที่มีรายละเอียดมากก็ใช้เวลาหลายนัดในการนำสืบ รวมทั้งมีการเลื่อนนัดบ่อยครั้ง ทำให้กระบวนการสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ต่อเนื่อง แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่การกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน คดีที่มีต่อสู้คดีในศาลทหารจึงใช้ระยะเวลามากกว่าศาลพลเรือนหลายเท่า
10. ความล่าช้าของกระบวนการในศาลทหาร บีบบังคับให้จำเลยบางรายยอมรับสารภาพ โดยเฉพาะจำเลยในคดีที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ต้องต่อสู้คดีขณะถูกคุมขัง จนต้องตัดสินใจกลับคำให้การยอมรับสารภาพตามข้อหา (ตัวอย่างลักษณะนี้ เช่น คดีสมัคร ตามมาตรา 112) ความล่าช้าในการพิจารณาคดีของศาลทหารจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม
11. ศาลทหารมีการกำหนดอัตราโทษที่สูงกว่าศาลพลเรือนโดยทั่วไป เช่น ในคดีมาตรา 112 ศาลทหารได้มีการกำหนดอัตราโทษใหม่ ที่กรรรมละ 8-10 ปี ทั้งที่หลายปีก่อนหน้านี้ ศาลพลเรือนพิพากษาโทษเฉลี่ยกรรมละ 5 ปี ทำให้ในคดีที่มีการฟ้องร้องหลายกรรม เกิดการลงโทษที่หนักหน่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อน หรือในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง/ประกาศ คสช. ศาลทหารลงโทษปรับ 10,000 บาท เมื่อรับสารภาพลดเหลือ 5,000 บาท แต่ความผิดในลักษณะเดียวกันในศาลพลเรือน เช่น คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับ 500 บาท
12. ศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่ศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะข้อเท็จจริงในคดี ภูมิหลัง ความประพฤติ และความเป็นอยู่ของจำเลย ทำเป็นรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละราย เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาของศาลได้ แต่ศาลทหารกลับระบุว่าไม่สามารถสั่งให้กรมคุมประพฤติ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการสืบเสาะได้ ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างเกี่ยวกับตัวจำเลยไม่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดุลยพินิจ เช่น คดีที่จำเลยมีอาการทางจิต ข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับไม่ถูกศาลนำมาประกอบการกำหนดโทษ
13. ศาลทหารไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี โดยในบางคดี ตุลาการศาลทหารมีการระบุว่าได้อ่านกระบวนพิจารณาให้คู่ความฟังแล้วในห้องพิจารณา ไม่จำเป็นต้องคัดถ่ายอีก แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่คู่ความสามารถคัดถ่ายและเข้าถึงรายงานกระบวนพิจารณาในศาลได้
14. รูปแบบหลักทรัพย์ในการประกันตัว ศาลทหารห้ามใช้บุคคลและตำแหน่งบุคคลในการขอประกันตัว และไม่สามารถใช้กรมธรรม์ซื้อประกันไม่ได้ ทั้งหลักเกณฑ์เงินประกันก็ไม่แน่นอน แตกต่างจากหลักทรัพย์ในศาลพลเรือน ที่กำหนดหลักทรัพย์หลากหลายกว่าในการขอประกันตัว
15. ศาลทหารยังมีการใช้ระบบจดคำเบิกความด้วยมือ หรือการบอกหน้าบัลลังก์พิมพ์ตาม ไม่ได้มีการใช้เครื่องมือบันทึกเสียงคำเบิกความเหมือนกับศาลพลเรือน ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากต้องหยุดรอให้ศาลจดกระบวนพิจารณาก่อนเป็นระยะ
16. การนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปเรือนจำขณะรอประกันตัว ศาลทหารมีการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายราย รวมทั้งผู้ต้องหาชาย จากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำ แตกต่างจากศาลพลเรือน ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในระหว่างทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ถ้อยแถลง รบ.ไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพกและศาลทหาร ในเวทีสิทธิมนุษยชนโลก)
อ่านเพิ่มเติม
รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557: กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/06/04/1yraftercoup/
“ชะตากรรม” พลเรือนในศาลทหารต่างจังหวัด: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/06/21/militarycourt_province/
เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/11/13/static-case-in-military-court/
เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/12/upr_thaistatement/