2 นักวิชาการกับความเห็น หลังภาครัฐสั่งปิดฉากทำเหมืองทองในไทย
“การลงทุนอะไรที่กระทบสิ่งแวดล้อม นักลงทุนเข้าใจ ไม่ต้องเป็นกังวลแต่ถ้าเราเจอนักลงทุนประเภทที่จะเอาประโยชน์ข้างเดียว ก็ปล่อยไปเถอะ”
ความขัดแย้งระหว่างเหมืองทองกับคนในชุมชนเกิดขึ้นมานาน และแล้วคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ก็เห็นชอบตามมติร่วม 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ยุติใบอนุญาตการทำเหมืองทองคำ ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และมีมติให้ยุติการอนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้อัคราฯ ในฐานะผู้ประกอบการเหมืองทองคำชาตรีต้องเตรียมยกเลิกประกอบกิจการ โดยจะต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมภายในสิ้นปี (อ่านประกอบ:แจงให้ชัดอีกรอบ! เหตุผล กพร.ยุติสัมปทาน ‘เหมืองทอง’ สกัด อัคราฯ ดิ้นสู้)
จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยมากมายว่า การที่ ครม. มีมติให้ยุติกิจการเหมืองแร่นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่ ในมุมมองจากฝั่งนักจัดการความขัดแย้ง และนักเศรษฐศาสตร์ มีความเห็นสอดคล้องกัน ดังนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า คำสั่งปิดฉากการทำเหมืองทองในไทยทุกกรณีภายในสิ้นปีนี้นั้น ที่ผ่านมาเหมืองทองกับภาคประชาชนก็สู้กันมาเป็นสิบปี ซึ่งต้องยกนิ้วให้เลยที่กล้าตัดสินใจในวันนี้
และเมื่อถามถึงเรื่องการกระทบต่อภาพลักษณ์กับการลงทุนจากต่างประเทศ รศ.ดร.นวลน้อย ระบุชัดว่า ปัจจุบันการลงทุนอะไรที่กระทบสิ่งแวดล้อม นักลงทุนเข้าใจ ดังนั้นไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าประเทศไทยเจอนักลงทุนประเภทที่จะเอาประโยชน์แต่ข้างเดียว ก็ควรปล่อยไป พร้อมกับเชื่อว่า นักลงทุนในปัจจุบันเป็นนักลงทุนที่ดี และมีความเข้าใจเรื่องนี้อยู่มาก
“เราก็เห็นอยู่แล้วกรณีเหมืองทอง ปีหนึ่งๆ ประเทศมีรายได้จากภาคหลวงนิดเดียวเอง ไม่คุ้ม สองปี 200 กว่าล้านบาท กับการที่ต้องเอาชีวิต สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้คนไปขาย เชื่อเถอะไม่คุ้มกันหรอก”
พร้อมกัน รศ.ดร.นวลน้อย ยังเชื่อว่า สาเหตุที่รัฐบาลตัดสินใจเกิดมาจากการตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่และพบว่าทุกคนมีสารโลหะหนัก จำนวนอัตราที่พบว่า คนมีโลหะหนักสูงมาก ถ้ารัฐบาลใช้เรื่องนี้มายกเลิก ก็คิดว่ามีเหตุมีผล และการอ้างเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีน้ำหนักมากในเวทีโลกปัจจุบัน
“ คุณไม่สามารถลงทุนเพื่อสร้างความร่ำรวยบนชีวิตของคนอื่น และก็ไม่สนใจด้วย พวกนักลงทุนที่คิดแค่นี้ ” รศ.ดร. นวลน้อย ย้ำ ก่อนปิดท้าย “เราไม่ต้องการนักลงทุนประเภทนั้น”
ในขณะที่ศาตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะถึงการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ว่า การประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต้องมีการสร้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“โจทย์สำคัญไม่ใช่แค่การเปิดเหมืองต่อไป ดีแน่นอน หรือปิดเหมืองโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรต่อ การลงทุนทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นการลงทุนที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่างและการลงทุนเหล่านี้ต้องการการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขาภิบาล และผลประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมถึงประโยชน์ต่อสาธารณะหลายด้านมาก”
ศ.สุริชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เชื่อมโยงถึงการสร้างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ที่เป็นอยู่มีสถานการณ์ฟ้องความจริงว่า เราไม่ได้ดูมิติความมั่นคงทางสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น
“ กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะดูแลแต่พวกเดียวกันไม่ได้ และประเทศไทยต้องมีการบูรณาการทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และโอกาสของการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือต้องฟื้นฟูความไว้วางใจในอนาคตร่วมกัน”