“ศรีสุวรรณ” ยื่นศาลปกครองฟ้อง 11 หน่วยงานรัฐ บริหารน้ำล้มเหลว
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน คาดศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีภายใน 3-6 เดือน เรียกค่าเสียหาย ตั้งแต่หลักแสน ยัน 3 ล้าน ด้านบริษัท-หจก. ยื่นเต็มที่ 98 ล้านบาท/แห่ง ยันหลังปีใหม่มีฟ้องล็อต 2
วันที่ 21 ธันวาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อม ด้วยประชาชนผู้ร่วมฟ้องคดี 352 คน เข้ายื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากความผิดพลาดล้มเหลวในการป้องกัน แก้ไขปัญหาน้ำท่วม
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประเด็นในการยื่นฟ้องเกิดจากความล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง หมดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่มีวิกฤติการณ์น้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา เราพบว่าหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเว้นเพิกเฉย หรือกาบริหารจัดการน้ำท่วมผิดพลาดมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายจังหวัด
“สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้รับการร้องเรียนจากประชาชน จึงต้องทำหน้าที่เรียกร้องหาความยุติธรรมให้ประชาชน โดยได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้าน 352 รายมายื่นเป็นเบื้องต้นก่อน หลังจากนี้จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก ปัญหาน้ำท่วมต่อ และรวบรวมหนังสือมอบอำนาจ รวมทั้งหลักฐานทางคดีมายื่นกับศาลปกครองในรอบต่อไปหลังปีใหม่”
นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงประเด็นสำคัญ คือ ความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับกฎหมายเพิ่มเติมหลายฉบับ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครองปี 2542 มาตรา 9 อนุมาตรา 1-3 ซึ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหน่วยงานของรัฐกระทำการหรือละเว้นการกระทำการ หรือแม้แต่กระทำการล่าช้าเกินสมควร รวมทั้งกระทำการอันเป็นการละเมิด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในมาตรา 43 ผู้ใดใช้อำนาจทางปกครองหรือสั่งการและก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายต่อประชาชนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในการใช้คำสั่งนั้น
“แม้ว่าประชาชนจะเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยหรือเยียวยาใน ความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามจำนวนที่เป็นค่าเสียหายจริง แต่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ปฏิเสธ ดังนั้นประชาชนจึงต้องมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของผู้ฟ้องร้องแต่ละราย”
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า คำขอท้ายฟ้องได้กำหนดไว้ 3 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดร่วมกันชดเชย หรือชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องร้องคดีเป็นรายบุคคลตามจริง 2.ให้ศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานผู้ถูกฟ้องร้องทั้งหมดจัดทำแผนหรือมาตรการ หรือแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในอนาคตว่าจะไม่มีการบริหารจัดการที่ล้ม เหลว 3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้ง กองทุนดูแลผู้ประสบภัย เพื่อไว้ชดเชยเยียวยาในอนาคตต่อไป
“ศาลอาญาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้มีการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดว่าจะเร่งรัด ขบวนการในการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น เชื่อว่าคดีนี้เป็นคดีสาธารณะที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้น ตุลาการหรือองค์คณะของตุลาการศาลปกครองก็จะน่าจะเร่งรัดการพิจารณาคดีให้มี ผลหรือคำสั่งออกมาภายในระยะเวลาเพียง 3-6 เดือน”
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวด้วยว่า การยื่นฟ้องร้องในครั้งนี้ได้ยื่นฟ้อง 11 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี 2.ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) 3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 5.อธิบดีกรมชลประทาน 6.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 7.อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ 8.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 9.อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 10.ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ 11.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ค่าเสียหายทั้งหมดที่ประชาชนยื่นคำร้องเข้ามามีความแตกต่างกันมาก เริ่มตั้งแต่หลักแสนเป็นต้นไป สูงสุดในส่วนของประชาชนประมาณ 3 ล้านบาท แต่ก็มีในนามบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วน จำกัด ที่เรียกค่าเสียหายสูงสุดประมาณ 98 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่แยกได้ 3 ประเด็น คือ ความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน ความเสียหายทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ และความเสียหายด้านการเสียโอกาสและตกงาน”
ขณะที่นางวรรณี ประชาชนผู้ร่วมฟ้องร้อง จากหมู่บ้านดิเอเมอรัล พาร์ค 2 อ.บางบัวทอง ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ความเดือดร้อนเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วม หากตีเป็นมูลค่าจริงๆ มากกว่า 3 แสนบาท เพราะบ้านร้าวและทรุด อีกทั้งข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่างพังเสียหาย แต่ตนยื่นฟ้องไป 1.5 แสนบาท
“ที่บ้านท่วมหนักที่สุดประมาณเดือนครึ่ง แต่ภายหลังที่มีผู้เดือดร้อนที่ จ.นนทบุรีไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสั่งให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ เปิดประตูระบายน้ำ จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็แห้งสนิทเลย เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้แน่ใจว่า ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ เป็นที่การบริหารจัดการของรัฐบาล ที่เลือกให้เราเป็นแหล่งรับน้ำ ทำให้เราถูกน้ำท่วม ทั้งๆ ที่เราเป็นที่ดอน ความคาดหวังหลังจากนี้ก็อยากให้ศาลปกครองกรุณา ว่าประเทศไทยน่าจะหลงเลือกความยุติธรรมให้กับคนไทยที่เดือดร้อนและเสียหาย บ้าง”
ด้านนางกัลยาณี ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนใน อ.อุทัย เขตอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบอาชีพค้าขาย กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและต้องท่วมซ้ำซ้อนภายหลังที่มีการสูบน้ำออก เพื่อช่วยเหลือเขตอุตสาหกรรมโรจนะ น้ำก็มาท่วมหนักที่ประชาชนบริเวณโดยรอบนั้นหนักกว่าเดิม มาจนวันนี้กินเวลา 2 เดือนกว่าแล้ว ที่ท่วมเห็นได้ชัด คือ น้ำทุ่งในท้องนา ทำให้ชาวนายังไม่สามารถทำนาได้
“ความช่วยเหลือ ถ้าเป็นฝ่ายสีแดง ต้องเอาธงแดงมาปักหน้าบ้านจึงจะได้รับของแจก แม้กระทั่งหน่วยราชการที่จะเอาของมาแจก ต้องเข้าแถวแล้วบอกว่า เป็นสีแดงจึงจะรอรับของได้ แต่ก็พอมีหน่วยงานฝ่ายอื่นเข้ามาช่วยเหลือจึงพอได้รับของบ้าง ความเสียหายไม่รู้จะประเมินอย่างไร เพราะเสียหายไปทุกอย่าง เราก็ระบุค่าเสียหายไป 1.2 แสน ซึ่งจะได้เงินหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลควรต้องได้รับรู้ว่าประชาชนไม่ไหวแล้ว เราคาดหวังให้รัฐบาลสำนึกผิดหรือให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ตัวอย่าง ให้รู้ว่าการจะเข้ามาบริหารประเทศแล้วทำผิดพลาด ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้”