เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.
สตง.ยันงานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. กรมทรัพยากรน้ำ พิรุธเพียบ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบเร่งรีบดำเนินการ จัดกลุ่มผู้รับเหมาแบ่งเค้ก เปิดช่องตกลงงานก่อนลงนามทำสัญญา- ร่อนหนังสือจี้ รมว.ทส. ทบทวน พร้อมสอบข้อเท็จจริงด่วน
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ว่า โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการกระจายงานออกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กำลังถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบ ภายหลังปรากฎข้อมูลว่า การดำเนินงานโครงการมีลักษณะเร่งรีบมากเกินไป ขณะที่รายชื่อผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานในแต่ละจังหวัดก็มีไม่กี่ราย บางรายได้รับงานไปมากถึงกว่า 10 สัญญา
(อ่านประกอบ : งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา)
แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้จริง โดยล่าสุดได้ทำหนังสือแจ้งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทบทวนการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมรัดกุม และรักษาผลประโยชน์ราชการ มิให้เสี่ยงต่อความเสียหาย รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในขั้นตอนการดำเนินงานด้วย
แหล่งข่าวจาก สตง. ระบุว่า สำหรับผลการตรวจสอบเบื้องต้น สตง.พบว่า โครงการนี้มีการเร่งรีบจัดทำในช่วงระยะเวลาอันสั้น ภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.59) โดยมีการอ้างคำขอสนับสนุนจาก อปท.เพื่อเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม ขณะที่แบบและรายละเอียดประกอบการจัดซื้อไม่มีความพร้อมทำให้ เป็นช่องทางให้มีการตกลงเงื่อนไขกับผู้รับเหมาไปก่อนแล้วใช้วิธีการออกแบบและลงนามในสัญญาตามหลัง
"จากการตรวจสอบพบว่า แต่ละพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน มีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่มเข้ามารับงาน ทำให้ผู้รับเหมาบางรายได้รับงานมากเป็นจำนวนมาก และทำสัญญาในวันเดียวกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่การขอสนับสนุนจาก อปท. ก็อาจไม่ผ่านขั้นตอนการ กลั่นกรองโครงการโดยประชาคม ทำให้ไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและนำมาซึ่งการต่อต้านในภายหลังด้วย" แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
รายงานจาก สตง. แจ้งว่า สำหรับจังหวัด ที่สตง. เข้าไปตรวจสอบและได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้วในขณะนี้ คือ นครราชสีมา และพิษณุโลก